เปิดแนวทางป้องกัน กทม.-ปริมณฑล จมน้ำทะเล คาดน้ำเข้าแผ่นดินในอีก 6 ปี

เปิดแนวทางป้องกัน กทม.-ปริมณฑล จมน้ำทะเล คาดน้ำเข้าแผ่นดินในอีก 6 ปี

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ศึกษา “แนวทางการป้องกันกรุงเทพฯ และปริมณฑลจมน้ำทะเล” ประเมิน 3 จังหวัดริมทะเล สมุทรสาคร กทม. และสมุทรปราการ จะถูกน้ำท่วมถึงในปี 2030 แนะ 4 แนวทางป้องกันและลดผลกระทบ

น้ำท่วมที่เกิดจากภาวะโลกร้อนกำลังกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดน้ำท่วมที่รุนแรงและบ่อยขึ้นทั่วโลก อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำในมหาสมุทรและอากาศระเหยมากขึ้น ส่งผลให้มีการก่อตัวของเมฆและฝนตกหนักมากขึ้น

ในหลายพื้นที่ทั่วโลก น้ำท่วมกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถจัดการได้ ทำให้ผู้คนต้องย้ายถิ่นฐาน เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ที่ยิ่งเพิ่มผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงของน้ำท่วม

“รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) และประธานกรรมการบริหาร ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) ได้ทำการศึกษา “แนวทางการป้องกันกรุงเทพฯ และปริมณฑลจมน้ำทะเล” โดยระบุว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยจะสูงขึ้นประมาณ 1.1 เมตรภายในปี ค.ศ. 2100 และหากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ตัวเลขนี้อาจสูงถึง 2.5 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 340 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2050 และ 630 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2100

กทม.-ปริมณฑล เสี่ยงสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง

“รศ.ดร.เสรี" อธิบายว่า ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบนถูกจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง งานวิจัยในวารสารนานาชาติหลายฉบับระบุว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความเสี่ยงและเปราะบางสูงต่อการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทะเล อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้ใช้ฉากทัศน์ CMIP5 Emission Scenario (2010) เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ล่าสุด IPCC ได้เผยแพร่รายงานการประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ โดยใช้ฉากทัศน์ CMIP6 Emission Scenario (2021) ซึ่งบ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น

ความเสี่ยงอุทกภัยของไทย 3 รูปแบบ

“รศ.ดร.เสรี” ได้ประยุกต์ใช้ฉากทัศน์ใหม่ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศไทย โดยเฉพาะการวิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยง และความรุนแรงของอุทกภัยรวม 3 รูปแบบ กล่าวคือ

  1. น้ำท่วมชุมชนเมืองจากฝนตกหนัก (Urban flooding)
  2. น้ำท่วมหลากจากแม่น้ำ (River flooding)
  3. น้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น (Coastal flooding)

ทั้งสามรูปแบบของน้ำท่วมเกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่สามจังหวัดริมทะเลอ่าวไทยตอนบน ได้แก่ สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยมีแนวโน้มความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เปิดแนวทางป้องกัน กทม.-ปริมณฑล จมน้ำทะเล คาดน้ำเข้าแผ่นดินในอีก 6 ปี

3 จังหวัด กทม.-ปริมณทล น้ำท่วมถึงปี 2030

“รศ.ดร.เสรี” และทีมได้ศึกษาแนวคิดเชิงระบบ จากปัจจัยหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลจมน้ำ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ทำกิน แผ่นดินทรุดตัว เป็นต้น และเลือกพื้นที่ประเมินทั้งลุ่มเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมาถึงอ่าวไทย โดยให้ครอบคลุมลุ่มน้ำท่าจีน เพื่อให้สามารถประเมินพื้นที่ 3 จังหวัด (สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ)

การจัดเตรียมข้อมูลภายใต้ฉากทัศน์ล่าสุดของ IPCC โดยทำการย่อส่วน และปรับแก้ข้อมูลฝน อุณหภูมิ และระดับน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทย ผลการวิเคราะห์โดยใช้กรณีเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 เป็นฐานพบว่า

พื้นที่ 3 จังหวัดริมทะเล (สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ) จะถูกน้ำท่วมถึงในปี ค.ศ. 2030, 2050, 2070 และ 2100 และจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และประชากรหนาแน่น
 

หากปราศจากมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบ ในกรณีที่พิจารณาเฉพาะปัจจัยจากระดับน้ำทะเลพบว่าน้ำทะเลจะเข้าท่วมแผ่นดินประมาณ 4, 5.6, 6 และ 12 กิโลเมตร ภายในปี ค.ศ. 2030, 2050, 2070 และ 2100 ตามลำดับ

ในขณะที่ ถ.สุขุมวิท และ ถ.พระราม 2 อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลโดยประมาณ 3.5 และ 2 กิโลเมตร (ส่วนแคบที่สุด) จึงมีความเสี่ยง และเปราะบางสูง

 

4 แนวทางป้องกัน-ลดผลกระทบ

สำหรับแนวคิดเบื้องต้นในการป้องกัน และลดผลกระทบประกอบไปด้วย 4 แนวทาง (รูปที่ 2) คือ

1) ไม่ต้องทำอะไร (Do nothing)

2) การสร้างคันป้องกันริมชายฝั่งทะเล (Coastal Flood Dike) โดยการยกถนนเรียบชายฝั่งให้สูงขึ้น พร้อมปรับปรุงระบบระบายน้ำ และประตูน้ำ ตามแม่น้ำ และคูคลองต่างๆ

3) การเวนคืนที่ดินริมชายฝั่ง พร้อมปรับปรุงให้เป็นคันกั้นน้ำ และปลูกป่าชายเลนเป็นแนวกันชน (รูปที่ 3 Green Buffer zone) รวมทั้งการก่อสร้างประตูน้ำตามคูคลองค่างๆ

4) ก่อสร้างคันป้องกันพร้อมประตูระบายน้ำปิดปากอ่าว (Sea Barrage) โดยให้มีการใช้ประโยชน์เป็นเส้นทางการคมนาคมจาก จ.ชลบุรี มา จ.เพชรบุรี

เปิดแนวทางป้องกัน กทม.-ปริมณฑล จมน้ำทะเล คาดน้ำเข้าแผ่นดินในอีก 6 ปี

เปิดแนวทางป้องกัน กทม.-ปริมณฑล จมน้ำทะเล คาดน้ำเข้าแผ่นดินในอีก 6 ปี

“อนึ่งแนวทางทั้งหมดต้องทำการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ภาคประชาสังคมอย่างรอบด้าน (เนื่องจากมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลากหลาย) ถ้าปล่อยให้เวลาผ่านไปก็จะสายเกินกว่าที่จะป้องกัน และแก้ไขได้” รศ.ดร.เสรี กล่าวสรุป