ดร.สุเมธ ย้ำเศรษฐกิจพอเพียง หนุนความยั่งยืน เสริมภูมิคุ้มกันให้ภาคธุรกิจ

ดร.สุเมธ ย้ำเศรษฐกิจพอเพียง หนุนความยั่งยืน เสริมภูมิคุ้มกันให้ภาคธุรกิจ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา ย้ำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มุ่ง พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน สร้างธุรกิจยั่งยืน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา องค์ปาฐก ประธานในพิธีเปิดงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้มีขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว อย่างแรกขอชื่นชมคณะผู้จัดงานอย่างใจจริง ในการสืบสานเจตนารมย์ความยั่งยืนมาตลอด เพราะโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ประชากรของโลก จำเป็นต้องปรับตัวและรับมือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยั่นที่วางไว้ Sustainable Development Goals ภายในปี 2030 

ทั้งนี้คณะผู้จัดงานอยากให้มาอธิบาย "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" หรือ Sufficiency Economy โดยเป็นสิ่งที่บรรยายมาตลอด 20-30 ปีแล้ว แต่อาจจะยังมีความเข้าใจไม่ชัดเจนและมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่ คนเข้าใจถึงการปลูกอะไรสักอย่าง หรือ คนเข้าใจปลูกทุกอย่างที่กิน 

 

 

 

สำหรับ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" จัดตั้งมาตั้งแต่ช่วงปี 2542 หลังจากเกิดเหตุการณ์ใน 2539 ที่เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้บ้านเมืองกระทบหนัก มีหนี้สินเพิ่มเท่าตัว กิจกรรมต่างๆ ไปไม่ได้ ทุกข์ร้อนไปหมดทั้งหมด ต่อมามีไอเอ็มไอเอฟมาแก้ไข 

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9" ได้ทิ้งเวลาสามปี จนกระทั่งปี 2542 เริ่มกล่าวคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ตอนแรกไม่คนไม่ค่อยเข้าใจกัน พระองค์ท่านอธิบายซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

หลังจากนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฉบับที่ 8 และ 9 จึงได้นำมาบรรจุในแผนฯ โดยช่วงเวลาดังกล่าวทางเลขา “สรรเสริญ”  ได้ปรึกษาหารือ อยากให้มีคำจำกัดความที่แน่ชัด จึงกราบบังคมทูล หลังจากนั้นจึงมีพระราชทานคำจำกัดความอย่างเป็นทางการ ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนพูดเศรษฐกิจพอเพียง โดยไม่เห็นคำจำกัดความ อ่านครั้งแรกได้ความหมายอีกอย่าง อ่านครั้งที่สอง ความหมายอีกอย่าง

ดร.สุเมธ ย้ำเศรษฐกิจพอเพียง หนุนความยั่งยืน เสริมภูมิคุ้มกันให้ภาคธุรกิจ

ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด แท้ที่จริงแล้วพระองค์ท่านเตือนเราหมดทุกอย่าง เราแปรไม่ออกเอง โดยน่าทึ่งอย่างยิ่งใน 13 บรรทัด ที่พระองค์ได้เขียนคำจำกัดความนั้น เตือนสิ่งหนึ่งถึงสามครั้ง หมายความว่าทุก 4 บรรทัด ทรงเตือนเรื่องนี้ เรื่องเดียวคือ “การเปลี่ยนแปลง” ณ วันนั้นในปี 2542 เราคิดว่า "เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ" เป็นเรื่องทั่วไป คือการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ

แต่หลังเกิดโควิดมา เครื่องบินหายไปจากท้องฟ้า ชีวิตปรับเปลี่ยนหมดเลย วันดีคืนดี เกิดน้ำท่วมภาคเหนืออย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน พอน้ำลดเหลือสิ่งของอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งดิน ทราย ก่ายกองจำนวนมาก ก่อนทรายมา มีท่อนซุงลอยเต็มไปหมดและเป็นท่อนซุง ที่ตัดแล้วแบบไม่มีรากติดมาด้วย

ในปัจจุบันจำนวนประชากรมากขึ้นๆ พฤติกรรมของมนุษย์ผู้สร้างและผู้ทำลาย สำนวนไทย “ผู้สร้างและผู้ทำลาย” มนุษย์สร้างสรรค์มากมาย รวมถึงเอไอ ต่างๆ มากมายก่ายกอง 

ผลสุดท้าย ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้าง นวัตกรรม อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน นำเอาทรัพยากร วัตถุดิบต่างๆ ทุกอย่างมาจากโลกทั้งหมด โลกใบนี้ไม่ใหญ่เลย ถ้านับจากประชากรที่มีการประเมินว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนถึง 9,000 ล้านคน วันนี้อยากถามทุกคนว่า เราบริโภค ด้วยเหตุผล ด้วยผลหรือเปล่า หรือเราบริโภคด้วยความโลภ

คำถามนี้ต้องตอบด้วยตัวเอง ดูของในบ้าน อาจเรียกของประดับ เสื้อผ้า เครื่องประดับเฟอร์นิเจอร์ นักวิทย์ฯ คำนวณบอกไว้ว่า 70% ในบ้านไม่มีความจำเป็นในชีวิต แต่เรามี ขอเตือนความจำของทุกอย่างแต่ละชิ้นมีทุน ต้องนำมาแลก และสิ่งที่ต้องนำมาจากแผ่นดินไม่มีวันหมด แต่น้ำมันเริ่มใกล้หมด โดยน้ำมันถือเป็นพาหะอำนวยความสะดวก ที่เริ่มใกล้หมดแล้ว มนุษย์พยายามแสวงหาทางออก ใช้พลังงานทดแทนต่างๆ 

จากเวลาสั้นๆ สรุปได้ว่า พระองค์สอนไว้คือ “ต่อไปนี้ไม่ว่าทำอะไร ขอผ่านกระบวนการความคิด" โดยมี 3 องค์ประกอบของความคิดคือ

  1. พอประมาณ
  2. มีเหตุมีผล
  3. มีภูมิคุ้มกัน

ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม การเกษตรและทำธุรกิจ ก่อนทำอะไร ต้องพอประมาณตน ที่เรียกว่า การประเมินตน หรือต่างชาติบอกคำว่า “Self assessment” อย่าง "นักธุรกิจ" ก่อนลงทุนก็ต้องประเมินก่อน จ้างคนมาพิจารณา ต้องดูทุน ตลาด มีกระบวนการความคิด โดยเศรษฐกิจพอเพียงคือ “ความคิด" ต้องใช้สติปัญหา ประเมินทุกอย่าง ทั้งทุนทรัพย์ และทุนตลาดต่างๆ 

คำที่สองคือ “เหตุผล” ตามหลักชาวพุทธคือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” ทุกอย่างที่ใช้ปัญญาคือ “เหตุผล” ถ้าไม่ใช้เหตุผล สิ่งที่ตามมาคือ “กิเลส” นักลงทุนเห็นตลาดโต จึงสนใจไปลงทุนกู้เงินจำนวนมาก พอมีการลงทุนและเจ๊งไป ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้มาหลายกรณี จากการทำตามกระแส ไม่ได้ประเมินทุนหรือประเมินตลาด 

คำที่สาม “ระวังให้ดีทุกอย่างมีความเสี่ยง” Risk management ที่พระเจ้าอยู่หัวบอก “สร้างภุมิคุ้มกัน” หากเกิดอะไรมาและเราสามารถอยู่รอด อย่างสาขาเกษตร พระองค์ท่านบอก อย่าปลูกพืชเดี่ยว ถ้าเป็นอะไรมา เจ๊งเลย โดยโลกตอนนี้ทำให้ผู้ที่ประกอบธุรกิจมีจึงกฎบังคังคับจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในหลายด้าน ทั้งการกำหนดเรื่อง Zero pollution, Singular economy เป็นต้น 

อีกด้านคนไทยผิวเผิน คนไทยชอบทำอะไรผิวเผินไปหมด หากถามเรานับถือศาสนาอะไร เราชาวพุทธมีการกราบ แต่หลักพระธรรมหายไป หรือบางคนนิยมพระเครื่อง แต่หัวใจพุทธปรัญชาคือ การเพ่งพิจารณา คือ ปัญญา คือ การมี ภูมิคุ้มกัน ใช้ปัญญาป้องกันความเสี่ยง อะไรเกิดมาต้องมีภูมิคุ้มกัน 

อีกอย่าง โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกด้าน รวมถึงการเรียน ต้องมีการเปลี่ยนหลักสูตร และองค์ความรู้ โดยต่างประเทศเจอปัญหาแล้วที่ไม่มีคนเรียนหากสอนหลักสูตรแบบเดิม เนื่องจากคนต้องการความรู้สมัยใหม่ แตกต่างจากยุคของเราในช่วง 10-20 ปี ดังนั้นควรมีการเปลี่ยนแปลง ทำหลักสูตรใหม่ หรืออาจทำคอร์สสั้นๆ เมื่อเรียนจบและทำงานได้เลย ทุกอย่างต้องพิจารณาระบบทั้งระบบ เปลี่ยนทันไหม 

มีอีกคำคือ “ดิสรัปชั่น” ทุกคนต้อง "รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง ติดตามข่าวสาร"  เนื่องจากโลกไม่มีพรมแดน สิ่งที่เกิดอีกซีกโลกกระเทือนถึงทุกคน อีกฝากโลกรบกันเราคิดว่ารอด ปรากฎว่า การรบกันทำให้ราคาปุ๋ยต่างๆ ขึ้น มีผลกับเรา โลกนี้เป็นหนึ่ง ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันหมด 

สิ่งสุดท้ายพระองค์เตือนไว้ “อยากได้ความสมดุล มั่นคง ยั่งยืนนั้น” ต้องมีคุณธรรมอย่าโกง อย่าทุจริต และไม่คอรัปชัน

“ผมเดินเรียนรู้ ถวายงาน ผมเป็นนักเรียนมา 35 ปี เดินตามเรียน ดิน น้ำ ลม ไฟ สุดท้ายพระองค์ท่านเน้นความดี ไม่ทุจริตคอรัปชัน ครั้งแรกและครั้งเดียว ที่เห็นท่านทรงแช่งคน ใครทุจริตแม้นิดเดียวให้มีอันเป็นไป รับสั่งอย่างรู้พระองค์ด้วย ผมจำได้อย่างแม่นยำ สุดท้ายก็ให้พร ใครไม่ทุจริต คอรัปชัน ให้มีอายุยืนร้อยปี ท่านตั้งความหวังอีก 10 ประเทศชาติเจริญ ทุจริตคอรัปชันลดลง แต่ผ่านมา 10-20 ปีแล้ว จนถึงปัจจุบันไม่สำเร็จ”

ในปัจจุบันมีคำว่า “Good Governance” และ "Corporate Governance" มีเครื่องหมายคำถามอยู่ข้างหลัง และเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ด้วย โดยทุกอย่างเมื่อมีแผนแล้ว ต้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจังและสำเร็จตามแผนให้ได้ 

“ผมได้พูดกับ รมว. อว. ทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์สอนหมด ดิน น้ำ ลม ไฟ การบริหารแม่น้ำโขง สอนไว้หมด ทำตัวอย่างให้ดูด้วย ทำตัวอย่างดูให้หมด ไม่มีใครสนใจ มีแต่เดินมาชื่นชม แสดงความปิติ แต่ไม่ได้นำสิ่งต่างๆ นำองค์ความรู้พระราชทานไว้บนผืนดินไปทำ เราจึงทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า” 

สุดท้ายในต่างจังหวัด เวลาพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ต้องหยิบยกในเรื่องปลูกผัก แต่ก่อนใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ควรมีการประเมินในทุกด้าน โดยการทำเกษตรต้องรู้จักดินในพื้นที่เป็นอย่างไร เหมาะกับการปลูกผักอะไร หรือถามกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อให้ประเมินก่อนว่าสภาพที่ดินเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งดินทั้งประเทศมีความแตกต่างกัน ต่อมาต้องประเมินว่ามีน้ำไหมเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากพืชแต่ละสายพันธุ์ต้องการน้ำไม่เท่ากัน ไม่ใช่มุ่งปลูกแต่ข้าว แต่ข้าวใช้น้ำมากกว่าพืชอื่น 10 เท่า ทุกอย่างต้องปรับตัวตามภูมิสังคม ดังนั้นการทำเกษตรขอให้คิดๆ และให้ใช้ปัญญาตัดสิน 

ท้ายที่สุดแผ่นดินนี้ลูกหลานต้องอยู่ต่อ และต้องส่งต่อไปอีก ทุกคนต้องทำเพื่อตัวเอง และส่งผ่าน ส่งต่อ ส่งทรัพยากรทั้งหลายที่มีอยู่อย่างพอเพียงจนถึงรุ่นลูก โดยรุ่นลูกเรา ต้องรักษาและส่งต่อให้ลูกและหลานต่อไป ทั้งหมดแสดงถึงคำว่า "ยั่งยืน" คือ ส่งต่อรุ่นต่อรุ่นไป มีความสุขตามอัตภาพ 

“ในปีนี้คนมาร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง มีคนมาเพิ่มขึ้น แสดงว่าคนมีความปรารถนาในเรื่องนี้ ขอเปลี่ยนความปรารถนาสู่การกระทำ เราอยากเห็นแผ่นดินนี้รอด อยากให้ลูกหลานเรารอดบนแผ่นดินทองนี้ เชื่อมั่นว่าเราสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ถ้าหากเรารวมด้วยสปิริตนี้” 

ดร.สุเมธ ย้ำเศรษฐกิจพอเพียง หนุนความยั่งยืน เสริมภูมิคุ้มกันให้ภาคธุรกิจ