วิสัยทัศน์ 2030: ซีพีมุ่งสู่อนาคตยั่งยืน ลดปล่อยคาร์บอน ตามเป้าหมาย SDGs

วิสัยทัศน์ 2030: ซีพีมุ่งสู่อนาคตยั่งยืน ลดปล่อยคาร์บอน ตามเป้าหมาย SDGs

เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำเนินงานสอดคล้องกับ SDGs มีผลงานลดการปล่อยคาร์บอน จาก 6.42 ล้านตันในปี 2021 ลดลงเหลือ 5.8 ล้านตันในปี 2023 ขณะที่ธุรกิจยังคงเติบโต 5-7% ต่อปี

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานกรรมการบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมเวทีเสวนา CEO Panel ในวันที่ 4 ตุลาคม 2024 หัวข้อ "วิสัยทัศน์ 2030: พลังความร่วมมือ สู่อนาคตยั่งยืน" ภายในงาน SX2024 หรือ Sustainability Expo 2024 ซึ่งเป็นมหกรรมความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน

“ศุภชัย” กล่าวว่า สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand หรือ UNGCNT) สนับสนุนภาคเอกชนให้ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและเป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGS) ทั้ง 17 ประการ ที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่ควรทำให้สำเร็จภายในปี ค.ศ. 2030 แต่หากพูดถึงความคืบหน้าในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าห่างจากเป้าหมายมาก คิดเป็นความก้าวหน้า 12% เท่านั้น และเราเหลือเวลาอีกแค่ 6 ปี

จากนั้น “ศุภชัย” พูดถึงการดำเนินงานเพื่ออนาคตยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ว่า มีการดำเนินงานสอดคล้องกับ SDGs 12 เป้าหมาย และเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญ 20 เรื่อง ซึ่งเชื่อมโยงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมด ยกตัวอย่าง 3 ประเด็นหลัก คือ ลดการปล่อยคาร์บอน ลดขยะอาหาร และส่งเสริมการศึกษา

“กราฟ Carbon Emission Scope 1 และ 2 ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในปี 2021 ค่อนข้างสูงทั้งจากส่วนสำนักงาน ฟาร์ม เป็นต้น ปริมาณปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ 6.42 ล้านตันคาร์บอนต่อปี แต่พอมาปี 2022 เริ่มหักหัวลง แต่การเติบโตทางธุรกิจยังโตต่อเนื่อง โดยธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังคงเติบโต 5-7% ต่อปีโดยเฉลี่ย ต่อมาปี 2023 ปริมาณปล่อยคาร์บอนลงจาก 6.42 ล้านตันคาร์บอนต่อปี มาอยู่ที่ 5.8 ล้านตันคาร์บอนต่อปี”

ผลของความสามารถในการลดการปล่อยคาร์บอน เกิดขึ้นจาก 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่

  • การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานแสงอาทิตย์  17% ของพลังงานทั้งหมด
  • เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อหน่วยรายได้ 12% เทียบกับปี 2022
  • ลดปริมาณการใช้พลังงานรวม 2.3% เทียบกับปี 2022 ช่วยลดความสิ้นเปลือง เมื่อใช้พลังงานลดลง การปล่อยคาร์บอนก็ลดลง

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องการใช้ Biogas Biomass และการปลูกป่าด้วย

“ศุภชัย” กล่าวด้วยว่า การลดการปล่อยคาร์บอน Scope 3 เป็นเรื่องที่ท้าทาย ถ้าปริมาณการปล่อยคาร์บอนของซัพพลายเชนทั้งหมดของซีพีอยู่ที่ 79.3 ล้านตันคาร์บอนต่อปี ดังนั้น บริษัทจึงต้องตั้งเป้าหมายร่วมกับคู่ค้า เพราะปี 2023 การปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมทั้ง Scope 1, 2, 3 ยังคงเพิ่มขึ้น 0.27 ล้านตัน เทียบกับปี 2021

อย่างไรก็ตาม ซีพีมีผลการดำเนินงานที่คืบหน้าอยางมีนัยยะที่สำคัญ ดังนี้

  • ลดปริมาณของเสียไปหลุมฝังกลบ 16% เทียบกับปี 2022
  • ลดขยะอาหารไปหลุมฝังกลบ 10% เทียบกับปี 2022
  • บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สาามารถใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ 94.5%

“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคส่วนต่าง ๆ จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และผมขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมมือกันในการเดินทางสู่เป้าหมายนี้” ศุภชัยกล่าว

เวทีเสวนา CEO Panel นี้ ยังมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำอีก 3 องค์กรขึ้นเวทีร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในการนำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในภาคธุรกิจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนอย่างแท้จริง ได้แก่ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ ธีรพงศ์ จัน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

วิสัยทัศน์ 2030: ซีพีมุ่งสู่อนาคตยั่งยืน ลดปล่อยคาร์บอน ตามเป้าหมาย SDGs

วิสัยทัศน์ 2030: ซีพีมุ่งสู่อนาคตยั่งยืน ลดปล่อยคาร์บอน ตามเป้าหมาย SDGs