4 ซีอีโอฉายวิสัยทัศน์ 2030 ลุยเครือข่ายธุรกิจยั่งยืน

4 ซีอีโอฉายวิสัยทัศน์ 2030 ลุยเครือข่ายธุรกิจยั่งยืน

4 ซีอีโอโชว์วิสัยทัศน์ 2030 พลังความร่วมมือ สู่อนาคตยั่งยืน "ไทยเบฟ" หนุนดึงเอสเอ็มอีเข้าเครือข่ายธุรกิจเพื่อความยั่งยืน "ซีพี"  ชี้ความร่วมมือเป็นกุญแจความยั่งยืน เดินหน้าลดคาร์บอน 3 สโคป "เอสซีจี" ดันซีเมนต์ไทยเป็นโลว์คาร์บอน "ทียู" สร้างความยั่งยืนในมหาสมุทร

การสัมมนา CEO Panel ในงาน Sustainability Expo 2024 ภายใต้หัวข้อ “วิสัยทัศน์ 2030: พลังความร่วมมือ สู่อนาคตยั่งยืน” เป็นการรวมตัวของผู้นำองค์กรชั้นนำที่มุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในทุกมิติของความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ 

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความท้าทายปัจจุบันอยู่ที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นมากและใช้ทรัพยากรไม่สิ้นสุด และมีเรื่อง Extreme Weather ทำให้เส้นศูนย์สูตร กระแสน้ำร้อนและน้ำเย็นแปรปวน ทุกคนประสบปัญหาทุกคน อุณหภูมิเพิ่มขึ้น รวมถึงน้ำแข็งที่ละลาย และยังรวมถึงการขาดความมั่นคงทางอาหารด้วย

“ควรเตรียมองค์ความรู้ให้ทุกภาคส่วนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และรวมพลังเชื่อมโยงกันทั้งหมดจึงจะเกิดความยั่งยืน ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น ต้องตระหนักและมีการร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และ SMEs เพราะเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน"

สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่มีโอกาสได้รู้ข้อกำหนดบังคับมากมายต้องหารือ SMEs มากขึ้นผู้ประกอบการมีส่วนในการสะท้อนข้อเท็จจริง เพื่อช่วยสร้างความคล่องตัวและเกิดประโยชน์ในสังคมรัฐบาลต้องฟังเสียงผู้ประกอบการ จึงจะเกิดความสมดุลและความยั่งยืนที่ดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต

4 ซีอีโอฉายวิสัยทัศน์ 2030 ลุยเครือข่ายธุรกิจยั่งยืน นายฐาปน กล่าวว่า ความยั่งยืนของไทยเบฟมีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่กำหนดชัดเจนให้บรรลุ รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั้งทางตรง (ขอบเขตที่ 1) และทางอ้อม (ขอบเขตที่ 2) ภายในปี 2583 กลยุทธ์นี้จะช่วยให้ขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นในธุรกิจ ปกป้องสิ่งแวดล้อม สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น และยกระดับธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ไทยเบฟยังมีกลยุทธ์ 5Ps ได้แก่ Planet, People, Prosperity, Partnership และ Peace ที่ทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

“ซีพี” ชี้ความร่วมมือเป็นกุญแจความยั่งยืน

นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานกรรมการบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand หรือ UNGCNT) สนับสนุนภาคเอกชนดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน

รวมถึงเป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGS) ทั้ง 17 ประการ ที่หลายประเทศทั่วโลกยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่ควรทำให้สำเร็จภายในปี ค.ศ. 2030 แต่หากพูดถึงความคืบหน้าในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าห่างจากเป้าหมายมาก คิดเป็นความก้าวหน้า 12% เท่านั้น และเราเหลือเวลาอีกแค่ 6 ปี

4 ซีอีโอฉายวิสัยทัศน์ 2030 ลุยเครือข่ายธุรกิจยั่งยืน นายศุภชัย กล่าวถึงการดำเนินงานเพื่ออนาคตยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ว่า มีการดำเนินงานสอดคล้องกับ SDGs 12 เป้าหมาย และเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญ 20 เรื่อง ซึ่งเชื่อมโยงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมด ยกตัวอย่าง 3 ประเด็นหลัก คือ ลดการปล่อยคาร์บอน ลดขยะอาหาร และส่งเสริมการศึกษา

“กราฟ Carbon Emission Scope 1 และ 2 ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในปี 2021 ค่อนข้างสูง ทั้งจากส่วนสำนักงานและฟาร์ม โดยปริมาณปล่อยคาร์บอน 6.42 ล้านตันคาร์บอนต่อปี แต่ปี 2022 เริ่มหักหัวลง และปี 2023 ปริมาณปล่อยคาร์บอนลงจาก 6.42 ล้านตันคาร์บอนต่อปี อยู่ที่ 5.8 ล้านตันคาร์บอนต่อปี แต่การเติบโตทางธุรกิจยังต่อเนื่อง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์เติบโตเฉลี่ย 5-7% ต่อปี"

สำหรับความสำเร็จในการลดการปล่อยคาร์บอนของซีพีมาจาก 3 เรื่องหลัก ได้แก่

1. การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และเพลังงานแสงอาทิตย์ 17% ของพลังงานทั้งหมด

2. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อหน่วยรายได้ 12% เทียบกับปี 2022

3. ลดปริมาณการใช้พลังงานรวม 2.3% เทียบกับปี 2022

นายศุภชัย กล่าวว่า การลดการปล่อยคาร์บอน Scope 3 เป็นเรื่องท้าทาย ถ้ารวมซัพพลายเชนทั้งหมดอยู่ที่ 79.3 ล้านตันคาร์บอนต่อปี ดังนั้น ซีพีจึงต้องตั้งเป้าหมายร่วมกับคู่ค้า เพราะปี 2023 กาปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมทั้ง Scope 1, 2, และ 3 ยังคงเพิ่มขึ้น 0.27 ล้านตัน เทียบกับปี 2021 อย่างไรก็ตาม ซีพีมีความก้าวหน้าที่สำคัญ ดังนี้

1. ลดปริมาณของเสียไปหลุมฝังกลบ 16% เทียบกับปี 2022

2. ลดขยะอาหารไปหลุมฝังกลบ 10% เทียบกับปี 2022

3. บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สาามารถใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ 94.5%

“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคส่วนต่าง ๆ จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และผมขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมมือกันในการเดินทางสู่เป้าหมายนี้”

4 ซีอีโอฉายวิสัยทัศน์ 2030 ลุยเครือข่ายธุรกิจยั่งยืน

SCG ดันซีเมนต์ไทยเป็นโลว์คาร์บอน

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวว่า ไทยมีโครงการแฟล็กชิพหลายโครงการที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตยั่งยืน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงควรมุ่ง 2 เรื่อง คือ

1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยตามเป้าของ Paris Agreement

2. เรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ competitiveness ไทยต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันไปพร้อม ๆ กัน ถึงจะยั่งยืน

สำหรับการปรับอุตสาหกรรมซีเมนต์ให้เป็นโลว์คาร์บอนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยใช้ซีเมนต์จำนวนมาก จึงควรต้องปรับมาตรฐานการใช้โลว์คาร์บอนซีเมนต์ให้ได้ และคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ดูได้จากปีที่ผ่านมายอดขายซีเมนต์ของเอสซีจี 70% เป็นซีเมนต์โลว์คาร์บอน และปีนี้เราตั้งเป้า 80-100%

"การผลักดันซีเมนต์ให้เป็นโลว์คาร์บอนครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีการผลิต การบริหารต้นทุนการผลิต ซัพพลายเชน การปรับกฎกติกามาตรฐานการก่อสร้างไปเป็นโลว์คาร์บอน ซึ่งผมมองว่าไทยสอบเรื่องนี้ผ่าน และเราเป็นประเทศแรกที่รายงานใน COP ว่าอุตสาหกรรมซีเมนต์จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ Net Zero

อย่างไรก็ตามไทยยังสอบไม่ผ่านเรื่อง Circular Economy และยังแพ้ยุโรปที่สร้าง Business Model โลว์คาร์บอนได้ และมีการเติบโตสูง โดยการรีไซเคิลพลาสติกมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงกว่าพลาสติกธรรมดาทั่วไป 2-3 เท่า เป็นธุรกิจที่กำลังโต"

ทั้งนี้ SCG ได้จัดทำการระดมสมองรับฟังความคิดเห็นกว่า 3,500 คน ในเรื่อง Circular Economy พบว่า หลายคนเห็นตรงกันว่าไทยยังขาดเรื่องแผนแม่บทด้านการรีไซเคิล และยังขาดจิตสำนึกในระดับบุคคลเรื่องการแยกขยะ

“ไทยควรผลักดันเศรษฐกิจรีไซเคิลจริงจัง เพราะเรื่องนี้จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศ รวมทั้งบริษัททั้งขนาดใหญ่และเล็ก ส่วนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดต้องเปรียบเทียบกับจีน เพราะจีนทำโซลาร์เยอะมาก ถ้าไทยทำได้เพิ่มขึ้นจะสร้างศักยภาพการแข่งขันได้”

4 ซีอีโอฉายวิสัยทัศน์ 2030 ลุยเครือข่ายธุรกิจยั่งยืน

“ทียู” สร้างความยั่งยืนในมหาสมุทร

นายธีรพงศ์ จัน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นการอยู่รอดไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานไม่ถูกต้อง การประมงผิดกฎหมาย โดยไทยยูเนี่ยนมีกลยุทธ์ SeaChange ที่สนับสนุนเป้าหมายองค์กร “Healthy Living, Healthy Oceans” และเป้าหมาย SDGs เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกวงกว้างในอุตสาหกรรมอาหารทะเล 

สำหรับการดำเนินการทำผ่านการขับเคลื่อนโครงงานหลัก 4 ด้าน คือ แรงงานปลอดภัยและถูกกฎหมาย การจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบ การดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ และดูแลผู้คนและชุมชน

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อผู้คนบนโลก ฟื้นฟู ปกป้องชุมชน และปกป้องระบบนิเวศ ดังนี้

1. สิทธิแรงงานและมนุษยชน แรงงานได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการที่เป็นธรรม มีสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย

2. สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ยกระดับสุขภาพของประชากรโลกและส่งมอบทรัพยากรสำคัญให้ผู้ที่ขาดแคลน

3. การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยดำเนินการเพื่อลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

4. เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ

5. เศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างการออกแบบและลดของเสีย

สำหรับไทยยูเนี่ยนจะเน้นที่เป้าหมาย SDGs ทุกเป้าหมาย แต่จะมุ่งเน้นที่ 3 เป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในวงกว้าง ประกอบด้วย 

1. เป้าหมายการลกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศา โดยมุ่งที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลง 42 % ในขอบเขตที่ 1 กิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง

2. กิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม 

3. กิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม ตลอดห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เพื่อเสริมสร้างความความยั่งยืนที่ดีตลอดไป

สำหรับวิสัยทัศน์ 2030 ไม่เพียงแต่เป็นเป้าหมายแห่งอนาคต แต่เป็นการสร้างสรรค์ความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างองค์กร ภาคประชาชน และรัฐบาล เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและมีคุณค่าในระยะยาวในโลกที่ต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย

4 ซีอีโอฉายวิสัยทัศน์ 2030 ลุยเครือข่ายธุรกิจยั่งยืน

4 ซีอีโอฉายวิสัยทัศน์ 2030 ลุยเครือข่ายธุรกิจยั่งยืน