‘กิมจิ’ กำลังจะหมดโลก? ‘ภาวะโลกรวน’ ทำพิษ ‘เกาหลีใต้’ ปลูก ‘ผักกาด’ ได้น้อยลง

‘กิมจิ’ กำลังจะหมดโลก? ‘ภาวะโลกรวน’ ทำพิษ ‘เกาหลีใต้’ ปลูก ‘ผักกาด’ ได้น้อยลง

“กิมจิ” กำลังจะหมดโลก? หลัง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้ “ผักกาด” จานโปรดของชาวเกาหลีใต้ต้องตกอยู่ในความเสี่ยง

KEY

POINTS

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้ “ผักกาด” เติบโตได้ยาก ภายในปี 2090 เกาหลีใต้ไม่สามารถปลูกผักได้ อาจทำให้ไม่มี “กิมจิ” อีกต่อไป
  • ด้วยสภาพอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และผลผลิตที่น้อยลง ปลูกไปก็อาจได้กำไรไม่มาก หรือถึงขั้นขาดทุน ทำให้เกษตรกรหลายคนยอมแพ้ เลิกปลูกผักกาดและหันมาปลูกแอปเปิลแทน
  • ต้นปี 2024 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม เกาหลีใต้นำเข้ากิมจิเพิ่มขึ้น 6.9% มูลค่า 98.5 ล้านดอลลาร์ โดยเกือบทั้งหมดมาจากจีน

กิมจิ” เครื่องเคียงขึ้นชื่อ จนกลายเป็นอาหารประจำชาติของเกาหลีใต้ อาจจะไม่มีให้กินกันต่อไปแล้ว หลังจากคุณภาพของ “ผักกาด” ลดต่ำลง และปริมาณผลผลิตที่ได้น้อยลง โดยนักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร และผู้ผลิตต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งมาจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” 

ผักกาดขาวมักปลูกในพื้นที่ภูเขา ซึ่งจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น และมีอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส แม้แต่ในฤดูร้อนก็ตาม โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมคือระหว่าง 18-21 องศาเซลเซียส

การศึกษาแสดงให้เห็นว่า สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามพืชผลเหล่านี้อย่างมาก และในอนาคตเกาหลีใต้อาจจะไม่สามารถปลูกผักได้เลย เนื่องจากอากาศร้อนจัด

“เราได้แต่หวังว่าการคาดการณ์เหล่านี้จะไม่เป็นจริง เพราะนอกจากผักกาดจะชอบอากาศเย็นแล้ว ผักเหล่านี้ยังปรับตัวเข้ากับช่วงอุณหภูมิที่ต่ำมาก” อี ยองกยู นักพยาธิวิทยาพืชและนักไวรัสวิทยากล่าว

อันที่จริงมีผักหลายชนิดที่สามารถนำมาทำเป็นกิมจิได้ เช่น หัวไชเท้า แตงกวา กะหล่ำปลี ต้นหอม และมะละกอ แต่เมนูยอดนิยมยังคงเป็นกิมจิผักกาดขาว และในตอนนี้ ทั้งเกษตรกรและผู้ผลิตกิมจิต่างก็สัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของผักกาดแล้ว

อี ฮายอน ผู้เชี่ยวชาญด้านกิมจิจากกระทรวงเกษตร อธิบายถึงผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อผักชนิดนี้ว่า ความร้อนจะทำให้ผักเน่าและรากจะเละ ซึ่งหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจต้องเลิกทำกิมจิผักกาดในฤดูร้อน

ข้อมูลจากหน่วยงานสถิติของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ปลูกผักกาดบนที่สูงในปี 2023 มีพื้นที่เพียง 24,968 ไร่ ซึ่งลดลงเกินครึ่งจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่มีพื้นที่ 54,975 ไร่ 

ตามข้อมูลของสำนักงานพัฒนาชนบท หน่วยงานวิจัยด้านการเกษตรของรัฐ ระบุว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้พื้นที่ปลูกผักกาดลดลงอย่างมากภายใน 25 ปีข้างหน้า เหลือเพียง 275 ไร่เท่านั้น และภายในปี 2090 จะไม่สามารถปลูกผักกาดบนที่สูงได้อีกเลย

อุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ผลผลิตลดลง นักวิจัยระบุว่า ฝนตกหนักแบบคาดเดาไม่ได้ และแมลงศัตรูพืชที่ควบคุมได้ยากขึ้น ในช่วงฤดูร้อนที่อบอุ่นและยาวนานกว่าเดิม ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผักกาดมีจำนวนลดลงด้วยเช่นกัน 

ต่อให้ผักกาดสามารถรอดพ้นจากฤดูร้อนที่ยาวนานและรุนแรง เหตุการณ์สุดขั้ว เช่น ฝนตกหนักและพายุไต้ฝุ่น มาได้ แต่พวกมันอาจต้องเผชิญกับการติดเชื้อราที่ทำให้พืชเหี่ยวเฉา โดยเฉพาะในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวนับเป็นปัญหาสำคัญสำหรับเกษตรกร

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังสร้างความท้าทายใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมกิมจิของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเมื่อต้องแข่งขันกับการนำเข้ากิมจิราคาถูกจากจีน ที่ส่วนใหญ่นำมาเสิร์ฟในร้านอาหาร ข้อมูลจากศุลกากรเกาหลีแสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม เกาหลีใต้นำเข้ากิมจิเพิ่มขึ้น 6.9% มูลค่า 98.5 ล้านดอลลาร์ โดยเกือบทั้งหมดมาจากจีน และเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

การนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นละเอียดอ่อน โดยเฉพาะกิมจิ ที่ถือว่าเป็นอาหารประจำชาติของเกาหลี ทำให้เกิดประเด็นที่ถกเถียงกันทางวัฒนธรรมในวงกว้าง และหลายครั้งผู้คนถึงกับถามหาที่มาของกินจิที่พวกเขาบริโภค นับเป็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างเพื่อนบ้านในเอเชีย ที่มาจากความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์

กู จอง-อู ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยซุงคยุนกวาน กล่าวว่า “คนเกาหลีรู้สึกว่ากิมจิเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านอาหารของประเทศ อาหารจานนี้ถือเป็นวิถีชีวิตของคนเกาหลี”

ด้วยสภาพอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และผลผลิตที่น้อยลง ปลูกไปก็อาจได้กำไรไม่มาก หรือถึงขั้นขาดทุน เนื่องจากต้นทุนการปลูกสูง ทำให้เกษตรกรหลายคนยอมแพ้ เลิกปลูกผักกาดและหันมาปลูกแอปเปิลแทน 

จนถึงขณะนี้ รัฐบาลเกาหลีพยายามจัดเก็บรักษากิมจิและผักในพื้นที่อุณหภูมิต่ำ เพื่อป้องกันราคาพุ่งสูงและปัญหาการขาดแคลน ส่วนนักวิทยาศาสตร์ยังเร่งพัฒนาพันธุ์พืชให้สามารถเติบโตได้ในภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและการติดเชื้อได้ดียิ่งกว่าเดิม

แต่เกษตรกรอย่างคิม ซี-กัป วัย 71 ปี ผู้ที่ทำงานในไร่ผักกาดในเมืองคังนึงมาตลอดชีวิต กลัวว่าสายพันธุ์ที่พัฒนานี้จะมีราคาแพงและอาจรสชาติที่ไม่ค่อยดีอีกด้วย

“พอเห็นข่าวบอกว่าในอนาคต เกาหลีใต้จะไม่สามารถปลูกผักกาดได้อีกต่อไป นเป็นเรื่องที่น่าตกใจทั้งในแง่หนึ่งและน่าเศร้าในเวลาเดียวกัน กิมจิเป็นของที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหาร ถ้าวันหนึ่งมีไม่กิมจิขึ้นมา เราจะทำอย่างไร” ซี-กัปกล่าว


ที่มา: ReutersThe Washington PostWION