‘แหล่งน้ำทั่วโลก’ แห้งที่สุดในรอบ 30 ปี ทำ 3,600 ล้านคนขาดแคลนน้ำ
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เผยข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ในปี 2023 แม่น้ำแห้งเหือดในอัตราสูงสุดในรอบ 30 ปี ส่งผลให้แหล่งน้ำทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง
KEY
POINTS
- ปี 2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ แม่น้ำลดระดับลงแห้งขอดที่สุดในรอบ 30 ปี และประเทศต่างๆ เผชิญกับภัยแล้งรุนแรง แต่ยังทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ทั่วโลกอีกด้วย
- ตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 ถึงเดือนสิงหาคม 2023 โลกได้สูญเสียน้ำแข็ง และธารน้ำแข็งไปแล้วกว่า 600 กิกะตัน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 50 ปี
- มีแนวโน้มสูงมากที่ปี 2024 จะกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุด ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลดลงมากกว่าเดิม และหลายส่วนของโลกจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมากขึ้น
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำทั่วโลก และอ่างเก็บน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ตามรายงานสถานะทรัพยากรน้ำทั่วโลกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำทั่วโลก ที่พบว่ามากกว่า 50% มีสภาพผิดปกติ โดยส่วนใหญ่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งคล้ายกันในปี 2022 และ 2021
รายงาน “สถานะทรัพยากรน้ำโลก 2023” ที่เป็นการสำรวจปริมาณน้ำในแม่น้ำ ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ น้ำใต้ดิน ความชื้นในดิน แหล่งกักเก็บน้ำบนบก หิมะปกคลุม และธารน้ำแข็ง และการระเหยของน้ำจากพื้นดิน และพืช แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปี 2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ และดูเหมือนจะส่งผลต่อทิศทางการไหลของน้ำ โดยแม่น้ำลดระดับลง และประเทศต่างๆ เผชิญกับภัยแล้งรุนแรง แต่ยังทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ทั่วโลกอีกด้วย
WMO ระบุว่า พื้นที่ ที่เผชิญกับภัยแล้งรุนแรง และปริมาณน้ำในแม่น้ำน้อย ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ เช่น แม่น้ำแอมะซอน แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ และทะเลสาบติติกากามีระดับน้ำต่ำเป็นประวัติการณ์
รวมถึงในเอเชีย และโอเชียเนีย ที่แม่น้ำขนาดใหญ่ทั้งทวีปมีสภาพน้ำต่ำกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร และพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำโขง
ตามข้อมูลของ WMO การเปลี่ยนแปลงจากลานีญาเป็นเอลนีโญในกลางปี 2023 ยังส่งผลต่อสภาพอากาศสุดขั้วอีกด้วย
สภาพอากาศเหล่านี้เป็นรูปแบบธรรมชาติ โดย เอลนีโญ หมายถึง อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเส้นศูนย์สูตรตอนกลาง-ตะวันออก ในขณะที่ลานีญาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับเอลนีโญ ซึ่งจะมีอากาศเย็นลงเป็นระยะ
แม่น้ำแอมะซอนแห้งกว่า 90% จนสามารถเล่นฟุตบอลได้
เครดิตภาพ: LUIS ACOSTA / AFP
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ผลกระทบของปรากฏการณ์สภาพอากาศเหล่านี้รุนแรงขึ้น และทำให้ยากต่อการคาดการณ์ หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา เกาะเหนือของนิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์ ขณะที่สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และสวีเดน ต้องเจอกับปริมาณน้ำที่มากกว่าปกติ
“ปริมาณน้ำเป็นสัญญาณเตือนการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ในตอนนี้เราต่างได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งในรูปแบบของฝนที่ตกหนักขึ้นเรื่อยๆ น้ำท่วม และภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิต ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ” เปตเตอรี ตาลาส เลขาธิการของ WMO กล่าว
ขณะที่ น้ำแข็ง และธารน้ำแข็งละลาย ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาวของประชากรหลายล้านคน จากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้วงจรอุทกวิทยาเร่งตัวขึ้น อีกทั้งยังทำให้สถานการณ์แปรปรวน และคาดเดาไม่ได้มากขึ้น ทำให้มนุษยชาติต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับน้ำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่มากเกินไป ขณะที่บางพื้นที่กลับไม่เพียงพอ
ชั้นบรรยากาศที่อบอุ่นขึ้นกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น ส่งผลให้ฝนตกหนัก การระเหย และแห้งของดินเร็วขึ้นทำให้สภาวะแห้งแล้งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ตามข้อมูลของ UN Water พบว่า ปัจจุบันมีผู้คน 3,600 ล้านคน ต้องเผชิญกับการเข้าถึงน้ำที่ไม่เพียงพออย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 5,000 ล้านคนภายในปี 2050
นอกจากนี้ ในช่วง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 ถึงเดือนสิงหาคม 2023 โลกได้สูญเสียน้ำแข็งและธารน้ำแข็งไปแล้วกว่า 600 กิกะตัน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 50 ปีนับตั้งแต่มีการสังเกตการณ์ โดยอ้างอิงจากข้อมูลเบื้องต้นของ WMO
ธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ละลาย
เครดิตภาพ: Fabrice COFFRINI / AFP
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภูเขาทางตะวันตกของอเมริกาเหนือ และเทือกเขาแอลป์ในยุโรปเผชิญกับการละลายอย่างรุนแรง โดยเทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์สูญเสียปริมาณน้ำจืดที่เหลืออยู่ ไปประมาณ 10%
“เราไม่เคยมีพื้นที่ทั่วโลกที่อยู่ภายใต้สภาวะแห้งแล้งมากขนาดนี้มาเช่นนี้มาก่อน” สเตฟาน ออเลนบรูก ผู้อำนวยการด้านอุทกวิทยา น้ำ และน้ำแข็งปกคลุมของ WMO กล่าว
แม้จะยังไม่หมดปี 2024 แต่มีแนวโน้มสูงมากที่ปี 2024 จะกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุด ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลดลงมากกว่าเดิม และหลายส่วนของโลกจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันบางพื้นที่กลับเกิดน้ำท่วมที่รุนแรง
WMO เรียกร้องให้มีการปรับปรุงการรวบรวม และการแบ่งปันข้อมูลเพื่อช่วยให้เห็นภาพทรัพยากรน้ำที่แท้จริงได้ชัดเจนขึ้น และช่วยให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการตอบสนองได้ทันท่วงที
“เรามีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับสถานะที่แท้จริงของทรัพยากรน้ำจืดของโลก เราไม่สามารถจัดการสิ่งที่เราไม่รู้ รายงานนี้มุ่งหวังที่จะมีส่วนสนับสนุนในการติดตาม การแบ่งปันข้อมูล ความร่วมมือข้ามพรมแดน และการประเมินผลที่ดี ขึ้น ซึ่งสิ่งนี้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน” รายงานระบุ
ที่มา: ABC, AP News, Euro News, The Guardian
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์