หมดยุค ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ‘อังกฤษ’ ปิดฉาก 142 ปี ยุคใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า

หมดยุค ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ‘อังกฤษ’ ปิดฉาก 142 ปี ยุคใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า

“อังกฤษ” สิ้นสุดยุคผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เมื่อ “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” แห่งสุดท้ายปิดตัวลง หลังจากใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้ามานาน 142 ปี

KEY

POINTS

  • สหราชอาณาจักรปิดโรงงานไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายของประเทศ ถือเป็นการสิ้นสุดยุคการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ
  • ในช่วงต้นยุค 80 สหราชอาณาจักรใช้พลังงานถ่านหินผลิตไฟฟ้ามากถึง 80% และลดลงเหลือ 40% ในปี 2012 จากนั้นก็ลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากภาษีคาร์บอนมีราคาแพง และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น
  • สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 ที่ยุติการใช้พลังงานถ่านหิน

30 กันยายน 2024 เป็นวันสุดท้ายที่โรงไฟฟ้าแรตคลิฟฟ์-ออน-ซอร์ (Ratcliffe-on-Soar) โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายของอังกฤษเปิดทำการ หลังจากผลิตไฟฟ้าให้อังกฤษมาเป็นเวลา 57 ปี ตามนโยบายยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 

การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนี้ถือเป็นสิ้นสุดยุคการใช้พลังงานถ่านหินของอังกฤษ ที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 142 ปี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อโรงไฟฟ้าฮอล์บอร์นไวอะดัคท์ (Holborn Viaduct) โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกของโลก เริ่มผลิตไฟฟ้าในปี 1882

นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมยกย่องการปิดโรงไฟฟ้าครั้งนี้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของรัฐบาลในการลดการปล่อยคาร์บอนของสหราชอาณาจักร พร้อมระบุว่าการเลิกกิจการนี้เป็น “การเปลี่ยนผ่านที่ยุติธรรม” สำหรับพนักงานในอุตสาหกรรมถ่านหินของอังกฤษ

ไมเคิล แชนค์ส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า “การปิดโรงไฟฟ้าแรตคลิฟฟ์ ในวันนี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคสมัย และคนงานเหมืองถ่านหินสามารถภาคภูมิใจในงานที่พวกเขาทำเพื่อประเทศของเรามาเป็นเวลา 140 กว่าปี ยุคของถ่านหินอาจจะสิ้นสุดลง แต่ยุคใหม่ของพลังงานสะอาดเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น”

 

โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแห่งสุดท้ายของสหราชอาณาจักร

โรงไฟฟ้าแรตคลิฟฟ์-ออน-ซอร์ โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายของสหราชอาณาจักร
เครดิตภาพ: REUTERS/Molly Darlington

สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 ที่ยุติการใช้พลังงานถ่านหิน โดยกำหนดการเดิมจะค่อย ๆ ลดชั่วโมงการทำงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินลง ตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด และยกเลิกใช้พลังงานถ่านหินในปี 2025

แต่รัฐมนตรีได้เลื่อนเส้นตายให้เร็วขึ้น 1 ปี ไม่นานก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP26 ของสหประชาชาติเกี่ยวกับสภาพอากาศ ที่เมืองกลาสโกว์ในช่วงปลายปี 2021

พนักงานทั้ง 170 คนของโรงไฟฟ้าต่างมารวมตัวกันที่โรงอาหาร เพื่อเป็นสักขีพยานชมการถ่ายทอดสดการปิดหน่วยผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะถูกปิดไปตลอดกาลจากห้องควบคุมของโรงไฟฟ้า 

ปีเตอร์ โอกราดี ผู้จัดการโรงไฟฟ้าแรตคลิฟฟ์กล่าวว่า “ปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด ผมแน่ใจว่าจะมีน้ำตาซึมบ้างเมื่อทุกอย่างหยุดลงและทุกคนจากไป”

โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้เคยมีวิศวกรมากถึง 3,000 คน แต่จำนวนพนักงานก็ค่อย ๆ ลดลง ตามชั่วโมงการทำงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในช่วงต้นยุค 80 สหราชอาณาจักรใช้พลังงานถ่านหินผลิตไฟฟ้ามากถึง 80% และลดลงเหลือ 40% ในปี 2012 จากนั้นก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาษีคาร์บอนมีราคาแพง และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูกกว่าเพิ่มมากขึ้น

“นี่คือบทสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากประเทศที่เริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรม” ฟิล แมคโดนัลด์ กรรมการผู้จัดการของ Ember สถาบันวิจัยด้านพลังงานระดับโลกกล่าว

รายงานของ Ember พบว่าพลังงานถ่านหินลดลงครึ่งหนึ่งในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) หลังจากที่มีการใช้พลังงานถ่านหินสูงสุดในปี 2007 โดยในปี 2023 ประเทศสมาชิก OECD ใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าเพียง 17% ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอีก โดย 27 จาก 38 ประเทศสมาชิกให้คำมั่นว่าจะเลิกใช้ถ่านหินภายในสิ้นทศวรรษนี้

เอ็ด แมทธิว ผู้อำนวยการของ E3G กลุ่มวิจัยเกี่ยวกับวิกฤตการณ์สภาพอากาศ กล่าวว่า “สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ถูกแล้วที่จะเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 ที่เลิกใช้พลังงานถ่านหิน นี่คือความเป็นผู้นำระดับโลกที่แท้จริง และจะทำให้ประเทศอื่น ๆ ทำตาม”

โรงงานผลิตไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติก็จำเป็นต้องปิดตัวลงเช่นกัน โดยโทนี บอสเวิร์ธ นักรณรงค์จากองค์กร Friends of the Earth ระบุว่า สหราชอาณาจักรต้องเร่งพัฒนาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนในประเทศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และผลักดันให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจตามมา แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องยุติธรรม โดยปกป้องคนงานและชุมชนต้องได้รับประโยชน์เช่นกัน

ในปี 2021 เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งครั้งแรกว่าโรงไฟฟ้าจะปิดตัวลงในช่วงปลายปี 2022 แต่ต่อมา Uniper บริษัทพลังงานของเยอรมนี ที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าแรตคลิฟฟ์กล่าวจะยังเปิดโรงงานต่อไปจนกว่ายุโรปจะผ่านพ้นวิกฤติพลังงานในยุโรป จากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงกับรัฐบาล

ถึงโรงไฟฟ้าแรตคลิฟฟ์จะปิดตัวแล้ว แต่พนักงานประมาณ 170 คน จะยังคงทำงานที่นี่ต่อไปอีก 2 ปีจนกว่ากระบวนการปลดระวางจะเสร็จสมบูรณ์ นอกจากนี้ Uniper และสหภาพแรงงานให้ความช่วยเหลือพนักงานหลังจากหมดหน้าที่ในโรงไฟฟ้า ด้วยการหาตำแหน่งงานใหม่ในโรงไฟฟ้าแห่งอื่น ๆ ของบริษัท หรือส่งไปฝึกอบรมวิชาชีพด้านอื่น ๆ ของอุตสาหกรรมพลังงาน 

ไมเคิล ลูอิส Michael Lewis ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Uniper กล่าวว่า “สำหรับผมแล้วที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นเสาหลักแห่งความมั่นคงด้านพลังงานของสหราชอาณาจักรมาหลายทศวรรษ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1882 ที่ถ่านหินไม่ได้ให้พลังงานแก่บริเตนใหญ่ เราขอยกย่องแรตคลิฟฟ์และผู้คนที่ทำงานที่นี่ พร้อมโอบรับอนาคตของพลังงานสะอาดและยืดหยุ่น” 

โรงไฟฟ้าแรตคลิฟฟ์-ออน-ซอร์สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ถ่านหินเป็นหัวใจหลักของการสร้างก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม โดยให้พลังงานแก่บ้านเรือนและธุรกิจกว่า 2 ล้านหลัง  โรงไฟฟ้าแห่งนี้จึงมีบทบาทสำคัญในช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และช่วยให้ผู้คนหลายพันชีวิตมีอาชีพ

 

ที่มา: AP NewsBBCThe Guardian

โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแห่งสุดท้ายของสหราชอาณาจักร