นักวิจัย พบ ‘จุลินทรีย์’ 747 ชนิด อาศัยอยู่ใน ‘ไมโครเวฟ’ 

นักวิจัย พบ ‘จุลินทรีย์’ 747 ชนิด อาศัยอยู่ใน ‘ไมโครเวฟ’ 

นักวิจัยทึ่ง พบ “จุลินทรีย์” ทนความร้อนได้ถึง 747 ชนิด และระบบนิเวศที่หลากหลาย ใน “ไมโครเวฟ” แนะควรทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน

KEY

POINTS

  • นักวิจัยเพิ่งค้นพบว่ามีจุลินทรีย์อาศัยอยู่ใน “ไมโครเวฟ” มากถึง 747 สายพันธุ์
  • ไมโครเวฟที่ใช้ในบ้านและใช้ในออฟฟิศมีลักษณะที่คล้ายกัน มีแบคทีเรียที่พบในผิวหนังของมนุษย์ แตกต่างจากไมโครเวฟในห้องทดลองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก
  • ถึงจุลินทรีย์ในไมโครเวฟจะสร้างประโยชน์ให้แก่งานวิจัยอย่างไร แต่ก็ต้องคำนึงถึงความสะอาดของไมโครเวฟด้วยเช่นกัน เพราะสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถทำให้เราป่วยได้ทุกเมื่อ

จุลินทรีย์” เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ดีที่สุดชนิดหนึ่งบนโลก ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมาจุลินทรีย์พยายามปรับตัวเอาชีวิตรอด ไปอยู่อาศัยพื้นที่ใหม่ ๆ ตั้งแต่การรั่วไหลของน้ำมันในทะเล พลาสติกลอยในมหาสมุทร ไปจนถึงพื้นที่เขตอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และแม้แต่ภายในสถานีอวกาศนานาชาติ

ปัจจุบัน จุลินทรีย์ยังคงแสวงหาแหล่งที่อยู่ใหม่ ๆ ล่าสุดนักวิจัยเพิ่งค้นพบว่ามีจุลินทรีย์อาศัยอยู่ใน “ไมโครเวฟ” มากถึง 747 สายพันธุ์ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสุขอนามัยเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่มีศักยภาพอีกด้วย

 

ไมโครเวฟ บ้านหลังใหม่ของจุลินทรีย์

ไมโครเวฟ” ทำงานโดยทำให้โมเลกุลของน้ำภายในอาหารสั่นสะเทือน จนเกิดความร้อนจากการเสียดสีที่ทำให้ปรุงอาหารได้สุกและฆ่าแบคทีเรียที่อาจมีอยู่ในอาหาร แต่น้ำภายในจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บนพื้นผิวภายในไมโครเวฟไม่เพียงพอที่จะสร้างผลเช่นเดียวกันนี้ได้ ดังนั้นจุลินทรีย์เหล่านี้จึงอยู่รอดจากการช็อตไฟฟ้าได้

“การอุ่นอาหารแต่ละชนิดใช้เวลาและความร้อนที่ต่างกัน ดังนั้นจุลินทรีย์ขนาดเล็กซึ่งอาจผสมกับไขมันที่อยู่บนถาดแก้วรองไมโครเวฟ และมีชีวิตรอดได้”
มานูเอล พอร์การ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวาเลนเซียและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Darwin Bioprospecting Excellence บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสเปนกล่าว

นักวิจัยได้นำตัวอย่างจากไมโครเวฟ 30 เครื่องมาเพาะเชื้อและวิเคราะห์ดีเอ็นเอของจุลินทรีย์ที่พบ โดยมี 10 เครื่อมาจากไมโครเวฟที่ใช้ในครัวเรือน อีก 10 เครื่องเป็นไมโครเวฟที่ใช้ร่วมกันในสำนักงาน และที่เหลือมาจากห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ซึ่งใช้อุปกรณ์ในการให้ความร้อนกับสารละลายเคมี 

ผลการวิจัยว่าพบจุลินทรีย์ในไมโครเวฟทั้งหมด 747 สกุล โดยไฟลาที่พบมากที่สุดคือ เฟอร์มิคิวต์, แอคติโนแบคทีเรีย และโพรตีโอแบคทีเรีย ที่น่าสนใจคือ องค์ประกอบของชุมชนจุลินทรีย์ของไมโครเวฟที่ใช้ในบ้านและใช้ในออฟฟิศมีลักษณะที่คล้ายกัน ซึ่งมักจะมีแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ที่พบในผิวหนังของมนุษย์ และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ อยู่ในชุมชนจุลินทรีย์ด้วย และมักไม่ค่อยมีความหลากหลายทางชีวภาพมากนัก

“สายพันธุ์บางสกุลที่พบในไมโครเวฟในบ้านอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องทราบให้แน่ชัดว่าจุลินทรีย์ที่อยู่ในไมโครเวฟไม่ได้ทำให้คนป่วยมากกว่าจุลินทรีย์ที่อยู่ที่อื่น ๆ ในครัว” แดเนียล ทอร์เรนต์ ผู้เขียนร่วมในการศึกษานี้กล่าว

ในขณะที่ไมโครเวฟในห้องทดลองมีกลุ่มสายพันธุ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน มีความหลากหลายของสายพันธุ์มากที่สุด โดยเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียที่ต้านทานรังสีและอุณหภูมิสูงมาก เนื่องจากนักวิจัยต้องนำจุลินทรีย์จากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น บ่อน้ำพุร้อน ป่าฝนเขตร้อน หรือทะเลทรายที่แห้งแล้ง มาทำการทดลองเพื่อค้นหาสารพันธุกรรมที่อาจมีประโยชน์ในการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ในการพัฒนาน้ำยาบ้วนปากที่ไม่ฆ่าจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์

นอกจากนี้ จุลินทรีย์ที่พบในไมโครเวฟห้องทดลอง ยังมีลักษณะคล้ายกับแบคทีเรียที่พบอาศัยบนแผงโซลาร์เซลล์หรือใกล้กับแหล่งขยะนิวเคลียร์ เพราะจุลินทรีย์ทั้ง 2 แห่ง โดนร้อนอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ได้รับรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า และขาดน้ำในสภาพแวดล้อมที่มีรังสีสูง ทำให้พวกมันกลายเป็นจุลินทรีย์ที่มีความทนทานสูง และปรับตัวจนสามารถอยู่อาศัยได้

“เราต้องการพิจารณาไมโครเวฟในฐานะแหล่งที่อยู่จุลินทรีย์ และทำความเข้าใจว่ามีจุลินทรีย์ประเภทใดบ้างที่อยู่ในนั้น ไม่ว่าคุณจะกินปลา ไก่ นม หรืออะไรก็ตาม” พอร์การ์กล่าว

 

วิวัฒนาการของชุมชนจุลินทรีย์

จุลินทรีย์ไม่ได้มาอาศัยในบ้านของเราเฉย ๆ เท่านั้น แต่ยังสร้างรูปแบบและเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศภายในพื้นที่อยู่อาศัยของเราโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว สำหรับการค้นพบชุมชนจุลินทรีย์ในไมโครเวฟที่มีความทนทานต่อความร้อนและรังสี ทำให้เกิดคำถามว่าระบบนิเวศในครัวเรือนได้รับอิทธิพลจากนิสัยประจำวันของเราอย่างไร

การทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กับเศษอาหาร พื้นผิว และแม้แต่สภาพแม่เหล็กไฟฟ้าภายในไมโครเวฟ อาจให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับปัจจัยที่ขับเคลื่อนความหลากหลายของจุลินทรีย์ในบ้านของเรา และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่การวิจัยในอนาคตและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีชีวภาพ 

การทำความเข้าใจว่าจุลินทรีย์เหล่านี้เจริญเติบโตได้อย่างไรในสภาวะที่รุนแรงเช่นนี้อาจช่วยปูทางไปสู่การประยุกต์ใช้งานในหลากหลายสาขา รวมถึงการจัดการขยะ การฟื้นฟูทางชีวภาพ และแม้แต่ความปลอดภัยของอาหารอีกด้วย พร้อมส่งเสริมความสัมพันธ์ที่กลมกลืนมากขึ้นกับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อยู่อาศัยร่วมกับเราอีกด้วย

ถึงจุลินทรีย์ในไมโครเวฟจะสร้างประโยชน์ให้แก่งานวิจัยอย่างไร แต่ก็ต้องคำนึงถึงความสะอาดของไมโครเวฟด้วยเช่นกัน เพราะสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถทำให้เราป่วยได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไมโครเวฟในออฟฟิศที่ทุกคนมักละเลยและไม่เคยทำความสะอาด เพราะไม่ได้คิดว่าเป็นหน้าที่

ทอร์เรนแนะนำว่า ให้ฆ่าเชื้อไมโครเวฟด้วยสารละลายน้ำยาฟอกขาวเจือจาง หรือสเปรย์ฆ่าเชื้อที่มีจำหน่ายทั่วไปเป็นประจำ ที่สำคัญต้องเช็ดพื้นผิวภายในด้วยผ้าชื้นหลังการใช้งานทุกครั้ง เพื่อขจัดคราบตกค้างและทำความสะอาดคราบที่หกทันทีเพื่อป้องกันการเติบโตของแบคทีเรีย 

ดังนั้นอย่าลืมทำความสะอาดไมโครเวฟ
 

ที่มา: EarthNew ScientistThe Wall Street Journal