‘บิล เกตส์’ ปฏิวัติวงการพลังงาน สร้าง ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ แบบใหม่

‘บิล เกตส์’ ปฏิวัติวงการพลังงาน สร้าง ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ แบบใหม่

“บิล เกตส์” และบริษัทพลังงานของเขาเริ่มก่อสร้าง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” แบบใหม่ ในรัฐไวโอมิง ซึ่งเขาเชื่อว่าจะ “ปฏิวัติ” รูปแบบการผลิตพลังงาน

KEY

POINTS

  • บิล เกตส์” ประธานของ TerraPower เริ่มก่อสร้าง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” แบบใหม่ในไวโอมิง โดยจะมีเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูงระบายความร้อนด้วยโซเดียม คาดว่าโครงการนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 4,000 ล้านดอลลาร์
  • เครื่องปฏิกรณ์ขนาด 345 เมกะวัตต์ของบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 500 เมกะวัตต์ในช่วงพีค เพียงพอสำหรับบ้านเรือนมากถึง 400,000 หลัง
  • ในอนาคตอาจสร้างเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูงสำหรับจ่ายพลังงานความร้อนสูง แทนการใช้พลังงานจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ต้องใช้อุตสาหกรรมเกือบทั้งหมด

บิล เกตส์” ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์เป็นประธานของ TerraPower ยื่นขอบริษัทได้ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขั้นสูง ที่ใช้โซเดียมแทนน้ำในการระบายความร้อน จากคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ เมื่อเดือนมีนาคม 2024 และหากได้รับการอนุมัติ ก็จะสามารถดำเนินการเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ได้ทันที

โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสร้างติดกับโรงไฟฟ้านอตัน ของบริษัทผลิตไฟฟ้า PacifiCorp ในเมืองเคมเมอเรอร์ รัฐไวโอมิง ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 2,415 คน ตัวโรงงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ “เกาะนิวเคลียร์” (Neuclear Island) ที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์ และ “เกาะพลังงาน” ที่ตั้งของเครื่องจักรต่างๆ (Energy Island)

TerraPower พร้อมเดินหน้าสร้างเครื่องปฏิกรณ์ได้โดยเร็วที่สุดทันทีที่ได้รับอนุมัติใบอนุญาต โดยจะมีรัสเซียเป็นผู้พัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ระบายความร้อนด้วยโซเดียม

กระบวนการพิจารณาจะใช้เวลาสองสามปี ดังนั้นในระหว่างนี้ TerraPower จะสร้างโรงไฟฟ้าส่วนที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ การก่อสร้างจะเริ่มต้นในปี 2025 โดยเริ่มจากจุดที่เรียกว่า “เกาะพลังงาน” ซึ่งเป็นที่ตั้งกังหันไอน้ำและเครื่องจักรอื่นๆ ในการผลิตพลังงาน  ส่วนเครื่องปฏิกรณ์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “เกาะนิวเคลียร์” และทีมงานหวังว่าจะเริ่มสร้างได้ในปี 2026

‘บิล เกตส์’ ปฏิวัติวงการพลังงาน สร้าง ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ แบบใหม่ แบบจำลองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของ TerraPower ในไวโอมิง
ฝั่งซ้ายเป็นเกาะพลังงาน และฝั่งขวาเป็นเกาะนิวเคลียร์
เครดิตภาพ: TerraPower

อันที่จริงเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูงจะใช้สารหล่อเย็นชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำ และทำงานภายใต้แรงดันที่ต่ำกว่า และอุณหภูมิที่สูงกว่า เทคโนโลยีดังกล่าวมีมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่สหรัฐยังคงใช้เครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ที่ระบายความร้อนด้วยน้ำแบบธรรมดาในโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อยู่ ดังนั้นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ไวโอมิงจึงถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ที่บริษัทพยายามสร้างเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูงเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของสหรัฐ

คริส เลอเวสก์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TerraPower กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ขั้นสูงในการออกแบบโรงไฟฟ้าที่ง่ายกว่า ซึ่งมีราคาถูกกว่า ปลอดภัยกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบเก่า

“เพื่อรองรับปริมาณความต้องการไฟฟ้าในทศวรรษหน้า และแก้ไขปัญหาต้นทุนของพลังงานนิวเคลียร์ในปัจจุบัน ผู้ก่อตั้ง และพนักงานของเรารู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่” เลอเวสก์ กล่าว

คาดว่าโครงการนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งครึ่งหนึ่งมาจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐ และขณะนี้ได้เงินทุนจากภาคเอกชนเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตัวเลขดังกล่าว รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการออกแบบ และการออกใบอนุญาตเครื่องปฏิกรณ์ในการใช้ครั้งแรก ดังนั้นเครื่องปฏิกรณ์ในอนาคตจะมีราคาถูกลงมาก

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขั้นสูงส่วนใหญ่ที่สหรัฐกำลังพัฒนา ใช้ระบบฮาเลอ (High-Assay Low-Enriched Uranium : HALEU) ที่มีปริมาณสารยูเรเนียมไอโซโทป 235 ในเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในเตาปฏิกรณ์ทั่วไป

TerraPower เลื่อนกำหนดการเปิดตัวโรงไฟฟ้าในไวโอมิงออกไปเป็นปี 2030 เนื่องจากตอนนี้รัสเซียเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์เพียงรายเดียว และกำลังทำงานร่วมกับบริษัทอื่นเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานสำรอง ขณะที่กระทรวงพลังงานของสหรัฐ กำลังดำเนินการพัฒนาเชื้อเพลิงชนิดนี้ภายในประเทศให้สำเร็จ เมื่อโรงไฟฟ้าเสร็จคาดว่าจะสร้างงานได้ 1,600 ตำแหน่ง และจ้างพนักงานประจำ 250 คน

เอ็ดวิน ไลแมน ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยพลังงานนิวเคลียร์ของสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย หรือ UCS องค์การที่ช่วยให้เสียงสนับสนุนวิทยาศาสตร์ของสหรัฐ กล่าวว่า ความเสี่ยงที่เกิดจาก HALEU ในปัจจุบันมีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากไม่มีเชื้อเพลิงชนิดนี้มากเท่าใดนักทั่วโลก แต่หากมีการนำไปใช้ในโครงการเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูงมากขึ้น ก็อาจเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเชื้อเพลิงชนิดนี้อาจนำไปใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์ได้

‘บิล เกตส์’ ปฏิวัติวงการพลังงาน สร้าง ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ แบบใหม่

ผังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของ TerraPower ในไวโอมิง 
เครดิตภาพ: TerraPower

เกตส์ร่วมก่อตั้ง TerraPower ในปี 2008 เพื่อเป็นช่องทางให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนพลังงานนิวเคลียร์ขั้นสูง สำหรับจัดหาพลังงานที่ปลอดภัย อุดมสมบูรณ์ และปราศจากคาร์บอน โดยเครื่องปฏิกรณ์ขนาด 345 เมกะวัตต์ของบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 500 เมกะวัตต์ในช่วงพีค เพียงพอสำหรับบ้านเรือนมากถึง 400,000 หลัง

TerraPower กล่าวว่า เครื่องปฏิกรณ์ชุดแรกจะเน้นที่การจ่ายไฟฟ้า ส่วนในอนาคตอาจสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับจ่ายพลังงานความร้อนสูง แทนการใช้พลังงานจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ต้องใช้อุตสาหกรรมเกือบทั้งหมด โดยเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูงสามารถใช้ผลิตไฮโดรเจน ปิโตรเคมี แอมโมเนีย และปุ๋ยได้

จอห์น โคเท็กแห่งสถาบันพลังงานนิวเคลียร์กล่าวว่า “โครงการนี้ช่วยให้ผู้คนเข้าใจถึงบทบาทในการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนของพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงผลักดันให้พลังงานนิวเคลียร์รูปแบบใหม่สามารถเกิดขึ้นในสหรัฐ  และแสดงศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ในวงกว้างกว่าที่เราเคยเห็นมาหลายทศวรรษที่ผ่านมา”

ขณะที่ บิล เกตส์กล่าวในบล็อกส่วนตัวของเขาว่า “โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ TerraPower กำลังสร้าง จะผลิตพลังงานเพื่ออนาคตของประเทศของเราและโลก ทุกสิ่งที่เราทำล้วนขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นอาคาร เทคโนโลยี และการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ และสภาพอากาศ เราต้องการพลังงานสะอาดที่มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลงกว่าเดิม” 

“โรงงานไฟฟ้าที่เราเริ่มสร้างในเคมเมอเรอร์ จะกลายเป็นรากฐานของอนาคตด้านพลังงานของอเมริกาในไม่ช้า วันนี้ เราได้ก้าวไปสู่ขั้นตอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพื่อก้าวไปสู่พลังงานที่ปลอดภัย อุดมสมบูรณ์ และปลอดคาร์บอน”

 

ที่มา: AP NewsForbesGates Notes

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์