‘โอสถสภา’ มั่นใจภารกิจความยั่งยืน บรรลุเป้าปี 68 เดินหน้าต่อ ควงคู่ค้าทั้งห่วงโซ่อุปทาน สาน ‘ESG’
ภารกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การรักษ์โลก เพื่อมุ่งสร้างยั่งยืนกลายเป็นหน้าที่ทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรธุรกิจ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่เข้มข้น เป็นรูปธรรม วัดผลลัพธ์การทำงานว่าบรรลุเป้าหมายอย่างไร
“โอสถสภา” เป็นองค์กรกว่า “ร้อยปี” ยืนหนึ่งขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างอาณาจักรระดับ “หมื่นล้านบาท” เติบโตจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างยั่งยืน เพราะบริษัทให้ความสำคัญทั้งการผลิตสินค้าดีมีคุณภาพ ตอบสนองผู้บริโภค การดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม
ทว่า ปี 2562 “โอสถสภา” ได้กำหนดกรอบการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน วาง “เป้าหมาย” อย่างชัดเจน ก้าวแรกคือปี 2568 การทำงานจะต้องเห็นผลสัมฤทธิ์ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม(Environment) เติบโตคู่สังคม(Social) และยึดมั่นในธรรมาภิบาล(Governance)หรือหลัก ESG
คุณวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า ภารกิจรักษ์โลก ผ่านการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 โดย 3 เป้าหมายสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้สำเร็จภายในปี 2568 ประกอบด้วย ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลนั้น ถือว่ากระบวนการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากเข้าใกล้ความเป็นจริงทุกขณะ บางส่วนยัง “เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้” ยิ่งกว่านั้น “โอสถสภา” ยังมองก้าวต่อไป ในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อแก้วิกฤตโลกภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate change) ควบคู่การมุ่งเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2593
“E-สิ่งแวดล้อม” ใกล้เป้าหมายทุกขณะ
หลายปีที่ผ่านมา “โอสถสภา” ลงมือปฏิบัติหลากหลายด้าน เพื่อผลักดันให้การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบรรลุเป้าหมายปี 2568 เมื่อเจาะลึกแต่ละมิติ เริ่มจาก E: Environment ได้แก่
ด้านบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน กำหนดเป้าหมายภายในปี 2573 บรรจุภัณฑ์ของโอสถสภาทั้ง 100% ต้องนำไปรีไซเคิล(Recycle) ใช้ซ้ำ (Reuse) และย่อยสลาย (Decomposable)ได้
“ด้านบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน เรามีการบริหารจัดการทั้งก่อนและหลังการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยก่อนผลิต มีการพัฒนานวัตกรรมให้ขวดแก้วมีน้ำหนักเบา แข็งแรง ควบคู่ไปกับการลดต้นทุน ในส่วนหลังผลิตและออกสู่ท้องตลาดไปแล้ว โอสถสภามีการดำเนินการเก็บขวดแก้วกลับคืนสู่กระบวนการรีไซเคิล ภายใต้โครงการจากขวดแก้วสู่ขวดแก้ว (Bottle to Bottle) โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 230,000 ตันต่อปี”
ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งเป้าลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลง 40% ในปัจจุบันขยับเข้าใกล้เป้าหมายเข้าไปทุกขณะ โดยทำได้อยู่ที่ 30%ด้านการจัดการพลังงานและการบริการ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีหลายเป้าหมายทั้งการลดใช้พลังงานลง 10% ซึ่งปัจจุบันทำได้ตามเกินหมายแล้วอยู่ที่ 24% ผ่านโครงการต่างๆ เช่น นำความร้อนกลับมาใช้ผลิตไอน้ำสำหรับใช้ในโรงงานผลิตเครื่องดื่มขณะเดียวกันเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในกระบวนการผลิตลดลง 15% ขณะนี้ทำ “เกินกว่าเป้าหมายที่ 28%” จากการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้พลังงานทางเลือก รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เช่น พลังงานชีวมวล ฯ เพื่อสานเป้าหมายระยะยาวการเป็นองค์กร “Carbon Neutral ปี 2593”
หนุนผู้บริโภคมีสุขภาพดีผ่านสินค้าของ “โอสถสภา”
ด้านสังคมหรือ S-Social
“พันธกิจสำคัญคือการสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีผ่านสินค้าของโอสถสภา (Consumer Health & Well Being) ซึ่งกลุ่มเครื่องดื่มมีการพัฒนาสูตรลดน้ำตาลน้อยลงกว่า 6% ทุกรายการ ส่วนกลุ่มสินค้าสุขภาพและลูกอม เดิมบริษัทตั้งเป้าหมายจะทำให้ได้ 50% แต่เราทำเกินเป้าหมายไปถึง 65% ของพอร์ตโฟลิโอ เพราะเทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ใส่ใจและรักสุขภาพมากขึ้น ทำให้การปรับสูตรสินค้าตอบโจทย์ได้เร็ว สอดรับความต้องการดังกล่าว”
นอกจาก “ลดน้ำตาล” บริษัทยังเติม “โภชนาการ” เอาใจผู้บริโภครักสุขภาพมากขึ้นด้วย เช่น ซี-วิท “เบอร์ 1” เครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริงค์ ได้เพิ่มปริมาณวิตามินซี 1,000 มิลลิกรัม(มก.) จาก 120 มก. เครื่องดื่มบำรุงกำลังมีการเติมวิตามินต่างๆ เช่น เอ็ม-150 มีวิตามินบี 6 และบี12 เครื่องดื่มเอ็ม-150 สปาร์คกิ้ง ซึ่งลุยตลาดเมื่อปี 2566 มีทั้งวิตามินบี3 บี6 และ บี12 ใช้คาเฟอีนธรรมชาติและไม่มีน้ำตาล ช่วยเติมความสดชื่นพร้อมให้วิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และครื่องดื่มผสมนมเปรี้ยว “คาลพิส” ที่นอกจากมีจุดเด่นด้วยจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสสูตรเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น ยังเพิ่มคุณประโยชน์จากส่วนผสมไฟเบอร์ 5,000 มก. มีสูตรไม่เติมน้ำตาล เรียกว่าตอบโจทย์สุขภาพและรสชาติที่โดนใจ
บริษัทพร้อมพัฒนาสินค้าสูตรใหม่เพื่อรับความเปลี่ยนแปลง โดยยังคงตอบโจทย์สุขภาพคู่ความอร่อยให้กับผู้บริโภค เช่น การลดน้ำตาลให้เหลือ 5% รวมถึงเตรียมพร้อมรับกฎหมาย EPR ที่จะบังคับใช้ในอนาคต เป็นต้น
“เราต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ให้พร้อมรับกติกาใหม่ๆอยู่เสมอ”
เติบโตร่วม “คู่ค้า” ทั้งห่วงโซ่อุปทาน
ในการเติบโตอย่างยั่งยืน ถ้าเราไปคนเดียวไปได้ไว แต่ถ้าเราจะไปได้ไกลเราต้องไปด้วยกัน เพราะธุรกิจเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) จำนวนมากในห่วงโซ่คุณค่าการผลิต
โอสถสภามุ่งเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อเติบโตร่วมกับคู่ค้า เช่น การส่งเสริม สนับสนุนคู่ค้ารายย่อยที่จัดหาวัตถุดิบเศษแก้วเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์และวัตถุดิบสมุนไพรขิง ไร่อ้อย ซึ่งปัจจุบันได้มีการส่งเสริม สนับสนุนแล้ว 458 ราย เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่จำนวน 450 ราย การช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่จัดหาวัตถุดิบสมุนไพรในท้องถิ่นไปแล้ว 291 ราย จากเป้าหมาย 500 ราย รวมถึงการประเมินด้าน ESG กับ “คู่ค้า” สำเร็จแล้ว 100% เป็นการวางรากฐานสำคัญในการเคลื่อนความยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว มีการพัฒนาต่อเนื่องทุกปี เพื่อสอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
โอสถสภา จึงกำหนดเป้าหมายด้านธรรมาภิบาล หรือ G-Government เพื่อการเติบโตร่วมกันทั้งองคาพยพของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งเกษตร คู่ค้า ซัพพลายเออร์ต่างๆ ซึ่งจุดนี้นับเป็น “ความท้าทาย” อย่างยิ่งยวด เพราะเป็นภารกิจสานความยั่งยืน รวมไปถึงการเก็บข้อมูลและการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจำเป็นต่อการวางแผนการจัดการในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกันด้วย
จากที่กล่าวข้างต้น “โอสถสภา” ไม่เพียงเลือกใช้วัตถุดิบทางการเกษตรที่ยั่งยืนไปถึงแหล่งผลิตหรือ Sustainable Sourcing แต่ยังรวมถึงการช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตให้คู่ค้าท้องถิ่นที่เป็นเกษตรกร ส่วนฝั่งซัพพลายเออร์ นอกจากมีการประเมินคู่ค้าด้าน ESG ทุกปีแล้ว ยังมีการทำงานร่วมกันใกล้ชิดในด้านอื่นๆด้วย
นอกจากนี้ ได้สื่อสารกับคู่ค้าเพื่อทำความเข้าใจถึงกรอบการทำงาน เป้าหมาย และนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจก การจัดอบรม Supplier Day เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนจรรยาบรรณทางธุรกิจซึ่งปี 2567 มีคู่ค้ากว่า 200 ราย เข้าร่วมกิจกรรม ที่สำคัญยังมีการหารือ ต่อยอดการให้ความรู้เรื่องดังกล่าวกับทางคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอด้วย
“เรามีการพูดคุยกับคู่ค้าเกือบทั้งหมด เพื่อประกาศนโยบายด้านความยั่งยืนของโอสถสภา แนวทางการทำงาน ตลอดจนเป้าหมายด้าน ESG ให้คู่ค้ารับรู้เกณฑ์การทำงานร่วมกัน บริษัทยังจัดอบรม เทรน และคุยแผนงานกับซัพพลายเออร์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แทรกการเผชิญ Climate Change เพื่อให้เข้าใจ และร่วมมือทำงานไปทิศทางเดียวกัน”
รับมือ Climate Change พร้อมมุ่งเป็นองค์กร “Carbon Neutral”
แผนระยะยาว “โอสถสภา” ยังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนอกเหนือจากกรอบการทำงานตามหลัก ESG ที่บันไดขั้นแรกจะบรรลุเป้าหมายปีหน้า บริษัทยังวางแผนก้าวต่อไปในปี 2569 ที่จะมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดกับสังคม และมีธรรมภิบาลเข้มขึ้นขึ้น
พร้อมกันนี้ บริษัทจะมุ่งเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutral ภายในปี 2593 โดยมี 3 กลยุทธ์สำคัญ สานเป้าหมาย ได้เแก่ “เปลี่ยน ลด ชดเชย” เช่น การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานในกระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนอกเหนือจากการดำเนินงานที่ผ่านมา โอสถสภาเตรียมจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย ในส่วนของการมาของกฎหมายใหม่ๆและมาตรฐานใหม่ๆที่จะตามมา โอสถสภา ไม่มองแรงกดดันเหล่านั้นมาเร็วกว่าที่คิด เพราะบริษัทมีการเตรียมแผนงาน แนวทางการปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ อย่างยั่งยืนได้เร็วกว่าสิ่งที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และปัจจุบันยังมอนิเตอร์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โอสถสภา พร้อมรับทุกแรงกดดัน ด้วยแผนงานและแนวทางการปฏิบัติที่ล้ำหน้า มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อความมั่นใจในทุกก้าวสู่อนาคต โดยมีกำหนดแผนการพัฒนาด้านความยั่งยืน ประเด็นสำคัญสำหรับธุรกิจ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและเกิดผลกำไรสูงสุด