กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และทอดพระเนตรงาน SX2024
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2024 (BAB 2024) และเสด็จทอดพระเนตรงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024)
มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับกรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด "รักษา กายา (Nurture Gaia)”
โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ นางปภัชญา สิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นางอาทินันท์ พีชานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นายปณต สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด
หม่อมหลวงตรีนุช สิริวัฒนภักดี บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอกอาร์ต เบียนนาเล่ ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ นายนิติกร กรัยวิเชียร กรรมการโครงการ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ นางต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้อำนวยการคณะจัดงาน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) และคณะผู้จัดงานเฝ้าฯ รับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ
หลังจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรงาน Sustainability Expo 2024 ซึ่งมีกำหนดจัดงานในวันที่ 27 กันยายน - 6 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นงนิทรรศการด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการตามพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางการจัดงานสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainabilities Development Goals)
ศิลปะจัดแสดงใจกลาง กทม.
Bangkok Art Biennale 2024 จัดเต็มผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 สัญชาติ ชั้นนำทั่วโลก นำเสนอสุดยอดผลงานศิลปะร่วมสมัยมากกว่า 200 ผลงาน ที่มาร่วมจัดแสดงบนสถานที่สำคัญใจกลางกรุงเทพมหานครทั้งหมด 11 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ถึง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ได้แก่
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
- วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
- วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
- วัดบวรนิเวศวิหาร
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า
- หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้
- วันแบงค็อก
- ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
- ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
พลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์
“ฐาปน” เผยว่า เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2018 เพื่อเสริมสร้างพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และต้นทุนทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครและโลกเข้าด้วยกัน ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ในเชิงการท่องเที่ยวและสร้างโอกาสให้ศิลปินไทย ได้แสดงผลงานร่วมกับศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก
นอกจากนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมงานทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้ชมงานศิลปะร่วมสมัยที่โดดเด่นในระดับสากลโดยไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงต่างประเทศ การจัดงานดำเนินมาอย่างต่อเนื่องทุก 2 ปี จนถึงครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4
การจัดงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ที่ผ่านมานั้น มีผู้เข้าร่วมชมงานทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ จำนวนถึง 17,592,321 คน แบ่งเป็น ผู้เข้าร่วมงานนิทรรศการจำนวน 992,321 คน และผู้เข้าร่วมชมงานทางออนไลน์จำนวน 16,600,000 คน และสามารถกระตุ้นให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการจัดงานเป็นจำนวนมูลค่าถึง 6,298 ล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ : TCEB) นับว่ามีกระแสการตอบรับดีเป็นที่น่าพอใจยิ่ง
Bangkok Art Biennale 2024 จะสร้างความตื่นตัวและแรงบันดาลใจให้กับวงการศิลปะไทย ตลอดจนช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ
ความหมาย "รักษา กายา"
"รักษา กายา" เป็นการมุ่งเน้นที่จะถ่ายทอดความหมายที่แตกต่างของธรรมชาติ การเลี้ยงดู ความเป็นผู้หญิง และการครุ่นคิดเกี่ยวกับนิเวศวิทยา การเมือง หรืออำนาจเหนือธรรมชาติต่าง ๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัจจุบัน กระตุ้นให้ฉุกคิด รวมทั้งมองหาวิธีใหม่ในการจัดการกับประเด็นปัญหาทางสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ศิลปินไทย-ต่างประเทศ ร่วมโชว์ผลงาน
"ศ.ดร.อภินันท์" กล่าวว่า เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 มีศิลปินที่เข้าร่วมแสดงผลงานทั้งสิ้น 76 ท่าน เป็นศิลปินไทยจำนวน 22 ท่าน และศิลปินจากนานาชาติ จำนวน 54 ท่าน สำหรับรายชื่อ 30 ศิลปินนานาชาติกลุ่มสุดท้ายที่ได้ร่วมแสดงผลงานศิลปะทั่วเมืองกรุงเทพมหานคร โดยตัวอย่างรายชื่อศิลปินมีดังนี้
- บู้ซือ อาจอ (ประเทศไทย)
- กัญญา เจริญศุภกุล (ประเทศไทย)
- วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ (ประเทศไทย)
- จิตติ เกษมกิจวัฒนา (ประเทศไทย)
- นักรบ มูลมานัส (ประเทศไทย)
- โศภิรัตน์ ม่วงคำ (ประเทศไทย)
- มัดหมี่ พิมดาว พานิชสมัย (ประเทศไทย)
- ถวิกา สว่างวงศากุล (ประเทศไทย)
- คมกฤษ เทพเทียน (ประเทศไทย)
- ปกฉัตร วรทรัพย์ (ประเทศไทย)
- บรูซ แอสเบสตอส (สหราชอาณาจักร)
- โทนี แคร็กก์ (อังกฤษ)
- ร็อบ ครอส (สหราชอาณาจักร)
- อนิช คาพัวร์ (สหราชอาณาจักร)
- แอกกี้ เฮนส์ (สหราชอาณาจักร)
- เถียน เสี่ยว เหล่ย (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
- หวัง ซีเหยา (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
- ลาตัย เตาโมเอเปอาว (ออสเตรเลีย)
- จัสมิน โตโก-บริสบี (ออสเตรเลีย)
- ลีน่า บุย (เวียดนาม),
- ดาเนียลลา โกมานิ (อิตาลี)
- กิม ฮงซอก (เกาหลีใต้)
- เมลล่า จาร์สมาร์ (เนเธอร์แลนด์ / อินโดนีเซีย)
- จอร์จ เค. (อินเดีย)
- โคล หลู (ไต้หวัน)
- มาเรีย มาเดร่า (ติมอร์-เลสเต)
- ซุล มาห์มุด (สิงคโปร์)
- ดีเนธ ปิอูมัคชี เวดาราชชิเก (ศรีลังกา)
- โม สัท (สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า)
- อเล็กซานเดอร์ ทิโมทิช (เซอร์เบีย)
ในส่วนกิจกรรมพิเศษในช่วงสัปดาห์เฉลิมฉลองเปิดงาน พบกับการแสดงสดจากศิลปินชั้นนำ อาทิ การแสดงของศิลปิน Kira O'Reilly (ฟินแลนด์-ไอร์แลนด์) ซึ่งเป็นผลงานที่ถ่ายทอดประสบการณ์ความเป็นผู้หญิง ผลงานศิลปิน Amanda Coogan (ไอร์แลนด์) ที่ทำงานร่วมกับชุมชนผู้ใช้ภาษามือ
ผลงานศิลปิน ไอแซค ชอง ไว วิดีโอจัดวางที่พูดถึงผลกระทบจากสงคราม และความเศร้าโศกที่สังคมร่วมแบ่งปันกัน ผลงานศิลปิน Elmgreen & Dragset จัดแสดงประติมากรรมที่ละเอียดอ่อน บอบบาง และชุดผลงานจัดวางเฉพาะพื้นที่ หรือตอบสนองกับพื้นที่สาธารณะทั่วกรุงเทพ โดยศิลปินหลากหลายท่าน รวมถึง ชเวจองฮวา และการจัดประชุมสัมมนาวิชาการ เป็นต้น