‘แซมเบีย’ ไฟดับทั้งประเทศ เขื่อนไม่มีน้ำผลิตไฟฟ้า หลังเจอ ‘ภัยแล้ง’ รุนแรง
“แซมเบีย” ประสบปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เนื่องจาก “ภัยแล้งรุนแรง” ทำให้เขื่อนคาริบา (Kariba) มีน้ำไม่เพียงพอ จนไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้
KEY
POINTS
- “แซมเบีย” เจอไฟดับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากประสบภัยแล้งรุนแรงยาวนานต่อเนื่อง ทำให้เขื่อนแห้ง ผลิตไฟฟ้าไม่ได้
- รัฐบาลเรียกร้องให้ประชาชนและภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ชาวแซมเบียจำนวนมากไม่มีกำลังมากพอจะซื้อเทคโนโลยีดังกล่าวได้
- เขื่อนคาริบาจะต้องใช้เวลาอีก 3 ปี กว่าที่จะสามารถกลับมาผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้อย่างเต็มที่
“แซมเบีย” ประสบปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เนื่องจาก “ภัยแล้งรุนแรง” ทำให้เขื่อนคาริบา (Kariba) มีน้ำไม่เพียงพอ จนไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้
“ทะเลสาบคาริบา” เป็นทะเลสาบที่มนุษย์สร้างขึ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก และตั้งอยู่ห่างจากกรุงลูซากา เมืองหลวงของแซมเบีย ไปทางใต้ 200 กิโลเมตร ถูกสร้างมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในประเทศ และหลังจากนั้นได้สร้างเขื่อนคาริบาขึ้นมาเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหมุนเวียน
จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปี 2023 ผสานกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่เลวร้ายลง ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน จนเดือนมีนาคม 2024 แซมเบียประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยทำลายพื้นที่ปลูกข้าวโพดหลักไปประมาณ 10,000 ตร.กม. และโรงไฟฟ้าพลังน้ำของแซมเบียเกือบจะต้องปิดตัวลง
“ภัยแล้งครั้งนี้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกรรม การจัดหาน้ำและพลังงาน ซึ่งเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารของชาติและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านคน” ฮาคาอินเด ฮีชีเลมา ประธานาธิบดีแซมเบียกล่าว
เมื่อเขื่อนคาริบา แหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่คิดเป็นมากกว่า 80% ของการผลิตไฟฟ้าในแซมเบีย ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลัง สามารถผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือไม่ถึง 10% ของการผลิตปรกติ ทำให้ประชาชนชาวแซมเบียหลายล้านคนมีไฟฟ้าใช้เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน และบางพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ในเวลากลางคืนหลายบ้านต้องใช้เทียนเพื่อส่องสว่าง ใช้เตาถ่านทำอาหาร
แต่ผลกระทบก็ยังไม่รุนแรงเท่ากับในเวลากลางวัน ซึ่งเป็นเวลาที่ธุรกิจขนาดเล็กที่ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของประเทศเปิดทำการ พวกเขาต้องดิ้นรนหาเครื่องปั่นไฟมาใช้ เพื่อทำให้ธุรกิจไปต่อได้ โดยเทรเวอร์ ฮัมบาอี นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่าเศรษฐกิจของแซมเบียจะหดตัวลงอย่างมากหากวิกฤติพลังงานยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะทำให้ระดับความยากจนในประเทศสูงขึ้นด้วย
วิกฤติในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนให้แก่รัฐบาลแซมเบียและประเทศในแอฟริกาให้ต้องรีบหาแหล่งพลังงานสำรอง และไม่ควรฝากอนาคตของประเทศไว้กับแหล่งพลังงานเพียงที่พึ่งพาสภาพอากาศเพียงแห่งเดียว เพราะวิกฤติพลังงานสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการต่อสู้กับความยากจนได้มากกว่าการล็อกดาวน์ในยุคโควิด-19 เสียอีก
“แอฟริกา” เสี่ยงต่อสภาพอากาศเลวร้ายที่สุด
แอฟริกาเป็นทวีปที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด แต่กลับเป็นทวีปที่ต้องเจอกับสภาพอากาศเลวร้ายและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เนื่องจากประเทศยากจนไม่สามารถรับมือกับต้นทุนทางการเงินที่สูงในการปรับตัวได้
ภัยแล้งในปีนี้ในแอฟริกาใต้ถือเป็นภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ส่งผลให้พืชผลเสียหายและผู้คนนับล้านต้องอดอยาก ทำให้แซมเบียและประเทศอื่นๆ ต้องประกาศภัยพิบัติระดับชาติและขอความช่วยเหลือ
พลังงานไฟฟ้าพลังน้ำคิดเป็น 17% ของการผลิตพลังงานทั้งหมดในแอฟริกา คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 23% ภายในปี 2040 ตามข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ และไม่ใช่แค่แซมเบียประเทศเดียวที่ใช้พลังงานไฟฟ้าพลังน้ำสูงถึง 80% ของพลังงานทั้งหมด ในภูมิภาคนี้ยังโมซัมบิก มาลาวี ยูกันดา เอธิโอเปีย และคองโกที่ใช้ไฟฟ้าจากน้ำเป็นหลักด้วยเช่นกัน แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะเตือนว่าน้ำอาจจะไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าอีกต่อไป
“สภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรง รวมทั้งภัยแล้งที่ยาวนาน ทำให้เห็นชัดว่าการพึ่งพาพลังงานน้ำมากเกินไปนั้นไม่ยั่งยืนอีกต่อไป” คาลอส โลเปซ ศาสตราจารย์จาก มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ในแอฟริกาใต้กล่าว
รัฐบาลแซมเบียได้เรียกร้องให้ประชาชนและภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ชาวแซมเบียจำนวนมากไม่มีกำลังมากพอจะซื้อเทคโนโลยีดังกล่าวได้ ในขณะที่รัฐบาลเองก็จำเป็นต้องกลับไปใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล และโรงไฟฟ้าถ่านหินตามความจำเป็น เพื่อจ่ายไฟให้โรงพยาบาลและอาคารอื่น ๆ เป็นการชั่วคราว แม้ว่าจะก่อให้เกิดมลพิษก็ตาม
สภาพอากาศของแซมเบียเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากเขื่อนคาริบามีระดับน้ำลดลงเกือบหมดเขื่อน จนเผยให้เห็นซากต้นไม้ที่อยู่ใต้เขื่อน และยังไม่มี่ทีท่ากว่าน้ำจะกลับมาเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่กล่าวว่าในตอนนี้มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 30 เซนติเมตร ตั้งแต่ฤดูฝนปี 2023 ทั้งที่ปรกติแล้วระดับน้ำจะสูงขึ้นประมาณ 6 เมตรหลังจากฝนตก
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่หวังว่าฤดูฝนที่จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2024 จะช่วยบรรเทาภัยแล้งลงไปได้บ้าง แต่เขื่อนคาริบาจะต้องใช้เวลาอีก 3 ปี กว่าที่จะสามารถกลับมาผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเตือนว่าไม่ควรพึ่งพาแต่ฝนฟ้า เพราะไม่มีอะไรการันตีว่าฝนจะตก และมีแนวโน้มว่าปัญหาจะเลวร้ายลง ควรหาวิธีการรองรับ
“การพึ่งพาพลังงานน้ำถึง 85% เป็นความเสี่ยงอย่างเห็นได้ชัด เราจำเป็นต้องมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานที่ไม่หมุนเวียนผสมผสานกัน เพื่อว่าหากแหล่งใดแหล่งหนึ่งล้มเหลว เราก็จะไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้น” เจฟฟรีย์ ชิยุมเบ รองประธานคณะกรรมการพลังงานของสถาบันวิศวกรรมแซมเบียอธิบาย
ที่มา: Africa News, AP News, Euro News