พบ ‘สารหน่วงไฟ’ ปริมาณมาก ใน ‘พลาสติกสีดำ’ ก่อมะเร็ง-ฮอร์โมนผิดปรกติ

พบ ‘สารหน่วงไฟ’ ปริมาณมาก ใน ‘พลาสติกสีดำ’ ก่อมะเร็ง-ฮอร์โมนผิดปรกติ

การศึกษาวิจัย แสดงความกังวลว่าพลาสติกรีไซเคิลที่มีสารหน่วงไฟ ซึ่งเดิมใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กำลังถูกนำกลับมาใช้ซ้ำในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค

KEY

POINTS

  • พลาสติกสีดำ” ที่รีไซเคิลมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และถูกนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในครัวเรือน มีสารหน่วงไฟที่มีปริมาณตั้งแต่ 40-22,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งมากกว่าที่กำหนด
  • นักวิจัยประเมินว่าการใช้ภาชนะสีดำในครัวอาจทำให้ได้รับสารหน่วงไฟ มากถึง 34,700 นาโนกรัมต่อวัน
  • สารหน่วงไฟมีความเชื่อมโยงกับการหยุดทำงานของต่อมไร้ท่อ ปัญหาต่อมไทรอยด์ ภาวะแทรกซ้อนของระบบสืบพันธุ์ พิษต่อระบบประสาท และมะเร็งในเด็ก

การศึกษาวิจัยใหม่ล่าสุดพบว่า “พลาสติกสีดำ” ที่รีไซเคิลมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และถูกนำมาผลิตเป็นของเล่นเด็ก ภาชนะใส่อาหารสำหรับซื้อกลับบ้าน อุปกรณ์เครื่องครัว ถาดใส่เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาจมี “สารหน่วงไฟ” (Flame Retardants) ที่รั่วไหลออกมาจากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างการรีไซเคิล อาจทำให้ผู้คนได้รับสารเคมีจำนวนมาก ซึ่งให้เกิดมะเร็งและรบกวนการทำงานของฮอร์โมน 

จากผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Chemosphere โดย Toxic-Free Future กลุ่มวิจัยและสนับสนุนด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม ทำการทดสอบหาสารหน่วงไฟในผลิตภัณฑ์พลาสติกสีดำสำหรับใช้ในครัวเรือนจำนวน 203 รายการ

พบว่า 85% ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้มี “สารหน่วงการติดไฟกลุ่มโบรมีน” (Brominated Flame Retardants) หรือ BFR ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดเพื่อทำให้การติดไฟช้าลงในกรณีที่เกิดไฟไหม้ ในปริมาณสูง

ผลิตภัณฑ์ประมาณ 17 รายการมีสารหน่วงการติดไฟที่มีปริมาณตั้งแต่ 40-22,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ระหว่าง 5-1,200 เท่า โดยสหภาพยุโรปกำหนดปริมาณโบรมีนที่จำกัดไว้ที่ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยลูกปัดสำหรับตกแต่งเสื้อผ้ามีความเข้มข้นของโบรมีนสูงสุด 

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบปริมาณโบรมีนในระดับสูงในถาดซูชิ อุปกรณ์ในครัว เกมกระดาน ของเล่น และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า ในผลิตภัณฑ์บางชนิดพบว่ามีสารหน่วงไฟมากถึง 9 ชนิด โดยนักวิจัยประเมินว่าการใช้ภาชนะสีดำในครัวอาจทำให้ได้รับ BFR มากถึง 34,700 นาโนกรัมต่อวัน

“พวกเรากำลังเผชิญกับความเสี่ยงในหลากหลายรูปแบบ นอกจากอาหารของเราอาจจะได้รับผลกระทบแล้ว สารหน่วงไฟยังสามารถรั่วไหลออกมาปะปนกับฝุ่นและในอากาศภายในบ้านของเราได้ เพราะสารเหล่านี้ไม่ได้ยึดติดกับพอลิเมอร์” เมแกน หลิว ผู้จัดการด้านวิทยาศาสตร์และนโยบายของ Toxic-Free Future และผู้ร่วมเขียนผลการศึกษากล่าว

แม้ว่านักวิจัยจะไม่รู้ว่าร่างกายต้องได้รับสารเคมีในผลิตภัณฑ์มากเท่าใดถึงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพแต่พวกเขากล่าวว่าการมีอยู่ของสารเคมีเพียงอย่างเดียวก็เป็นปัญหาแล้ว

ระดับสารเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ปรุงอาหาร หรือสัมผัสอาหารของเรา หรือในของเล่นที่เด็ก ๆ ของเราเอาเข้าปาก” หลิวกล่าว

สารหน่วงไฟเป็นสารเคมีประเภทหนึ่งที่เติมลงในผลิตภัณฑ์เพื่อให้ทนทานต่อการเผาไหม้มากขึ้นและชะลอการลุกลามของเปลวไฟ ในอดีตสารหน่วงไฟถูกใส่ในผลิตภัณฑ์ เช่น เคสทีวี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ แต่ตอนนี้ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในครัวเรือน

ราสวามี นาคราจัน ศาสตราจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมพลาสติก มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์โลเวลล์ ซึ่งทำการวิจัยสารหน่วงไฟมานานกว่าทศวรรษ กล่าวว่า “เราใช้สารหน่วงไฟมานานมา และแน่นอนว่าเมื่อนำกลับมาใช้ใหม่ สารพวกนี้อาจจะยังคงอยู่”

ในนามตัวแทนของอุตสาหกรรม สภาเคมีอเมริกัน จากลุ่มพันธมิตรสารหน่วงไฟแห่งอเมริกาเหนือ กล่าวว่า แม้ว่าผลการศึกษานี้จะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการมีอยู่ของสารหน่วงไฟในของใช้ในครัวเรือน แต่ผู้ผลิตได้ดำเนินการวิจัยและประเมินความเสี่ยงอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าสารหน่วงไฟจะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

เอริช เช โฆษกของกลุ่มพันธมิตรสารหน่วงไฟแห่งอเมริกาเหนือกล่าวในแถลงการณ์ว่า รายงานดังกล่าวระบุถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากสารหน่วงไฟโดยพิจารณาจากอันตรายเพียงอย่างเดียว และไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงในระดับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจริงหรือเส้นทางการสัมผัส

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมพบว่าสารหน่วงไฟบางชนิดคงอยู่ได้นานและเป็นพิษต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ความทนทานของสารดังกล่าวทำให้สารเคมีเหล่านี้ย่อยสลายได้ยากในสิ่งแวดล้อม มีข้อมูลระบุว่าสารหน่วงไฟมีความเชื่อมโยงกับการหยุดทำงานของต่อมไร้ท่อ ปัญหาต่อมไทรอยด์ ภาวะแทรกซ้อนของระบบสืบพันธุ์ พิษต่อระบบประสาท และมะเร็งในเด็ก 

อีกทั้งการสัมผัสสารเคมีเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับช่วงความสนใจที่สั้นลง ทักษะการเคลื่อนไหวที่ไม่ดี และความล่าช้าในการพัฒนาทางปัญญา โดยนาคราจันกล่าวว่า แม้สารหน่วงไฟจะมีความเข้มข้นเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจเป็นพิษได้ 

หลิวกล่าวว่า การนำอุปกรณ์พลาสติกในครัวเรือนไปสัมผัสกับความร้อน อาจทำให้สารหน่วงไฟรั่วไหลลงไปในอาหารได้ และหากเด็ก ๆ กัดของเล่นของเด็กอาจทำให้สารหน่วงไฟปนเปื้อนในน้ำลายได้

 

ลดการใช้สารหน่วงไฟ

เป็นเวลาหลายปีที่เจ้าหน้าที่และบริษัทต่าง ๆ พยายามลดการใช้สารหน่วงไฟในผลิตภัณฑ์ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ในปี 2017 คณะกรรมการความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคได้ลงมติให้เริ่มออกกฎเกณฑ์ไม่ให้ใช้

สารหน่วงไฟบางชนิดในผลิตภัณฑ์โฟมและเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเรียกร้องให้ผู้ผลิตนำสารเคมีดังกล่าวออกจากผลิตภัณฑ์ แต่ดูเหมือนว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน

ในบางรัฐ เช่น วอชิงตัน นิวยอร์ก และแคลิฟอร์เนีย มีการรณรงค์จำกัดการใช้สารหน่วงไฟในเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในอาคาร ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา ส่วนสหภาพยุโรปพยายามห้ามและจำกัดการใช้สารหน่วงไฟประเภทต่าง ๆ อย่างเข้มงวด

“เราไม่มีกฎห้ามใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายที่สุดในวัสดุต่าง ๆ เรายังคงใส่สร้างสารเติมแต่งที่เป็นพิษเหล่านี้ลงในผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อไป” หลิวกล่าว พร้อมระบุว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายระดับรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง เพื่อจำกัดการใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์ 

นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า พลาสติกที่มีสารหน่วงไฟปนเปื้อน อาจเป็นผลมาจากการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดการไม่ดี โดยขยะพลาสติกส่วนใหญ่ลงเอยในหลุมฝังกลบ บางส่วนได้รับการรีไซเคิล แต่ก็ไม่มีการรับประกันว่าพลาสติกที่รีไซเคิลแล้วจะปราศจากสารเคมีอันตราย

“นี่คือผลจากการรีไซเคิลพลาสติกที่สกปรก ทั้งที่เราพยายามจะรักษาบ้านของเราให้สะอาดแล้ว แต่ก็ยังต้องมาเจอกับพิษที่ปนเปื้อนมากับพลาสติกต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาไม่ควรโยนภาระให้กับผู้บริโภค” หลิวกล่าว

ทั้งนี้ หลิวมีข้อแนะนำสำหรับการหลีกเลี่ยงใช้พลาสติกที่อาจจะมีสารหน่วงไฟปนเปื้อน 

- เปลี่ยนภาชนะพลาสติกในครัวของคุณด้วยภาชนะไม้หรือสเตนเลส

- เลือกภาชนะที่ปราศจากพลาสติก เพื่อลดการสัมผัสกับสารเติมแต่งที่เป็นอันตราย

- ซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีนโยบายต่อต้านสารเคมีพิษในผลิตภัณฑ์ของตน

- ทำความสะอาดและระบายอากาศ รวมถึงปัดฝุ่นและถูพื้นเป็นประจำ เพื่อกำจัดสารหน่วงไฟที่อาจสะสมอยู่ในอากาศ 


ที่มา: CNNForbesThe Washington Post