บทเรียนจากบริติชโคลัมเบีย น้ำท่วมฟาร์มสัตว์ จนต้องปรับแผนรับมืออุทกภัย

บทเรียนจากบริติชโคลัมเบีย น้ำท่วมฟาร์มสัตว์ จนต้องปรับแผนรับมืออุทกภัย

เหตุการณ์เลวร้าย เช่น น้ำท่วม ไฟป่า ในพื้นที่เกษตรกรรม มีแนวโน้มว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นเมื่อโลกร้อนขึ้น และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ส่องบทเรียนน้ำท่วม และโคลนถล่มครั้งใหญ่รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา สัตว์ในฟาร์มหลายพันตัวจมน้ำตาย จนต้องปรับแผนรับมือภัยพิบัติ

ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 สายธารขนาดมหึมาบนท้องฟ้า หรือที่แวดวงวิทยาศาสตร์เรียกว่า "แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric River) พัดพาพายุฝนไปที่เมืองเมอร์ริตต์ แอบบอตส์ฟอร์ด รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ส่งผลให้ฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดน้ำท่วม และโคลนถล่มอย่างรุนแรง จนรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน และสั่งให้อพยพผู้คนออกจากเมือง

น้ำท่วมครั้งนั้น ทำให้ทุ่งหญ้าซูมาสซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาเฟรเซอร์ทางตะวันออกของแอบบอตสฟอร์ด ที่เป็นศูนย์กลางด้านการเกษตร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของไก่ และวัวส่วนใหญ่ของรัฐ รวมถึงฟาร์มหมู และมิงค์ ถูกน้ำท่วมสูง มีโรงนาจมน้ำ วัวลุยน้ำท่วม

เมื่อระดับน้ำท่วมสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้นกหลายพันตัวตายจากการขาดอากาศหายใจ วัวอย่างน้อย 500 ตัว และหมูหลายพันตัวจมน้ำตาย เกษตรกรเผชิญกับภารกิจเร่งด่วนในการเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังพื้นที่สูง ในครั้งนั้นเกษตรกรสามารถอพยพสัตว์ได้สำเร็จมากกว่า 2,000 ตัว

พลังแห่งความร่วมมือ

เกษตรกร และคนงานในหุบเขาเฟรเซอร์ได้ดำเนินการหลายขั้นตอนที่สำคัญเพื่ออพยพสัตว์ของพวกเขาไปยังที่ปลอดภัย โดยใช้ทั้งรถบรรทุก และรถพ่วง ในการขนส่งสัตว์ไปยังที่สูงกว่า นอกจากนั้น กองทัพแคนาดาได้เข้ามาช่วยเคลื่อนย้ายโดยเฮลิคอปเตอร์ รวมถึงชุมชนท้องถิ่น องค์กรไม่แสวงหากำไร และหน่วยงานของรัฐ ที่ระดมกำลังเพื่อช่วยชีวิตสัตว์อย่างรวดเร็ว

เกษตรกรหลายคนทำงานตลอดทั้งคืนเพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์เลี้ยงของพวกเขาถูกย้ายอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ บางครั้งก็มีการประสานงานกับฟาร์มใกล้เคียงเพื่อให้มีทรัพยากรเพิ่มเติม มีการตั้งที่พักชั่วคราวในสถานที่ ที่ปลอดภัยเพื่อปกป้องสัตว์จากสภาพอากาศ

เรื่องราวของเกษตรกรที่เมืองนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังของความร่วมมือ และความยืดหยุ่นในการเอาชนะความทุกข์ยาก บทเรียนจากความเสียหายครั้งนี้มีค่าอย่างยิ่งในการปรับปรุงกลยุทธ์การตอบสนองต่อภัยพิบัติในอนาคต เพื่อให้แน่ใจว่าชีวิตของมนุษย์ และสัตว์ได้รับการปกป้อง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พิจารณาว่ามีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้สัตว์ต้องตายจากภัยพิบัตินี้ โดยเฉพาะระบบการทำฟาร์มแบบขังกรง

คู่มือเกี่ยวกับการเลี้ยงวัวของรัฐบริติชโคลัมเบีย ระบุว่า "โดยปกติแล้ว สัตว์ที่ไม่ได้ถูกขังไว้สามารถดูแลตัวเองได้ในระหว่างที่เกิดน้ำท่วม" จากบันทึกของเหตุการณ์ทุ่งหญ้าซูมาส แสดงให้เห็นว่าสัตว์ที่อยู่ข้างนอก และเดินเตร่ไปมาอย่างอิสระจะอยู่รอดได้ดีกว่าสัตว์ที่ถูกขังไว้ในอาคารหรือโรงนา

4 แนวทางบริติชโคลัมเบีย รับมือภัยพิบัติ

หลังจากภัยพิบัติครั้งนี้ บริติชโคลัมเบียต้องหาวิธี “build back better” ผ่าน 4 แนวทาง ดังนี้

1. มุ่งมั่นในความรับผิดชอบทางสภาพภูมิอากาศ : ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบทางสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ เช่น ภายใต้แผน B.C. Food Security Task Force ในปี 2020 หนึ่งในกลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงด้านอาหารที่บริติชโคลัมเบียดำเนินการคือ การสนับสนุน และเงินทุนที่เหมาะสมกับศักยภาพในการลดภัยคุกคามจากสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติทางการเกษตร

2. ให้ความสำคัญกับการปรึกษา และพิจารณากับ Animal Justice : ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องในการจำกัดจำนวนสัตว์ในฟาร์ม และทำแผนการช่วยเหลือสัตว์ให้เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย แทนที่จะเป็นเพียงการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน

3. คืนพื้นที่ให้กับชนพื้นเมือง : ที่ราบน้ำท่วม Sumas เคยเป็นทะเลสาบน้ำจืดตื้น และเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนดั้งเดิมของชนเผ่า Sumas First Nation ซึ่งเช่นเดียวกับน้ำ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ถูกพลัดถิ่นจากการวางแผนที่ดินในยุคอาณานิคม เมื่อทะเลสาบถูกระบายน้ำ และแยกออกจากแม่น้ำใกล้เคียงในช่วงปี 1920 ถึง 1924 ดินแดนที่ไม่ได้รับการยอมรับควรจะคืนให้กับชนเผ่า Sumas First Nation เพื่อส่งเสริม "ความมุ่งมั่นในการประนีประนอม" ซึ่งคือ ความพยายามในการแก้ไขและปรับปรุงความอยุติธรรม และการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นต่อชาวพื้นเมือง ความมุ่งมั่นเหล่านี้รวมถึงความร่วมมือระหว่างชุมชนพื้นเมือง และชุมชนที่ไม่ใช่พื้นเมือง

4. ปรับตัว : รัฐบาล บริษัทต่างๆ และประชาชน ให้ความสำคัญกับวางแผนที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มจะต้องกลายมาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุด

ต้องไม่เพียงแค่ปรับปรุงแนวทางการจัดการภัยพิบัติเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำแผนฉุกเฉิน และแผนที่ในฟาร์ม หรือลงทุนในประกันอีกด้วย

ปัจจัยสำคัญความสำเร็จในการอพยพ

ระบบเตือนภัยล่วงหน้า : การพยากรณ์อากาศ และการแจ้งเตือนที่ทันท่วงทีทำให้เกษตรกรสามารถเตรียมตัว และดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

ความร่วมมือของชุมชน : จิตวิญญาณแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งการแบ่งปันทรัพยากรและกำลังคน

การสนับสนุนจากรัฐบาล : รัฐบาลให้การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ รวมถึงเรือ และที่พักพิงฉุกเฉิน เพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการอพยพอย่างปลอดภัย

 

 

ที่มา : The ConversationNASA

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์