'กรมลดโลกร้อน' จับมือ 'ยูนิเซฟ' เปิดตัวคู่มือครู สอน Climate Change
"กรมลดโลกร้อน" จับมือ"ยูนิเซฟ" เปิดตัวคู่มือครู สอน Climate Change ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้สิ่งแวดล้อมชุมชนเป็นฐาน เน้นลงมือปฏิบัติ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ พร้อมสนับสนุนทุกภาคี สร้างความตระหนักสู่การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วันนี้ (27 ส.ค. 2567) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เปิดตัว "คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ : Active Learning on Biodiversity and Climate change" เป็นคู่มือครู เรียนรู้ Climate Change ไปพร้อมกับเด็กๆ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้สิ่งแวดล้อมชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ เน้นลงมือปฏิบัติจริง สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทโรงเรียนในท้องถิ่น เพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในอนาคต พร้อมทั้งมีการเสวนา หัวข้อ "คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา : เครื่องมือเสริมพลังการเรียนรู้ สร้างความตระหนักและจิตสำนึก สู่การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า บทบาทภารกิจของกรม สส.คือการขับเคลื่อนประเทศตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ทั้ง Mitigation และ Adaptation ในมิติต่าง ๆ ที่ครอบคลุมในทุกระดับตั้งแต่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การเกษตร และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
โดยสอดคล้องกับการดำเนินงานตาม Article 6 หรือ มาตรา 6 ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษา การฝึกอบรม และการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ และจำเป็นในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ Climate Change ได้แก่ เด็กและเยาวชนในทุกระดับ
โดยกรมได้ให้ความสำคัญและทำงานในภาคการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ Eco - School โครงการ Zero Waste School เพื่อสนับสนุนหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ในการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ไม่ได้เรียนเพื่อแค่รู้ แต่เรียนแล้วต้องนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ หรือ Climate Literacy
ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า กรมฯ จึงได้ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน โดยมีทิศทางการขับเคลื่อนเรื่อง Climate Education สำหรับประเทศไทยเช่นเดียวกัน จึงได้ร่วมกันจัดทำสื่อการสอน คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ : Active Learning on Biodiversity and Climate change เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ครูผู้สอนเรื่อง Climate Change สามารถนำไปประยุกต์หรือบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนได้
โดยจะช่วยให้ครูเปิดมุมมองการสอนเรื่องของสิ่งแวดล้อมและเรื่องของ Climate Change ให้เป็นเรื่องสนุก สามารถเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับเด็กได้ เน้นไปที่การเรียนรู้เรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะในท้องถิ่นของตนเอง ได้เรียนรู้ในพื้นที่จริง ได้ลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหา โดยใช้ธรรมชาติเป็นสื่อการเรียนรู้ เกิดความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม มีจิตสำนึก และได้รับประสบการณ์ตรงหรือที่เรียกว่า Active Learning พร้อมตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
"กรมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษานี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความรับผิดชอบต่อโลก รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดความตื่นตัวต่อสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่อง Climate Change ให้พร้อมตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในอนาคต" ดร.พิรุณ กล่าว
นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญในการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง Climate Change โดยการผลักดันให้มีการบรรจุเนื้อหาหรือการพัฒนาเป็นหลักสูตรในระบบการศึกษา รวมทั้งการปรับโครงสร้างหลักสูตรแกนกลาง ฐานสมรรถนะต่าง ๆ ของผู้เรียน ให้เป็นไปตามทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นสื่อการสอนที่เป็นประโยชน์ต่อระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ครูผู้สอนเรื่อง Climate Change สามารถนำไปประยุกต์หรือบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยเสริมพลังการเรียนรู้ สร้างความตระหนักและจิตสำนึกของเด็กและเยาวชนทุกระดับ นำไปสู่การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในอนาคต
ทางด้าน นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานของสหประชาชาติที่ได้รับมอบอำนาจให้คุ้มครองสิทธิของเด็ก ซึ่งรวมถึงสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม
โดยเล็งเห็นว่าพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เด็ก เยาวชนเรื่อง Climate Change เริ่มจากการศึกษา และพื้นฐานความเข้าใจถึงผลกระทบ แนวทางการรับมือ รวมถึงวิธีการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อลดผลกระทบ
ในฐานะภาคีหลักในการร่วมจัดทำคู่มือในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขับเคลื่อนเรื่อง Climate Education สำหรับประเทศไทย และยังคงมีแผนการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคตอีกด้วย