ชุมนุมเรียกร้อง Climate Justice และหยุดคาร์บอนเครดิต ก่อนรัฐบาลไทยไป COP29

ชุมนุมเรียกร้อง Climate Justice และหยุดคาร์บอนเครดิต ก่อนรัฐบาลไทยไป COP29

เครือข่ายชุมชนเรียกร้องรัฐบาลยกเลิกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหยุดส่งเสริมคาร์บอนเครดิตที่เอื้อต่อการแย่งยึดพื้นที่ของคนจน พร้อมทั้งจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่สนับสนุนสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของชุมชนท้องถิ่น

บริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน เมื่อวานนี้ (14 ตุลาคม 2567) มีการชุมนุมของหลายเครือข่าย รวมถึงเครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิต รวมกว่า 200 คน ปักหลักค้างคืนที่บริเวณเกาะกลางถนน เพื่อทำกิจกรรม “ยุติภาวะโลกเดือดที่ต้นเหตุ: System Change Not Climate Crisis” เพื่อเรียกร้อง Climate Justice ก่อนรัฐบาลเดินทางไปเจรจาในเวทีประชุมสภาพภูมิอากาศโลก COP29 จัดขึ้นที่สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน วันที่ 11-22 พฤศจิกายนนี้

ภายในกิจกรรมมีการจัดวงเสวนาเกี่ยวกับความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ, ปัญหาของคาร์บอนเครดิต และการแฉนโยบายของรัฐที่เอื้อต่อนายทุนที่แสวงหากำไรจากทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังมีกิจกรรมไฮด์ปาร์คจากเครือข่ายภาคประชาชน วงดนตรีและการเล่นเกมคำศัพท์เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต

นอกจากนั้นวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการบริหารกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC Executive Secretary) ต่อจากนั้น ขบวนได้เคลื่อนย้ายไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการฟอกเขียวให้กับบริษัทใหญ่ที่ปล่อยคาร์บอน

ระหว่างกิจกรรมยื่นจดหมายเปิดผนึก นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทย ได้กางป้ายผ้า ขนาด 10×10 เมตร บนอาคาร 20 ชั้นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุข้อความ “People Before Profit – หยุดฟอกเขียวยักษ์ใหญ่คาร์บอน”

ชุมนุมเรียกร้อง Climate Justice และหยุดคาร์บอนเครดิต ก่อนรัฐบาลไทยไป COP29

โดย Green Peace Thailand ระบุว่า จดหมายเปิดผนึกระบุถึงการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ต้องยึดถือหลักความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมร่ำรวยในการก่อโลกเดือด โดยจะต้องชำระคืน “หนี้นิเวศ” ให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและยากจนในซีกโลกใต้

ข้อเรียกร้องในจดหมายเปิดผนึก

ข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชนเสริมสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิต มีดังนี้

1. ผลักดันให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้ โดยยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายป่าไม้แห่งชาติ แผนพลังงานชาติ แผนพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ นโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแบบจอมปลอม ที่นํามาสู่การเร่งเร้าวิกฤตโลกเดือด ทั้งนี้ เพื่อรับรองว่ารัฐบาลจะมีภาระรับผิด (accountability) ในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั้งใน
ลักษณะที่เป็นภาระรับผิดต่อประชาชนตามกระบวนการประชาธิปไตย และเป็นไปตามหลักการภาระรับผิดในระดับสากล

2. สร้างบทบาทนําในอาเซียน กลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงต่อโลกเดือดสูงและประชาคมโลก ในการเรียกร้องให้มีการชดใช้หนี้นิเวศ และความสูญเสียและความเสียหาย (loss and damage) ที่เกิดขึ้น

3. หยุดกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกฉบับที่สนับสนุนกลไกตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอน ซึ่งเป็นวาทกรรมแก้โลกเดือดแบบจอมปลอม และการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ดินและใต้ทะเลซึ่งเป็นการฟอกเขียวสร้างความชอบธรรมให้กัอุตสาหกรรมโดยอ้างความตกลงปารีสที่ยังตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์การพัฒนาแบบเดิม

4. ยุบเลิกองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ที่ไม่มีบทบาทอื่นใดนอกจากส่งเสริมระบบคาร์บอนเครดิตและสร้างความชอบธรรมให้อุตสาหกรรมยังคงปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกอยู่ต่อไป

5. ทบทวนวิสัยทัศน์ ภารกิจ และบทบาท ของกระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียใหม่ โดยเน้นส่งเสริมสิทธิชุมชนในการดูแลและปกป้องทรัพยากร และกํากับดูแลธุรกิจ กิจการ และอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด แทนที่จะละเมิดสิทธิชุมชนผ่าน
กระบวนการ EIA

6. ยกเลิกสัมปทานที่ให้บริษัทเอกชนที่เข้าไปทําโครงการคาร์บอนเครดิตและไบโอเครดิตทั้งหมด และยุติการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องคาร์บอนเครดิตและไบโอเครดิตทุกประเภท

7. มีมาตรการเร่งด่วนให้อุตสาหกรรมฟอสซิล อุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่ อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังภายในเวลาที่กําหนด หากไม่ดําเนินการต้องมีความผิดทางอาญาสถานหนัก

ชุมนุมเรียกร้อง Climate Justice และหยุดคาร์บอนเครดิต ก่อนรัฐบาลไทยไป COP29

นโยบายเอื้อประโยชน์ปล่อยคาร์บอน

Green Peace Thailand ระบุด้วยว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกฉบับ รวมถึงหยุดนโยบายซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไม่ได้ช่วยลดโลกร้อนได้จริง แต่กลับละเมิดสิทธิของประชาชน โดยพวกเขายังเรียกร้องให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดแนวทางการพัฒนาที่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลที่ผ่านมายังคงเอื้อประโยชน์ให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมฟอสซิล, อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร, และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นการก่อวิกฤตโลกเดือดและทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนและชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิตขอประกาศว่า จะไม่ยอมให้ภาครัฐเดินหน้าฟอกเขียวให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล, อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารยักษ์ใหญ่, อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติต่อไป

ป้องกันการยึดที่ดินชาวบ้านปลูกป่า

"เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์" เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวบนเวทีเสวนาว่า พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนให้มีการค้าขายคาร์บอนเครดิต และบริษัทต่างๆ สามารถจ่ายเงินให้การปลูกป่าเพื่อมาชดเชยคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะทำให้เกิดการยึดที่ดินของชาวบ้านมากขึ้น

เพราะที่ดินทำกินจะถูกเอาไปปลูกต้นไม้ และเปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างถูกกฎหมาย แทนที่จะมุ่งหาวิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงอยากเสนอให้พรรคประชาชน ยกเลิกเรื่องคาร์บอนเครดิตออกไปจากร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นฉบับเดียวกับที่พรรคพลังประชารัฐเสนอตอนเป็นหัวหน้ารัฐบาล

ชุมนุมเรียกร้อง Climate Justice และหยุดคาร์บอนเครดิต ก่อนรัฐบาลไทยไป COP29

ฟอกเขียวผ่านกลไกตลาดคาร์บอน

"ธารา บัวคำศรี" ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ควรมีบทบาทสำคัญในอาเซียนและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงกองทุนความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อฟื้นฟูชีวิตจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยไม่ควรเปิดโอกาสให้กลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิล อุตสาหกรรมเกษตร/เนื้อสัตว์ และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ ทำการฟอกเขียวผ่านกลไกตลาดคาร์บอน

ชุมนุมเรียกร้อง Climate Justice และหยุดคาร์บอนเครดิต ก่อนรัฐบาลไทยไป COP29

 

 

ที่มา : Green Peace Thailand, iLaw

ภาพ : Green Peace Thailand