คนบุกรุกพื้นที่ป่า แย่งที่อยู่สัตว์มากขึ้น โรคระบาดแพร่เชื้อได้ไวกว่าเดิม

คนบุกรุกพื้นที่ป่า แย่งที่อยู่สัตว์มากขึ้น โรคระบาดแพร่เชื้อได้ไวกว่าเดิม

นักวิทยาศาสตร์พบว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์มากกว่าครึ่งโลก จะถูก “มนุษย์” บุกรุกและเข้าไปตั้งรกรากแทน ซึ่งคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพและเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคระบาดในอนาคต

KEY

POINTS

  • ภายในปี 2070 จะเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่มนุษย์และสัตว์ต้องอยู่อาศัยร่วมกันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีประชากรมนุษย์หนาแน่นสูงอยู่แล้ว เช่น อินเดียและจีน
  • ส่วนพื้นที่ป่าในแอฟริกาและอเมริกาใต้จะกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพหายไป
  • การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อที่สามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ปัจจุบันมนุษย์ได้เข้าครอบครองและเปลี่ยนแปลงผืนดินทั่วโลกไปแล้วประมาณ 70-75% ของผืนดินทั่วโลก และภายในปี 2070 ประชากรมนุษย์จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเข้ายึดครองพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่มนุษย์และสัตว์ต้องอยู่อาศัยร่วมกันเพิ่มมากขึ้น ในพื้นที่ 57% ของโลก 

“เมื่อก่อนโลกของเรามีสถานที่ที่ไม่เคยมีคนอยู่มาก่อน เช่น ป่า อยู่มากมาย แต่ในตอนนี้เราเริ่มเห็นมนุษย์เข้าไปอยู่อาศัยและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่มากขึ้น ขณะเดียวกันกับก็เห็นสัตว์ป่าตอบโต้มนุษย์มากขึ้นเช่นกัน” นีล คาร์เตอร์ หัวหน้าผู้วิจัยการศึกษาและรองศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าว

“เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่มนุษย์สร้างแรงกดดันและผลกระทบเชิงลบต่อสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เราเผชิญอยู่

เนื่องจากมนุษย์และสัตว์กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จนเกิดความแออัดมากขึ้น ความหนาแน่นในพื้นที่นี้อาจส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้อยากรวดเร็ว ตลอดจนสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ป่ารุกล้ำพื้นที่ทำกินของเกษตรกร กินพืชผลและปศุสัตว์และสุดท้ายพวกมันก็ถูกมนุษย์ฆ่า 

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อ ประมาณ 75% ของโรคอุบัติใหม่ในมนุษย์เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งหมายความว่าโรคเหล่านี้สามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้ และโรคต่าง ๆ ที่เกิดการแพร่ระบาดระดับโลก เช่น โควิด-19 ไข้หวัดนก และไข้หวัดหมู มีแนวโน้มว่าจะมีต้นกำเนิดจากสัตว์ป่า 

ทั้งนี้ความเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากสัตว์ป่า แต่เป็นเพราะพฤติกรรมของมนุษย์และการสัมผัสสัตว์ป่าต่างหากที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคแพร่ระบาด

เพื่อคาดการณ์พื้นทับซ้อนระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าในอนาคต นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปรียบเทียบการประมาณพื้นที่ที่ผู้คนน่าจะอาศัยอยู่กับพื้นที่กระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ทั้งสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลื้อยคลานบนบกจำนวน 22,374 ชนิด

ผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ทับซ้อนระหว่างมนุษย์สัตว์จะขยายใหญ่ขึ้นในภูมิภาคที่มีประชากรมนุษย์หนาแน่นสูงอยู่แล้ว เช่น อินเดียและจีน 

ส่วนพื้นที่ป่าในแอฟริกาและอเมริกาใต้จะกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมากยิ่งขึ้น นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะพื้นที่เหล่านี้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นในอนาคตจากการบุกรุกของมนุษย์ การศึกษายังคาดการณ์ว่าความหลากหลายของสายพันธุ์จะลดลงในป่าหลายแห่งทั่วแอฟริกาและอเมริกาใต้

ในอเมริกาใต้ ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคาดว่าจะลดลง 33% ส่วนสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกลดลง 45% สัตว์เลื้อยคลานลดลง 40% และนกลดลง 37% ส่วนในแอฟริกา ความสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคาดว่าจะลดลง 21% และนกลดลง 26% ขณะที่ในยุโรปพื้นที่ทับซ้อนของระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าคาดว่าจะลดลงมากกว่า 20% 

แม้ว่าการทับซ้อนจะมาพร้อมกับความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ แต่การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นด้วย

“ในทศวรรษหน้า ผู้คนจะมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ป่าทั้งที่ดีและไม่ดีมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก และบ่อยครั้งที่ชุมชนสัตว์ป่าของพื้นที่เหล่านั้นจะประกอบด้วยสัตว์ประเภทต่าง ๆ มากกว่าที่อาศัยอยู่ที่นั่นในปัจจุบัน” คาร์เตอร์กล่าว

ตัวอย่างเช่น สัตว์กินซาก อาทิ แร้งหรือไฮยีนา ที่มักจะถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามของมนุษย์ แต่ที่จริงแล้วพวกมันอาจช่วยเหลือประชากรมนุษย์ได้ โดยจะมีบทบาทสำคัญในการทำความสะอาดขยะในภูมิทัศน์เมือง สัตว์เหล่านี้สามารถลดการแพร่ระบาดของโรคบางชนิดในมนุษย์ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคแอนแทรกซ์ หรือวัณโรคในวัวได้ ส่วนนกสามารถช่วยกินแมลงศัตรูพืชในพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งอาจทำลายพืชผลได้

ในอนาคตรูปแบบการอนุรักษ์จะต้องถูกพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาก่อน วิธีการอนุรักษ์แบบดั้งเดิม เช่น การจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองและการจำกัดการเข้าถึงของมนุษย์ อาจทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันอาจจะไม่เป็นธรรมหากในวันหนึ่งจะไล่ชาวบ้านออกจากที่อยู่อาศัยทั้งที่พวกเขาอยู่มาแล้วหลายชั่วอายุคน  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาทางให้มนุษย์และสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันมากขึ้น 

“เนื่องจากคาดว่าในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก มนุษย์และสัตว์จะต้องอยู่ร่วมกันมากขึ้น ดังนั้นการวางแผนการอนุรักษ์จะต้องสร้างสรรค์และครอบคลุมให้มากที่สุด” คาร์เตอร์กล่าว

นักวิจัยสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกระบวนการอนุรักษ์ เพื่อสร้างความสนใจ ตระหนักรู้ และปรับปรุงผลลัพธ์ ซึ่งอาจรวมถึงการสร้างทางเดินสำหรับสัตว์ป่าเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่คุ้มครองที่มีอยู่กับพื้นที่คุ้มครองใหม่ การสร้างพื้นที่คุ้มครองชั่วคราวในช่วงที่สัตว์ป่ามีอันตราย เช่น ฤดูผสมพันธุ์ และการสำรวจกลยุทธ์การอนุรักษ์ที่สร้างสรรค์อื่น ๆ

“เราใส่ใจมากว่าพื้นที่ใดสามารถรองรับประชากรของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือ และชุมชนมีวิธีอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อย่างไร ในบางสถานที่ การทำทุกอย่างพร้อมกันอาจเป็นเรื่องยากมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่สำหรับปลูกพืชในเมือง การปกป้องสัตว์ป่าและแหล่งที่อยู่อาศัย แต่ถ้าเราสามารถเริ่มวางแผนได้ตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะมีวิธีมากมายที่จะช่วยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” คาร์เตอร์กล่าว


ที่มา: EarthEuro NewsNewsweekThe Guardian