‘องุ่นไชน์มัสแคท’ จาก ‘จีน’ ล้นตลาด ส่งขายราคาถูก แต่คุณภาพต่ำ รสชาติไม่ดี

‘องุ่นไชน์มัสแคท’ จาก ‘จีน’ ล้นตลาด ส่งขายราคาถูก แต่คุณภาพต่ำ รสชาติไม่ดี

“องุ่นไชน์มัสแคท” จากจีนล้นตลาด ขายตัดราคา ถูกกว่าของญี่ปุ่น 2-3 เท่า แต่มีรสชาติที่ด้อยกว่า เพราะปลูกไม่ดี บางทีรีบเก็บมาขายทั้งที่ยังไม่สุก

KEY

POINTS

  • ราคา “องุ่นไชน์มัสแคท” (Shine Muscat) จากจีน ร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากมีผลผลิตล้นตลาด
  • องุ่นจากจีนมีรสชาติและคุณภาพไม่ดีเท่าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากการปลูกที่ไม่ได้มาตรฐาน
  • ขณะที่ญี่ปุ่นประเทศต้นฉบับ ได้เริ่มใช้การวิเคราะห์ดีเอ็นเอในการตรวจสอบการเลียนแบบพันธุ์ผลไม้ใหม่

2-3 ปีก่อนหน้า “องุ่นไชน์มัสแคท” (Shine Muscat) องุ่นของญี่ปุ่น หรือที่เราคุ้นชื่อว่า “ไซมัสคัส” เริ่มเป็นที่ฮอตฮิตในหลายประเทศทั่วเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ด้วยเอกลักษณ์ของสายพันธุ์ที่เปลือกบาง เนื้อหนา น้ำองุ่นเยอะ และความหวานและกลิ่นหอมของกุหลาบที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว และมีราคาแพงมาก จนได้รับขนานนามว่าเป็น “แอร์เมสแห่งวงการองุ่น” 

แต่ในตอนนี้เราสามารถเห็นองุ่นพันธุ์นี้วางขายอยู่เกลื่อน ตั้งแต่ในตลาดสด ไปจนถึงรถที่จอดขายข้างถนน ในราคาแสนถูก บางร้านขายเพียงราคากล่องละ 50 บาท ส่วนในห้างสรรพสินค้าก็มักจะมีโปร “1 แถม 1” อยู่เป็นประจำ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ “องุ่นไชน์มัสแคทจากจีน” ล้นตลาด

ราคาหน้าสวนขององุ่นไชน์มัสแคทจากยูนนาน ในประเทศจีน ช่วงเมษายน 2024 ซึ่งเป็นช่วงต้นของฤดูองุ่น เหลือเพียงแค่กิโลกรัมละ 50 หยวน หรือราว 237 บาทเท่านั้น ซึ่งลดลงเกินครึ่งหนึ่งจากปีที่แล้ว ที่ผลไม้คุณภาพสูงขายได้ 110 หยวน หรือประมาณ 523 บาท 

ส่วนราคาขายส่งก็ลดลงมาด้วยเช่นกัน โดยองุ่นเกรดพรีเมียมจะขายอยู่ที่ 60-70 หยวนต่อกิโลกรัม ราว 285-332 บาท ในขณะที่องุ่นคุณภาพต่ำมีราคากิโลกรัมละไม่ถึง 20 หยวน หรือราว 95 ต่อกิโลกรัมเท่านั้น และถ้าหากเป็นองุ่นที่ขายข้างถนน จะมีราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 10 หยวน หรือ 47 บาทเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นปัญหามาจากคุณภาพขององุ่นที่ตกต่ำลง โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ระบุว่า แม้องุ่นไชน์มัสแคทของจีนยังคงมีขนาดใหญ่และอวบอ้วน สีสันสวยงาม แต่รสชาติไม่อร่อย บางลูกจืด ไม่รสชาติ หรือบางลูกก็เปรี้ยวและฝาดด้วยซ้ำ บางทีก็เจอเปลือกหนาเป็นพิเศษ เนื้ออาจมีรสหวานเกินไป  แถมกลิ่นกุหลาบที่เป็นจุดเด่นของสายพันธุ์นี้หายไปหมด ทำให้ไม่ต่างจากองุ่นทั่วไป

ราคาองุ่นไชน์มัสแคทของจีนมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะในตอนนี้องุ่นพันธุ์นี้ไม่ใช่ของ “หายาก” อีกต้องไป จีนสามารถปลูกเองได้ แถมปลูกทั่วประเทศ โดยองุ่นชุดแรกจะมาจากยูนนานและวางจำหน่ายในเดือนเมษายน ตามด้วยกวางสีและกวางตุ้งในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป จะถึงคิวขององุ่นจากหูหนาน เสฉวน ฉงชิ่ง เจียงซู เจ้อเจียง และเซี่ยงไฮ้ รวมถึงเมืองทางเหนืออย่างเหอหนานและเหอเป่ยจะพร้อมจำหน่าย ลากยาวไปถึงช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ด้วย ดังนั้นปริมาณองุ่นในตลาดจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาลดลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่จุดต่ำสุด

 

องุ่นไชน์มัสแคทจีน รสชาติไม่คงที่

องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคท ถูกนำเข้ามาในประเทศจีนครั้งแรกเมื่อปี 2006 โดยศ.เต๋า เจียนมิน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หนานจิง ในโครงการแนะวิทยาศาสตร์การเกษตรขั้นสูงระหว่างประเทศและแผนการปรับตัว และเริ่มนำไปปลูกในภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก

จนกระทั่งในปี 2016 ที่มีการพัฒนาเทคนิคการเพาะปลูกองุ่นไชน์มัสแคทในจีนขั้นสมบูรณ์ ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีสามารถเพราะปลูกได้ทั่วประเทศ ประจวบเหมาะกับได้รับความนิยมจากประชาชนทำให้ผลผลิตในประเทศก็มีราคาสูงสุด เกษตรแห่มาปลูกองุ่นพันธุ์นี้จำนวนมาก

เมืองหลี่ เป็นพื้นที่ปลูกองุ่นไชน์มัสแคทที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลหูหนาน โดยในปี 2021 มีพื้นที่ปลูกองุ่นไชน์มัสแคทเพิ่มขึ้นเกือบ 18 เท่าจากปี 2016 ซึ่งใช้พื้นที่ปลูกคิดเป็น 71.8% ของพื้นที่ปลูกองุ่นทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันวิจัยไม้ผล แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีนคาดว่า  จีนจะมีพื้นที่ปลูกองุ่นไชน์มัสแคททะลุ 1 ล้านเอเคอร์ภายในปี 2022

เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพขององุ่นไชน์มัสแคทในประเทศจีน จึงส่งผลให้รสชาติขององุ่นแตกต่างกันมาก มีทั้งหอมหวานองุ่น ไปจนถึงจืด ฝาดและเปรี้ยว เพราะการปลูกองุ่นให้ได้คุณภาพระดับพรีเมียมไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการปลูก ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี

อินทรียวัตถุที่อุดมสมบูรณ์และธาตุอาหารเสริมในดินปลูกช่วยให้องุ่นมีรสชาติและกลิ่นหอม แต่เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้จำนวนมากกลับใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม เพื่อประหยัดต้นทุน ซึ่งทำให้รสชาติของไชน์มัสแคทแย่ลง

นอกจากนี้ การควบคุมปริมาณการผลิต ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรสชาติ หากพยายามเร่งให้องุ่นออกลูกมากเกินไป เพื่อประหยัดต้นทุนและได้ผลไม้เป็นพวงใหญ่ องุ่นไชน์มัสแคทที่ได้ก็จะสูญเสียความหวานและไม่มีกลิ่นกุหลาบหอม ๆ

สำหรับสาเหตุที่ผู้บริโภคบางคนเจอองุ่นไชน์มัสแคทที่ไม่หวานหรือเปรี้ยว อาจเป็นเพราะว่าองุ่นเหล่านั้นยังไม่สุกดี เกษตรกรบางรายเก็บเกี่ยวองุ่นตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่สุกเต็มที่ ขาดปริมาณน้ำตาลเพียงพอ และมีรสชาติจืดชืด ในทางกลับกัน หากปล่อยให้องุ่นสุกคาต้นนานเกินไปก็จะทำให้ความหวานค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนมีรสหวานและเลี่ยนมากเกินไป

ดังนั้นแม้ว่า องุ่นไชน์มัสแคทสามารถปลูกได้ทั่วประเทศ แต่ความแตกต่างในสภาพแวดล้อมการปลูก ข้อกำหนดการเพาะปลูก และความใส่ใจของเกษตรกรที่มีแตกต่างกันก็ทำให้คุณภาพผลผลิตแตกต่างกันมาก

 

“ญี่ปุ่น” ต่อสู้เพื่อปกป้องไชน์มัสแคทต้นฉบับ

นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นใช้เวลา 33 ปี กว่าที่จะพัฒนาองุ่นไชน์มัสแคท ให้มีลูกใหญ่กว่าองุ่นทั่วไป ปลูกง่าย และมีรสหวาน หอมกลิ่นกุหลาบอ่อน ๆ จนสามารถขายได้ในราคาพวงละ 100 ดอลลาร์ หรือ เกือบ 3,400 บาท แต่ในตอนนี้ไชน์มัสแคทของญี่ปุ่นกำลังถูกไชน์มัสแคทจากจีนและเกาหลีใต้ที่มีรสชาติใกล้เคียงกันเข้ามาตีตลาด

ตามคำกล่าวของรัฐบาลญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ได้นำต้นกล้าพันธุ์ไชน์มัสแคทของญี่ปุ่นไปต่อกิ่งบนเถาองุ่นในท้องถิ่น เพื่อให้ผลไม้ที่มีรูปลักษณ์และรสชาติเกือบจะดีเท่ากัน แน่นอนว่าไชน์มัสแคทจากจีนอาจจะมีคุณภาพด้อยกว่าไซมัสคัสของญี่ปุ่น แต่ว่าก็เอาราคาที่ถูกกว่าเข้าสู้ โดยองุ่นไชน์มัสแคทของญี่ปุ่นมักมีราคาแพงกว่าของจีน 2-3 เท่า แม้ว่าค่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงแล้วก็ตาม

แม้ทุกคนจะรู้ดีว่าไชน์มัสแคทเป็นของญี่ปุ่น และได้จดทะเบียนในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2006 แต่ญี่ปุ่นไม่สามารถห้ามให้จีนหรือเกาหลีใต้หยุดปลูกไชน์มัสแคทได้ เพราะญี่ปุ่นไม่ได้จดทะเบียนองุ่นพันธุ์นี้ในต่างประเทศภายในระยะเวลา 6 ปีตามกฎระเบียบระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นยังยอมรับว่าญี่ปุ่นล้มเหลวในการขึ้นทะเบียนพันธุ์สตรอว์เบอร์รี เชอร์รี และส้มสายพันธุ์ใหม่ที่มีแหล่งกำเนิดในญี่ปุ่น แต่ตอนนี้กลับพบการเพาะปลูกในจีน เกาหลีใต้ และออสเตรเลียด้วย

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นไม่สามารถส่งออกองุ่นไปยังจีนเองได้ เนื่องจากกฎหมายกักกันโรคของปักกิ่ง ตามข้อมูลจากยาสุโนริ เอบิฮาระ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองเครื่องหมายการค้าพืชของกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นระบุว่า หากจะต้องการส่งออกผลไม้ไปยังจีน จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจะสูงกว่า 10,000 ล้านเยน หรือราว 2,355 ล้านบาท ต่อปี

เพื่อป้องกันปัญหาการลอกเลียนพันธุ์ผลไม้ใหม่ที่ญี่ปุ่นกำลังพัฒนาอยู่ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยองค์การวิจัยการเกษตรและอาหารแห่งชาติ (NARO) ได้เริ่มใช้การวิเคราะห์ดีเอ็นเอในการตรวจสอบการเลียนแบบพันธุ์ผลไม้ใหม่

“มีลำดับจีโนมที่มีเฉพาะในไชน์มัสแคทเท่านั้นที่มี ดังนั้นเราจึงสามารถตรวจสอบได้ว่าองุ่นมีลำดับดังกล่าวหรือไม่ และระบุได้ว่าเป็นไชน์มัสแคทหรือไม่” ทาเคฮิโกะ ชิมาดะ หัวหน้าหน่วยวิจัยพันธุ์ผลไม้ของ NARO กล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2020 ญี่ปุ่นยังออกกฎเกณฑ์เข้มงวดมากขึ้น โดยห้ามนำเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าของพืชจดทะเบียนแล้วออกนอกประเทศ ผู้ฝ่าฝืนอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 10 ล้านเยน หรือประมาณ 2.36 ล้านบาท

 

ที่มา: Fresh PlazaSouth China Morning PostThe China Academy