‘สลอธ’ ช้าเกินไป ปรับตัวให้เข้ากับ ‘โลกร้อน’ ไม่ทัน อาจจะสูญพันธุ์เร็ว ๆ นี้

‘สลอธ’ ช้าเกินไป ปรับตัวให้เข้ากับ ‘โลกร้อน’ ไม่ทัน อาจจะสูญพันธุ์เร็ว ๆ นี้

“สลอธ” สัตว์ที่เคลื่อนไหวช้าที่สุดในโลกอาจสูญพันธุ์ภายในปี 2100 เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากวิกฤติการณ์สภาพอากาศ 

KEY

POINTS

  • “สลอธ” สัตว์ที่เคลื่อนไหวช้าที่สุดในโลกอาจสูญพันธุ์ภายในปี 2100 เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากวิกฤติการณ์สภาพอากาศ
  • สลอธไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ อีกทั้งย่อยอาหารได้ช้ามาก และใบไม้ที่พวกมันกินเป็นอาหารมีแคลอรี่ต่ำ ทำให้สลอธมีพลังงานน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นมาก
  • เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น สลอธต้องใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น แต่ร่างกายมันมีพลังงานไม่พอ และไม่สามารถอพยพย้ายไปหาพื้นที่เย็นกว่าได้ เพราะป่าถูกทำลาย

สลอธ” สัตว์ที่เคลื่อนที่ได้ช้าที่สุดในโลก เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันในภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เช่น ป่าอะเมซอน ถูกบุกรุกอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยสรีรวิทยาไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะสลอธที่อยู่พื้นที่ภูเขา อาจทำให้พวกมันมีชีวิตรอดได้ยาก เนื่องจากอุณหภูมิโลกสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวที่ช้า รูปแบบการใช้ชีวิตบนต้นไม้ที่จำเพาะเจาะจงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ ทำให้พวกมันปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่และวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นรวดเร็วได้ยาก

นักวิจัยจาก Sloth Conservation Society มูลนิธิปกป้องสลอธในป่าผ่านการวิจัยและโครงการอนุรักษ์ ทำการศึกษาว่าสลอธสองนิ้ว หรือ Choloepus hoffmanni ตอบสนองต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และได้ตีพิมพ์ในวารสาร PeerJ Life & Environment

ทีมวิจัยพบว่าสลอธที่อาศัยอยู่บนที่สูงมีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในอนาคตมากเป็นพิเศษ โดยวัดการใช้ออกซิเจนและอุณหภูมิร่างกายของสลอธภายใต้สภาพอากาศที่แตกต่างกัน

“ตามธรรมชาติแล้ว สลอธมีข้อจำกัดจากระบบเผาผลาญที่ช้าและไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ ผลการศึกษาวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าสลอธ โดยเฉพาะในพื้นที่สูง อาจไม่สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามการคาดการณ์ในปี 2100” ดร.รีเบคกา คลิฟฟ์ หัวหน้าคณะผู้จัดทำผลการศึกษาวิจัยจาก Sloth Conservation Foundation กล่าว

สลอธเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงไม่กี่ชนิดที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ เช่นเดียวกับสัตว์เลื้อยคลาน พวกมันอาศัยอุณหภูมิโดยรอบเป็นหลักในการควบคุม ซึ่งส่งผลต่อทุกแง่มุมของการเอาชีวิตรอด รวมถึงการย่อย การเผาผลาญ และการเคลื่อนไหว อีกทั้งใบไม้ที่พวกมันกินเป็นอาหารให้แคลอรีต่ำ ลักษณะเหล่านี้ทำให้สลอธมีพลังงานน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นมาก

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสลอธที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ดีกว่า และอาจเริ่มมีกลไกการเอาตัวรอดที่เรียกว่า “Metabolic depression” ซึ่งจะทำให้อัตราเมตาบอลิซึมมาตรฐานที่ลดลงจนต่ำกว่าค่าปกติเมื่ออุณหภูมิสูงเกินระดับที่พวกมันรู้สึกสบายตัว

ต่างจากสลอธในพื้นที่สูงจะต้องเผชิญกับอัตราเมตาบอลิซึมขณะพักผ่อนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 32 องศาเซลเซียส ทำให้พวกมันมีทางเลือกในการรับมือกับความร้อนน้อยลง และต้องการพลังงานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้สลอธที่อาศัยอยู่ในที่สูงจะไม่มีพื้นที่ให้อพยพย้ายไปได้ เนื่องจากบริเวณอากาศเย็นในพื้นที่ป่ามีจำกัด เพราะต้นไม้เติบโตได้ช้ากว่า อีกทั้งยังโดนบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยจากการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์อีกด้วย

ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นเรื่องน่าวิตก เนื่องจากสลอธมีอัตราการย่อยที่ช้าอยู่แล้ว โดยช้ากว่าสัตว์กินพืชที่มีขนาดใกล้เคียงกันถึง 24 เท่า ทำให้พวกมันตอบสนองความต้องการพลังงานได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้ว่ามันจะอยากได้มากก็ตาม

ดร.คลิฟฟ์กล่าวเสริมว่า “สลอธที่อาศัยอยู่บนที่สูงนั้นอยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคงอย่างยิ่ง พวกมันแทบไม่สามารถอพยพไปยังพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่าได้เลย และความยืดหยุ่นของกระบวนการเผาผลาญที่ไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้พวกมันสูญพันธุ์ได้”

งานวิจัยระบุว่าภายในปี 2100 ถิ่นที่อยู่อาศัยของสลอธจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นระหว่าง 2-6 องศาเซลเซียส การศึกษานี้เรียกร้องให้มีการพยายามอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องประชากรสลอธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สูง

ปัจจุบัน สลอธพื้นเมืองทั้งสองสายพันธุ์ของคอสตาริกาอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ที่ต้องอนุรักษ์ อีกทั้งสลอธประมาณ 40% สายพันธุ์ที่มีทั้งหมดในโลกกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อความสามารถของสลอธในการรักษาสมดุลพลังงานและการอยู่รอด ดังนั้นการอนุรักษ์สลอธจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ

ดังนั้นวิธีที่สามารถอนุรักษ์สลอธได้ดีที่สุดคือ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องมีการร่วมมือกันในระดับโลก รวมถึงป้องกันไม่ให้ป่าฝนได้รับความเสียหายอย่างถาวร

ตลอดจนฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติเพื่อรองรับสภาพอากาศขนาดเล็กที่เย็นลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สูงที่เสี่ยงภัย ดร.คลิฟฟ์เสนอให้เชื่อมโยงพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติเข้าหากันอีกครั้ง ด้วยการสร้างทางเดินสำหรับสัตว์ป่า จะช่วยให้สัตว์เคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น

สลอธมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าฝน เพราะสลอธเป็นสัตว์กินพืช ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและรีไซเคิลสารอาหาร พวกมันจึงถือเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อาหาร โดยเป็นแหล่งอาศัยของระบบนิเวศที่หลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะในขนของมัน และทำหน้าที่เป็นเหยื่อของสัตว์อื่น ๆ เช่น แมวเสือ (ออนซิลลา) และเสือจากัวร์

หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีการควบคุม สลอธจะไม่สามารถอพยพได้เช่นเดียวกับสปีชีส์อื่น ๆ เมื่อสภาพแวดล้อมของสล็อธร้อนเกินไป การอยู่รอดของสลอธก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ และพวกมันก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด


ที่มา: IndependentNewsweekThe Conversation