6 ภารกิจเพื่อคนกรุง เช็กลิสต์งานค้าง ‘ชัชชาติ’ ผู้ว่าฯ กทม.

6 ภารกิจเพื่อคนกรุง  เช็กลิสต์งานค้าง ‘ชัชชาติ’ ผู้ว่าฯ กทม.

นับเป็นระยะเวลา 2 ปี 4 เดือน ภายใต้การทำงานของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 ท่ามกลางความคาดหวังของการเปลี่ยนโฉมกรุงเทพมหานคร

หลังจากเป็นผู้ว่าราชการที่ได้คะแนนเสียงท่วมท้น 1.38 ล้านเสียง สูงสุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ยื้อหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 4 หมื่นล้าน

ปัญหาหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ระหว่างกรุงเทพมหานคร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)​​ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงแม้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะประกาศหาข้อสรุปภายใน 1 เดือน หลังเข้ารับตำแหน่ง เพื่อสร้างความต่อเนื่องของการบริการขนส่งสาธารณะ

ล่าสุดวันที่ 25 ก.ค.2567 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ก้อนแรก 11,755 ล้านบาท ภายใน 180 วัน แต่ได้มีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยยังไม่มีการปฏิบัติตามคำพิพากษา

ขณะที่ยังเหลือหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าดังกล่าวอีก 3 ก้อน คือ หนี้ที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง 11,811 ล้านบาท , หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่พ.ย. 2565 ถึง มิ.ย.2567 วงเงิน 13,513 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมิ.ย.2567 ถึงครบสัญญาในปี 2585

โจทย์ใหญ่เมืองเพื่อขนส่งสาธารณะ

นโยบายสนับสนุนการเดินทางสาธารณะ กรุงเทพมหานคร มีนโยบายพัฒนาป้ายรถเมล์มีข้อมูลและสว่างปลอดภัยทุกป้าย จากก่อนหน้านี้กรุงเทพฯ มีป้ายรถเมล์ประมาณ 5,000 ป้าย และมีเพียง 600 ป้ายเท่านั้น ที่มีการพัฒนารูปแบบป้ายให้มีข้อมูลของรถเมล์ บอกเส้นทางเดินรถเมล์อย่างชัดเจน และมีหลายป้ายยังขาดแสงส่องสว่าง

 

ขณะที่การสรุปผลงานครบรอบ 2 ปี ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพ.ค.2567 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศยืนยันถึงการทำงานในช่วง 2 ปี สุดท้าย จะดำเนินการให้คนกรุงเทพฯ จะเดินทางสะดวกขึ้นด้วยบริการป้ายรถเมล์ดิจิทัลที่จะพัฒนาเพิ่ม 500 ป้าย การปรับปรุงศาลารถเมล์ 300 หลัง และจะมีการติดตั้งจอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารอีก 200 หลัง

6 ภารกิจเพื่อคนกรุง  เช็กลิสต์งานค้าง ‘ชัชชาติ’ ผู้ว่าฯ กทม.

Bangkok health zoning ยังไม่เกิด

นโยบายสาธารณสุขมีเป้าหมายยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสาธารณสุข ด้วยการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร เพื่อให้บริการประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น 

ผ่านมาแล้ว 2 ปี สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น ศบส.หน่วยบริการปฐมภูมิที่ควรมีบทบาทดูแลรักษาสุขภาพคนกรุงให้เหมือน รพ.ชุมชนของคนต่างจังหวัด ยังไม่ยกระดับเป็นหน่วยให้บริการตามสิทธิบัตรทอง 30 บาท ให้ประชากรในพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ และยังมีหน่วยบริการประจำตามสิทธิไม่พอ 

ส่วนการแก้ปัญหาความไม่คล่องตัวในการเข้ารับบริการหรือส่งต่อผู้ป่วยมีการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ หรือ “Sandbox ระบบสุขภาพ กทม.” ซึ่งมีเพียง “ดุสิตโมเดล” และ ”ราชพิพัฒน์โมเดล” ที่เป็นต้นแบบบูรณาการหน่วยบริการปฐมภูมิ ภาคีเครือข่าย และภาคประชาชน ทำให้ยังไม่เห็นภาพใหญ่ของ “Bangkok health zoning” ทั่วกรุงเทพฯ

 

ผังเมือง กทม.ประชาพิจารณ์ 2 ปี ไม่จบ

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปี พ.ศ.2556 ถูกต่ออายุใช้งานมากว่า 10 ปี ทั้งที่มีอายุใช้งานจริง 5 ปี โดยร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุง ครั้งที่ 4) ที่ทำร่วมกันทั้งสำนักการวางผัง และพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2564 ฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อออกแบบผังเมืองที่ทันสมัย และรองรับการการพัฒนาเมือง 

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ และปริมณฑล เปลี่ยนแปลงมาก โดยเฉพาะการคมนาคม และรถไฟฟ้า และโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลต่อการพัฒนาเมือง ดังนั้น ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่จะประกาศใหม่ควรส่งเสริมศักยภาพทำเล และไม่เพิ่มข้อจำกัดในการพัฒนาในอนาคต

ดังนั้น กำหนดการณ์เดิมที่จะประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครในเดือนพ.ย.2568 อาจเลื่อนออกไปอีกจึงรอความชัดเจนจากกรุงเทพมหานคร ว่าจะมีการบังคับใช้เมื่อไหร่

ถอดบทเรียนน้ำท่วมรับมือโลกร้อน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สรุปการทำงานรอบ 2 ปี โดยถอดบทเรียนน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปี 2565 พบจุดสำคัญที่ต้องแก้ไข 737 จุด และแก้ไขแล้ว 370 จุด และจะแก้ไขอีก 190 จุด ในปี 2567 ส่วนที่ต้องดำเนินการต่อครอบคลุมการทำท่อเชื่อมเร่งระบายน้ำ ก่อสร้างบ่อสูบน้ำและลอกท่อระบายน้ำ อาทิ การปรับปรุงระบบสูบน้ำ ถ.รัชดาภิเษก

ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาครัฐต้องเตรียมรับมือปริมาณน้ำฝนที่อาจสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยลอกคลองหรือกำจัดขยะและวัชพืชในคลอง และท่อระบายน้ำ รวมถึงการบำรุงรักษาบานประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำให้สมบูรณ์มากที่สุด และปรับปรุงคลองรัฐโพธิ์ให้พร้อมรับน้ำช่วงหน้าฝนเพื่อปกกันน้ำท่วมในอนาคต

อุปสรรค “กรุงเทพฯ” สมาร์ต ซิตี้

ปี 2565 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศนโยบายพัฒนากรุงเทพฯ เป็นสมาร์ต ซิตี้ภายใน 4 ปี โดยวางกรอบเมืองน่าอยู่ โครงสร้างพื้นการเดินทาง ระบบอินเทอร์เน็ต และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม

กรุงเทพฯ ได้รับการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์เมืองอัจฉริยะของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) มาตั้งแต่ปี 2560 แต่ยังมีปัญหาใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร แก้ไขไม่สำเร็จตามเป้าหมายปี 2567 คือ ปัญหาสายโทรคมนาคมตามเสาไฟฟ้า และสายสื่อสาร

ปัญหาดังกล่าวกรุงเทพมหานคร ต้องทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งมีการให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จัดหาผู้ประมูลสร้างท่อร้อยสายใหม่ แต่ไม่มีเอกชนรายใดมาเช่ามาเพราะราคาที่แพงกว่าการพาดสายบนเสาไฟฟ้ามาก จึงเป็นหนึ่งในอุปสรรคของเมืองอัจฉริยะ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์