‘เฮอร์ริเคนซอมบี้’ พายุไม่ยอมสงบ สลายไปแล้วแต่ฟื้นตัวมาใหม่ เพราะ ‘โลกร้อน’

‘เฮอร์ริเคนซอมบี้’ พายุไม่ยอมสงบ สลายไปแล้วแต่ฟื้นตัวมาใหม่ เพราะ ‘โลกร้อน’

“พายุซอมบี้” หรือ “ซอมบี้เฮอร์ริเคน” ใช้อธิบายถึงพายุที่ไม่ยอมตาย เข้าฝั่งแล้วอ่อนแรง แต่พอลงทะเลและเร่งความแรงกลับเข้ามาใหม่

KEY

POINTS

  • พายุซอมบี้” หรือ “ซอมบี้เฮอร์ริเคน” คือ พายุที่สลายตัวไปแล้ว แต่พอลงทะเลก็กลับมาเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง
  • พายุเฮอร์ริเคนที่มีชื่อว่า “จอห์น” ที่พัดถล่มเม็กซิโกในช่วงสิ้นเดือนกันยายนก็เข้าข่ายซอมบี้เฮอร์ริเคนเช่นกัน
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยหลักทำให้พายุมีความรุนแรงมากกว่าเดิม และเกิดซอมบี้เฮอร์ริเคนบ่อยขึ้น

พายุเฮอร์ริเคนที่มีชื่อว่า “จอห์น” พัดขึ้นชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของเม็กซิโกสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยความรุนแรงระดับ 3 ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์ของผู้คนจำนวนมาก จากนั้นพายุก็อ่อนกำลังลงและสลายตัวลงเหนือภูเขาในรัฐเกร์เรโร ทุกอย่างควรจะจบ แต่พายุลูกนี้กลับมามีกำลังแรงอีกครั้ง และพัดเข้าชายฝั่งเม็กซิโกซ้ำที่เดิม ทำให้นักอุตุนิยมวิทยาเรียกพายุลูกนี้ว่า “พายุซอมบี้” หรือ “ซอมบี้เฮอร์ริเคน

ซอมบี้เฮอร์ริเคน” ถูกใช้ครั้งแรกในปี 2020 โดยนักอุตุนิยมวิทยาจากสำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหรัฐ เพื่ออธิบายพายุที่สลายตัวไปแล้วแต่ก็กลับมาเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยพายุลูกแรกที่ถูกเรียกว่าพายุซอมบี้คือ พายุเฮอร์ริเคนที่ชื่อ “พอเล็ตต์” ที่ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งใกล้กับหมู่เกาะอาซอเรสหลังจากพัดถล่มเบอร์มิวดา

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2024 ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ผู้นำเม็กซิโก กล่าวว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในเมืองเกร์เรโรเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 15 ราย แต่สื่อท้องถิ่นรายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดใน 3 รัฐที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดอยู่ที่มากกว่า 20 ราย โดยบางรายระบุว่าสูงถึง 29 ราย

พายุเฮอร์ริเคนลูกนี้ ทำให้ในบางพื้นที่มีฝนตกหนักเกือบเท่ากับฝนตกทั้งปีภายในเวลาไม่กี่วัน สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวเม็กซิโกจำนวนมาก โดยในรัฐโออาซากา เกิดดินถล่มอย่างน้อย 80 ครั้ง ทำให้บ้านเรือนจมอยู่ในกองดิน ชุมชนหลายแห่งถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เนื่องจากถนนไม่สามารถสัญจรได้

ความเสียหายจากเฮอร์ริเคนจอห์น ดินถล่มกีดขวางการจราจรในเม็กซิโก จากเฮอร์ริเคนจอห์น
เครดิตภาพ: FRANCISCO ROBLES / AFP

บางครอบครัวปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านขณะที่ระดับน้ำสูงขึ้น เจ้าหน้าที่กล่าวว่าประชาชนมากกว่า 5,000 คนต้องอพยพ และอีก 3,800 คนต้องนอนพักในศูนย์พักพิง

คลอเดีย เชนบอม ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของเม็กซิโก กล่าวว่าเธอจะไปเยือนรัฐเกร์เรโรพร้อมกับรัฐมนตรีของเธอในวันพุธ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นทั้งหมด

 

“ซอมบี้เฮอร์ริเคน” สลายตัวไปแล้ว แต่ฟื้นขึ้นมาใหม่

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า

“ซอมบี้เฮอร์ริเคนเป็นศัพท์ทั่วไป ใช้อธิบายถึงพายุที่ไม่ยอมตาย เข้าฝั่งแล้วอ่อนแรง แต่เด้งลงทะเลและเร่งความแรงกลับเข้ามาใหม่” 

พายุหมุนเกิดในทะเล ได้พลังจากความร้อนของผิวน้ำ น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิด 2 ปรากฏการณ์ของพายุในยุคโลกร้อน ข้อแรกคือพายุทวีความแรงขึ้นอย่างเร็ว ตัวอย่างเช่น พายุยางิใช้เวลา 48 ชม. พัฒนาจากโซนร้อนเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น

ส่วนเฮอร์ริเคน “จอห์น” ตอนแรกเป็นดีเปรสชันในบ่ายวันที่ 22 กลายเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 3 ในวันที่ 24 ก่อนเข้าฝั่งเม็กซิโกด้วยความเร็วลม 195 กม./ชม. ซึ่งเมื่อพายุจอห์นอ่อนกำลังลงและกลับลงสู่ทะเล ไปเจอกับน้ำทะเลที่ร้อนจัด ทำให้กลับมาเป็นเฮอร์ริเคนอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ก่อนเข้าฝั่งเป็นหนสอง ดังนั้นจอห์นจึงเป็นเสมือนซอมบี้ เป็นพายุไม่ยอมตาย

ในปี 2004 พายุเฮอร์ริเคนที่ชื่ออีวาน ซึ่งพัดอยู่นานเกือบหนึ่งเดือน ได้พัดถล่มทะเลแคริบเบียนก่อนจะสลายตัวและกลับมาอีกครั้งและพัดถล่มสหรัฐอเมริกา อีวานสร้างความเสียหายมูลค่าประมาณ 26,000 ล้านดอลลาร์ในปีนั้น

น้ำท่วมในเม็กซิโก จากเฮอร์ริเคนจอห์น น้ำท่วมในเม็กซิโก จากเฮอร์ริเคนจอห์น
เครดิตภาพ: FRANCISCO ROBLES / AFP

ส่วนในปี 2023 พายุเฮอร์ริเคน “โอทิส” เป็นพายุที่เร่งความแรงเร็วสุด ๆ จากโซนร้อนกลายเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 5 ในเวลาไม่นาน เข้าถล่มเม็กซิโกแบบไม่ทันตั้งตัวด้วยความเร็วลมถึง 266 กม./ชม.

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เป็นปัจจัยหลักทำให้พายุไซโคลนเขตร้อนมีความรุนแรงมากกว่าเดิม (แม้ว่าจำนวนพายุต่อปีโดยรวมจะไม่เปลี่ยนแปลงทั่วโลกก็ตาม) ทั้งนี้เป็นเพราะมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นให้พลังงานมากขึ้น ทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้น

อเล็กซ์ ดาซิลวา ผู้เชี่ยวชาญด้านพายุเฮอร์ริเคนของ AccuWeather ผู้บริการพยากรณ์อากาศเชิงพาณิชย์ทั่วโลก กล่าวว่าทั้งพายุเฮอร์ริเคนจอห์นและโอทิส ต่างทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่อบอุ่น โดยพื้นที่ที่พายุเฮอร์ริเคนจอห์นก่อตัวขึ้นมีอุณหภูมิเกือบ 32 องศาเซลเซียส ทำให้พายุมีเชื้อเพลิงมากขึ้น

ปัจจุบันอ่าวเม็กซิโกร้อนขึ้นอย่างมาก และกลายเป็นจุดที่ทำให้พายุเฮอร์ริเคนมีกำลังแรงขึ้นก่อนจะพัดขึ้นฝั่งสหรัฐ เนื่องจากน้ำทะเลในอ่าวมีระดับตื้นมาก จึงร้อนขึ้นได้ง่าย

ขณะที่ อันดรา การ์เนอร์ นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโรวันกล่าวว่า น้ำอุ่นน่าจะช่วยให้พายุเฮอร์ริเคนจอห์นฟื้นตัวหลังจากพัดขึ้นฝั่งเป็นครั้งแรก และมีความเป็นไปได้สูงมากที่ในอนาคตน้ำทะเลจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดพายุซอมบี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต


ที่มา: CNNLive ScienceReutersThe Guardian