‘ทะเลทรายซาฮารา’ มีต้นไม้ขึ้นเขียว จนผิดธรรมชาติ หลังพายุถล่ม ‘แอฟริกา’ 

‘ทะเลทรายซาฮารา’ มีต้นไม้ขึ้นเขียว จนผิดธรรมชาติ หลังพายุถล่ม ‘แอฟริกา’ 

พื้นที่บางส่วนของ “ทะเลทรายซาฮารา” มีพืชพรรณต่าง ๆ งอกงามอย่างรวดเร็ว กำลังกลายเป็นสีเขียว จนผิดธรรมชาติ หลังพายุถล่ม ‘แอฟริกา’ จนสามารถมองเห็นได้จากอวกาศ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่ควรจะเป็นเช่นนี้

KEY

POINTS

  • พื้นที่แห้งแล้งในทะเลทรายซาฮารากำลังเริ่มมีสีเขียวขึ้น จากการงอกงามของไม้พุ่มและต้นไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำ หลังจากที่เกิดพายุและฝนตกหนัก 
  • สาเหตุมาจากร่องมรสุมเคลื่อนตัวไปทางเหนือมากกว่าปรกติ ซึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อนและช่วงเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญมาสู่ลานีญา
  • น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 4 ล้านคนใน 14 ประเทศ ทำให้ผู้คนหลายพันคนเสียชีวิตหรือต้องอพยพ

เมื่อไม่นานมานี้ เกิด พายุ พัดผ่านมาในพื้นที่ทางตอนใต้ของ ทะเลทรายซาฮารา จนดาวเทียมของนาซาได้บันทึกภาพพืชพรรณที่บานสะพรั่ง ทั้ง ๆ ที่พื้นที่บริเวณนี้ไม่ควรมีเป็นสีเขียวด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ด้วย นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเหตุการณ์นี้จาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

พื้นที่แห้งแล้งที่ไม่มีฝนตกในโมร็อกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย และลิเบีย กำลังเริ่มมีสีเขียวขึ้น จากการงอกงามของไม้พุ่มและต้นไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำ หลังจากที่เกิดฝนตกหนัก โดยปีเตอร์ เดอ เมโนคาล ประธานและผู้อำนวยการสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล กล่าวว่า “เมื่อมีฝนตกหนักเป็นพิเศษ เนินทรายจะกลายเป็นทุ่งดอกไม้สีเขียวชอุ่ม พืชพรรณต่าง ๆ จะเติบโตในทันทีในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากฝน” 

ปรกติแล้ว ปริมาณน้ำฝนทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรในแอฟริกาจะเพิ่มขึ้น ช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน เนื่องจากมรสุมแอฟริกาตะวันตกเริ่มก่อตัว จะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นเมื่ออากาศชื้นจากเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร พัดมาปะทะกับอากาศร้อนและแห้งจากภาคเหนือของทวีป เมื่อรวมกับแสงแดดที่รุนแรง และน้ำทะเลอุ่น ๆ ทำให้เกิดอากาศชื้นลอยขึ้น มีเมฆ ฝน และพายุฝนฟ้าคะนองตลอดเวลา

พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นเรียกว่า “ร่องความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตร” (Intertropical Convergence Zone : ITCZ ) หรือ “ร่องมรสุม” จะเคลื่อนตัวไปทางเหนือของเส้นศูนย์สูตรในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ และส่วนใหญ่ลดตัวลงทางใต้ของเส้นศูนย์สูตรในช่วงที่ซีกโลกใต้มีอากาศอบอุ่น

‘ทะเลทรายซาฮารา’ มีต้นไม้ขึ้นเขียว จนผิดธรรมชาติ หลังพายุถล่ม ‘แอฟริกา’  ภาพถ่ายดาวเทียมจากนาซาแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารามีสีเขียวมากกว่าปรกติ

ตามข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศของ NOAA พบว่า ร่องมรสุมเคลื่อนตัวไปทางเหนือมากกว่าปรกติ แต่ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีพายุพัดเข้าสู่ ทะเลทรายซาฮาราตอนใต้ รวมถึงบางส่วนของไนเจอร์ ชาด ซูดาน และภูมิภาคเหนือไกลของลิเบีย ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น 2-6 เท่า

คาร์สเตน เฮาสไตน์ นักวิจัยด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยไลพ์ซิกในเยอรมนีกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ร่องมรสุมเคลื่อนตัวไปทางเหนือมากกว่าปรกติมีด้วยกัน 2 สาเหตุ

1. การเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญเป็นลานีญาส่งผลต่อการเคลื่อนตัวไปทางเหนือของโซนนี้ในช่วงฤดูร้อนปี 2024

เอลนีโญจะทำให้มีอุณหภูมิมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเส้นศูนย์สูตรสูงกว่าปรกติ ซึ่งจะทำให้แอฟริกาตะวันตกมีฝนตก ส่วนแอฟริกากลางมีสภาพอากาศแห้งแล้งกว่าปรกติ ส่วนลานีญาจะทำให้มีผลตรงกันข้าม

2. “ภาวะโลกร้อน” ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว เฮาสไตน์ระบุว่าร่องมรสุม เป็นสาเหตุที่ทำให้แอฟริกาเขียวชอุ่มขึ้น เพราะร่องมรสุมจะเคลื่อนตัวไปทางเหนือมากขึ้นเมื่อโลกอุ่นขึ้น” 

การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า เหตุการณ์ที่ร่องมรสุมขึ้นไปทางเหนือมากขึ้นจะเกิดบ่อยกว่าเดิมในอีกสองสามทศวรรษข้างหน้า เนื่องจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มมากขึ้น และอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้

การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ทะเลทรายกลายเป็นสีเขียวเท่านั้น แต่ยังส่งทำให้พายุเฮอริเคนที่แอตแลนติกรุนแรงขึ้นอีกด้วย ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อหลายประเทศในทวีปแอฟริกาช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา 

โดยประเทศที่ควรจะมีฝนตกกลับมีฝนน้อยลง เนื่องจากพายุเคลื่อนตัวไปทางเหนือ ปรกติแล้วช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ไนจีเรียและแคเมอรูนจะมีปริมาณน้ำฝนอย่างน้อย 20-30 แต่ข้อมูลของ CPC พบว่าในปี 2024 กลับมีฝนตกเพียง 50-80% ของปริมาณน้ำฝนที่ควรจะมีเท่านั้น

ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือของทวีปที่ควรจะต้องแห้งแล้ง เช่น บางส่วนของไนเจอร์ ชาด ซูดาน ลิเบีย และอียิปต์ตอนใต้ กลับมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 400% ของปริมาณน้ำฝนปรกติตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม

ลองพิจารณาพื้นที่ทางตอนเหนือของชาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายซาฮารา ควรจะมีฝนตกไม่เกิน 1 นิ้วในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนกันยายน แต่ในปี 2024 กลับมีฝนตก 3-8 นิ้ว ซึ่งฝนที่ตกมากเกินไปทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในชาด ประชาชนเกือบ 1.5 ล้านคนได้รับผลกระทบ และอย่างน้อย 340 รายเสียชีวิตจากน้ำท่วมนี้ 

เช่นเดียวกับไนจีเรียที่ผสมกับอุทกภัยร้ายแรง จนคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 220 รายและทำให้ผู้คนหลายแสนคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ขณะที่ซูดานเจอน้ำท่วมช่วงปลายเดือนสิงหาคม คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 132 ราย และทำลายบ้านเรือนไปกว่า 12,000 หลัง

จากข้อมูลของโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 4 ล้านคนใน 14 ประเทศ ทำให้ผู้คนหลายพันคนเสียชีวิตหรือต้องอพยพ อีกทั้งพืชผลทางการเกษตรเสียหาย ยิ่งทำให้สถานการณ์ขาดแคลนอาหารรุนแรงมากขึ้นไปอีก

เมื่อโลกร้อนขึ้น โลกจะสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น ซึ่งอาจเกิดมรสุมที่ทำให้ฝนตกมากขึ้นและเกิดน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้นเหมือนในปี 2024 แต่ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทมากเพียงใดในเหตุการณ์น้ำท่วมแต่ละครั้ง 


ที่มา: ABC NewsCNNThe Washington PostWION