‘แอนตาร์กติกา’ กลายเป็น ‘สีเขียว’ น้ำแข็งละลาย พืชพรรณขึ้นเต็ม เพราะ ‘โลกร้อน’
พืชพรรณขึ้นปกคลุมทวีป “แอนตาร์กติกา” อย่างรวดเร็ว เนื่องจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นต่อเนื่อง
KEY
POINTS
- “แอนตาร์กติกา” ทวีปที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งกำลังเปลี่ยนเป็น “สีเขียว” มีอัตราการเติบโตของพื้นที่สีเขียวในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา
- สีเขียวไม่ได้เกิดขึ้นแค่เป็นหย่อมๆ แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดคาบสมุทรแอนตาร์กติกาตะวันตก ซึ่งทอดยาวจากละติจูด 68.5 องศาใต้ขึ้นไปจนถึงหมู่เกาะเซาท์เชตแลนด์ ทางตอนเหนือ
- ทวีปแอนตาร์กติกาจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ และพื้นที่สีเขียวของทวีปนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น สุดท้ายแล้วจะเกิดสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ในที่สุดพืชพันธุ์พื้นเมืองก็จะสูญพันธุ์ไปจากโลก
“แอนตาร์กติกา” ทวีปที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งกำลังเปลี่ยนเป็น “สีเขียว” ด้วยพืชพรรณนานาชนิดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความร้อนจัด อุณหภูมิพุ่งสูงจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความกังวลว่าจะเกิด “หายนะ” ขึ้นกับทวีปนี้
นักวิทยาศาสตร์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลวิเคราะห์ระดับพืชพรรณบนคาบสมุทรแอนตาร์กติก ในบริเวณเทือกเขาที่ทอดยาวไปทางเหนือจนถึงปลายทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งกำลังร้อนขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกมาก
จากพื้นที่ “สีขาว” กลายเป็น “สีเขียว”
ตามการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ และเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ในอังกฤษ และคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาของสหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience พบว่าพืชพรรณส่วนใหญ่ เช่น มอสส์ ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
ในปี 1986 คาบสมุทรแอนตาร์กติกามีพืชพรรณปกคลุมพื้นที่น้อยกว่า 1 ตารางกิโลเมตร แต่ในปี 2021 กลับเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 12 ตารางกิโลเมตร โดยในช่วงระหว่างปี 2016-2021 มีอัตราการเติบโตของพื้นที่สีเขียวในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา
แม้ว่าภูมิประเทศจะยังคงเป็นหิมะ น้ำแข็ง และหินเกือบทั้งหมด แต่พื้นที่สีเขียวขนาดเล็กแห่งนี้ได้เติบโตขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา โทมัส โรแลนด์ ผู้เขียนผลการศึกษาวิจัย และนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ กล่าว
“ผลการศึกษาของเราได้ยืนยันว่าอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากมนุษย์นั้นไม่มีขีดจำกัดแม้แต่บนคาบสมุทรแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล โดดเดี่ยว และสภาพอากาศที่โหดร้ายที่สุดแห่งนี้ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไป และผลกระทบเหล่านี้สามารถมองเห็นได้จากอวกาศ” โรแลนด์กล่าวกับ CNN
แอนตาร์กติกากลายเป็นสีเขียว
เครดิตภาพ: Nature
พื้นที่บางส่วนของทวีปแอนตาร์กติกา ที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นพื้นที่ ที่หนาวที่สุดในโลกเพิ่งเผชิญหน้ากับความร้อนจัด โดยอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 10 องศาเซลเซียส ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2021 แต่ก็ยังไม่สูงเท่าช่วงเดือนมีนาคม 2022 ที่อุณหภูมิในบางส่วนของทวีปสูงถึง 21 องศาเซลเซียส ถือเป็นอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงที่สุดที่เคยบันทึกไว้
นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่ามลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะทำให้โลกร้อนขึ้นต่อเนื่อง โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ทวีปแอนตาร์กติกาจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ และพื้นที่สีเขียวของทวีปนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของมอสส์
“มอสส์” มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนพื้นผิวหินให้กลายเป็นดิน ซึ่งอาจนำไปสู่พืชที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต อาจรวมถึงเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เข้ามาแย่งพื้นที่เติบโตของพืช และสัตว์ท้องถิ่นในแอนตาร์กติกาได้
“เมล็ดพืช สปอร์ และเศษซากพืชสามารถเดินทางสู่คาบสมุทรแอนตาร์กติกาได้อย่างง่ายดายโดยอาศัยรองเท้าหรืออุปกรณ์ของนักท่องเที่ยว และนักวิจัย หรือผ่านวิธีแบบดั้งเดิม เช่น นกอพยพ และลม ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงอย่างชัดเจน” โรแลนด์ กล่าว
แมทธิว ดาวี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยา ทางสรีรวิทยาที่สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งสกอตแลนด์ และผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาพืช และจุลินทรีย์ที่ขั้วโลก กล่าวกับ CNN ว่า ในปัจจุบันนี้แอนตาร์กติกาอาจมีพืชพรรณมากกว่าที่ระบุด้วยซ้ำ
“เรารู้ว่ายังมีไลเคน หญ้า สาหร่ายหิมะสีเขียวและสีแดงเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งส่งผลต่อพืชพรรณในแอนตาร์กติกาด้วย” ดาวี กล่าว
มอสส์ในแอนตาร์กติกา
เครดิตภาพ: Nature
แอนตาร์กติกากำลังเขียวขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่าในตอนนี้พืชอาจจะไม่ได้กินพื้นที่จำนวนมากนัก แต่การเพิ่มขึ้นดังกล่าวก็มีเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสมดุลอันเปราะบางของระบบนิเวศแอนตาร์กติกา สุดท้ายแล้วจะเกิดสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ในที่สุดพืชพันธุ์พื้นเมืองก็จะสูญพันธุ์ไปจากโลก
นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat ของ NASA ตลอด 35 ปีที่ผ่านมา โดยใช้ Google Earth Engine เพื่อศึกษาการแพร่กระจายของพืชพันธุ์ทั่วแอนตาร์กติกา โดยเน้นที่การวัดการเติบโตของพืชพรรณตามดัชนีความแตกต่างพืชพรรณ หรือ NDVI (Normalized Difference Vegetation Index) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณที่ปกคลุม
ข้อมูลเผยให้เห็นว่าสีเขียวไม่ได้เกิดขึ้นแค่เป็นหย่อมๆ แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดคาบสมุทรแอนตาร์กติกาตะวันตก ซึ่งทอดยาวจากละติจูด 68.5 องศาใต้ขึ้นไปจนถึงหมู่เกาะเซาท์เชตแลนด์ทางตอนเหนือภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นแอนตาร์กติกากำลังกลายเป็นสีเขียว
เครดิตภาพ: WorldView-2/DigitalGlobe
คาบสมุทรแอนตาร์กติกาไม่ใช่แค่ภูมิภาคเดียวที่มีพืชขึ้นปกคลุม แต่ภูมิภาคหนาวเย็นอื่นๆ โดยเฉพาะอาร์กติก ก็มีพืชเติบโตมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อพืชขยายตัวมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อพลวัตของระบบนิเวศในภูมิภาค ตลอดจนองค์ประกอบของดิน วงจรคาร์บอน และห่วงโซ่อาหารในท้องถิ่น
นอกจากนี้ กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การท่องเที่ยว และการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ อาจทำให้สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้สมดุลทางระบบนิเวศของภูมิภาคมีความซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม
ปี 2023 เป็นปีที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ ทั้งขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกามีระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณเหล่านี้ ตามข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO)
นักวิจัยเรียกร้องให้มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในบริเวณขั้วโลกมากขึ้น นอกเหนือจากการติดตามการละลายของน้ำแข็ง เพราะการเติบโตของพืชพรรณบนทวีปที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งและหินเป็นสัญญาณแสดงเห็นว่า “ภาวะโลกร้อน” กำลังขยายตัวเข้าไปในแอนตาร์กติกา พื้นที่กำลังร้อนขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
ที่มา: CNN, Independent, Nature, The Guardian
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์