SCB "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" ปรับพอร์ตสินเชื่อ 2.3 ล้านล้านบาทสู่ Green Loan

SCB "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" ปรับพอร์ตสินเชื่อ 2.3 ล้านล้านบาทสู่ Green Loan

SCB เปิดตัวภารกิจ "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" ปรับพอร์ตสินเชื่อ 2.3 ล้านล้านบาทสู่ Green Loan เพิ่มวงเงินสินเชื่อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหนุนความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เพิ่มมากขึ้น ระดับอุณหภูมิพอร์ตโฟลิโอลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงต่อเนื่องกว่า 0.19 องศาเซลเซียส

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศแนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” บูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมขับเคลื่อนธุรกิจและสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืนทั้งในระดับธนาคาร ลูกค้า และสังคม วางเป้าหมาย 3 ระยะ และกรอบการดำเนินงาน 3 ด้าน สานต่อภารกิจธนาคารชั้นนำด้านความยั่งยืน (The Leading Sustainable Bank)

"กฤษณ์ จันทโนทก" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางที่จำเป็นทางสังคม โดยการปรับนโยบายองค์กรและกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน

“การเปลี่ยนแปลงก็อาจนำมาซึ่งโอกาสที่ดีในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งใหม่อย่างมหาศาล ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้ดำเนินกลยุทธ์ ‘Digital Bank with Human Touch’ ครอบคลุมมิติด้านความยั่งยืนมาตลอด 3 ปี ผ่านแนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” เพื่อเป็นหลักปฏิบัติในการนำการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกคน”

เป้าหมาย 3 ระยะของ SCB

ธนาคารไทยพาณิชย์ผสานศักยภาพเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมขับเคลื่อนธุรกิจและสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนทั้งในระดับธนาคาร ลูกค้า และสังคม วางเป้าหมายสู่ความยั่งยืนใน 3 ระยะ ได้แก่

  1. สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้วยสินเชื่อ และลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำนวน 150,000 ล้านบาท ภายใน 2025 โดยปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2024 ได้สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.11 แสนล้านบาท (โดยนับตั้งแต่ปี 2023)
  2. ปรับการดำเนินงานองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2030 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero 2030 จากการดำเนินงานภายใน ทั้งด้านการปรับเปลี่ยนใช้ระบบประหยัดพลังงาน และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด นอกจากนี้ ได้ปลูกฝัง DNA ความยั่งยืนให้พนักงานทุกคนผ่านหลักสูตรต่างๆ
  3. เป็นธนาคารไทยรายแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ (Science-Based Targets Initiative : SBTi) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสินเชื่อสีเขียว

ยึดมาตรฐาน SBTi ลดก๊าซเรือนกระจก

“ดร. ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารวางกรอบพันธกิจในการผลักดันเป้าหมาย Net Zero จากการให้สินเชื่อและการลงทุน (Scope 3 Category 15 Investment) ภายในปี 2050 ตามมาตรฐาน SBTi  ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรฐานแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก

โดยธนาคารไทยพาณิชย์ภายใต้ทิศทางนโยบายของ SCBX มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่

  1. ความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนความพยายามของประเทศและประชาคมโลกจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีรุนแรงยิ่งขึ้น
  2. การบริหารความเสี่ยงของธนาคาร ผ่านการสนับสนุนลูกค้าเพื่อให้สามารถปรับตัวก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สามารถแข่งขันได้ภายใต้กฎระเบียบใหม่ทางการค้าการลงทุนของโลก
  3. โอกาสทางธุรกิจ จากความต้องการเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากจากอุตสาหกรรมต่างๆของไทยที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่เปลี่ยนไป

ผู้นำปล่อยสินเชื่อโรงงานไฟฟ้า

ธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งเป็น True Partner ให้กับลูกค้าเพื่อเดินสู่เส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งการสนับสนุนด้านการเงินที่ยั่งยืนผ่านผลิตภัณฑ์ (Sustainable Finance) ที่ครบทุกกลุ่มลูกค้าและอุตสาหกรรม ตลอดจนการให้ความรู้ และคำแนะนำการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

ธนาคารไทยพาณิชย์วางกลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มลูกค้ารายอุตสาหกรรม โดยเป็นผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทย มีมูลค่าวงเงินอนุมัติสินเชื่อกว่า 1.98 แสนล้านบาทระหว่างปี 2011 ถึงปัจจุบัน
สัดส่วนสินเชื่อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 61 ของพอร์ตโรงไฟฟ้าของธนาคาร

ซึ่งเทียบเคียงธนาคารชั้นนำของโลก ทำให้ความเข้มข้นของการปล่อย GHG ต่อหนึ่งหน่วยการผลิตไฟในพอร์ตโรงไฟฟ้าของธนาคาร (วัดภายใต้วิธี SDA) มีการปรับตัวลดลง และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าทั่วโลก และต่ำกว่าเส้นทางในการบรรลุ Net Zero 2050 ตาม Paris Agreement

กลยุทธ์ในระยะถัดไป ธนาคารไทยพาณิชย์จะยังคงเพิ่มวงเงินสินเชื่อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งต่อลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ เพื่อสนับสนุนความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการลดการสนับสนุนพลังงานถ่านหิน ผ่านการทยอยลดสินเชื่อคงค้าง และไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่การขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน

อุณหภูมิพอร์ตโฟลิโอลูกค้าลดต่อเนื่อง

สำหรับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้นำวิธี Implied Temperature Rise (ITR) ตามกรอบ SBTi มาใช้ในการวัดเป้าหมายและความคืบหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจก

โดยจากผลสำรวจล่าสุดในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่จำนวน 218 ราย ที่คิดเป็นร้อยละ 84 ของสินเชื่อในกลุ่ม ITR ทั้งหมด ( 4.99 แสนล้านบาท) พบว่า ลูกค้าจำนวน 77 ราย ซึ่งมีสินเชื่อรวมคิดเป็นร้อยละ 47 ของยอดสินเชื่อในกลุ่มสำรวจทั้งหมดมีการกำหนดและประกาศเป้าหมายที่ครบถ้วน

อย่างไรก็ดี ยังมีลูกค้าจำนวน 100 ราย ซึ่งมีสินเชื่อรวมคิดเป็นร้อยละ 35 ของยอดสินเชื่อในกลุ่มสำรวจทั้งหมด ยังไม่มีการเก็บข้อมูล GHG และไม่มีการตั้งเป้าหมายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ในการดึงดูดลูกค้าสู่การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับบริบทของลูกค้าแต่ละราย ควบคู่กับการสนับสนุนด้านสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับลูกค้าที่มีการประกาศเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ระดับอุณหภูมิพอร์ตโฟลิโอของลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

โดยปรับลงแล้วกว่า 0.19 องศาเซลเซียส จาก 2.84 องศาเซลเซียส จากปีฐาน 2021 มาอยู่ที่ 2.65 องศาเซลเซียส ในปี 2023 โดยธนาคารมีเป้าหมายจะทำให้ระดับอุณหภูมิของพอร์ตสินเชื่อลดลงสู่ระดับ 2.35 องศาเซลเซียส ภายในปี 2028 และ 1.50 องศาเซลเซียสในปี 2040 ซึ่งจะช่วยให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุ Net Zero ได้ในปี 2050