16 ต.ค. World Food Day ประชากร 733 ล้านคนทั่วโลกหิวโหย ราคาอาหารสูงขึ้นไม่หยุด

16 ต.ค. World Food Day ประชากร 733 ล้านคนทั่วโลกหิวโหย ราคาอาหารสูงขึ้นไม่หยุด

อาหารเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อันดับ 3 รองจากอากาศ และน้ำ ทุกคนควรมีสิทธิได้รับอาหารที่เพียงพอ ทั้งนี้ สถิติ GHI เผยว่าโอกาสในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติในการขจัดความหิวโหยภายในปี 2030 นั้น ดูมีความเป็นไปได้น้อยมาก

วันอาหารโลก (World Food Day) คือวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี ถูกก่อตั้งโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) ในปี 1979 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และดำเนินการเพื่อยุติความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการทั่วโลก

แต่ละปีวันอาหารโลกจะเน้นไปที่หัวข้อต่างๆ เพื่อเน้นความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ และการเกษตรที่ยั่งยืน โดยหัวข้อสำหรับปี 2024 คือ "Right to Foods for a Better Life and a Better Future" สิทธิในการเข้าถึงอาหารเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นและอนาคตที่ดีขึ้น เน้นความจำเป็นในการทำให้อาหารสามารถเข้าถึงได้ ราคาไม่แพง และหลากหลายสำหรับทุกคน

FAO ระบุว่า แม้ว่าเกษตรกรทั่วโลกจะผลิตอาหารเพียงพอสำหรับทุกคน แต่ความหิวโหยยังคงมีอยู่เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ สถิติที่น่าตกใจ ประชากรราว 733 ล้านคน ยังคงเผชิญกับความหิวโหย และมากกว่า 2.8 พันล้านคน ไม่มีกำลังซื้ออาหารที่มีคุณภาพ เพราะราคาของอาหารที่มีคุณภาพยังคงเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉลี่ยแล้วในปี 2022 ราคาอาหารที่มีคุณภาพอยู่ที่ 3.96 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 132.34 บาท) ต่อวันต่อคน

การเข้าถึงอาหารเป็นสิทธิมนุษยชน

กษัตริย์เลตซีที่ 3 แห่งเลโซโท ซึ่งทรงเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ขึ้นเวทีในพิธีเปิด World Food Day ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยทรงแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของสิทธิสากลในการเข้าถึงอาหารที่หลากหลาย ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ

กษัตริย์เลตซีที่ 3 แห่งเลโซโท กล่าวว่าอาหารเป็นสิทธิเป็นพันธสัญญา แต่เราต้องเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้าย โดยสถิติในปี 2023 ประชากร 1 ใน 11 คน และ 1 ใน 5 คนในแอฟริกาเผชิญกับความหิวโหย

“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความหิวโหยเท่านั้น แต่สิทธิในการเข้าถึงอาหารครอบคลุมถึงการรับรองว่าทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ น่าเสียดายที่ประชากรโลกกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถหาอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงผลที่ตามมาอันเลวร้าย เช่น เด็กๆ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ และผู้คนไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพราะโภชนาการเป็นรากฐานที่เราใช้สร้างอนาคตที่รุ่งเรือง”

16 ต.ค. World Food Day ประชากร 733 ล้านคนทั่วโลกหิวโหย ราคาอาหารสูงขึ้นไม่หยุด

ไม่มีความมั่นคงทางอาหารหากปราศจากสันติภาพ

นายฉู่ ตงหยู ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กล่าวในพิธีเปิดงานว่า วันอาหารโลกเป็นวันสำคัญ และในปี 2024 ก็ตรงกับวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 79 ปี ของการก่อตั้งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

"เราควรความและกระตุ้นความร่วมมือใหม่อีกครั้ง ในการสร้างระบบเกษตรอาหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น และยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งสามารถหล่อเลี้ยงโลกได้"

นายตงหยู กล่าวด้วยว่า ความมั่นคงทางอาหาร เกี่ยวข้องกับความพร้อมของอาหาร การเข้าถึงอาหาร และความสามารถในการซื้ออาหาร ในขณะที่สถานที่ต่างๆ ทั่วโลกยังมีความขัดแย้ง แต่จะไม่มีความมั่นคงทางอาหารหากปราศจากสันติภาพ

"สันติภาพเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับความมั่นคงทางอาหาร และสิทธิในการได้รับอาหารเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เราไม่สามารถสร้างชุมชนที่สงบสุขได้หากไม่แก้ไขปัญหาความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการ"

16 ต.ค. World Food Day ประชากร 733 ล้านคนทั่วโลกหิวโหย ราคาอาหารสูงขึ้นไม่หยุด

ปี 2024 วิกฤติอาหารที่เพิ่มมากขึ้น

ปี 2024 มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากในความไม่มั่นคงทางอาหารทั่วโลก มีผู้คนหลายล้านคนที่เผชิญกับความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการ จากรายงาน Global Report on Food Crises (GRFC) 2024 มีสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ประชากร 282 ล้านคน ใน 59 ประเทศ/เขตการปกครองที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารขั้นรุนแรง ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารและวิถีชีวิตอย่างเร่งด่วน คิดเป็น 21.5% ของประชากรในประเทศ/เขตการปกครองเหล่านี้
  • นับตั้งแต่ปี 2022 จำนวนผู้ที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารขั้นรุนแรงเพิ่มขึ้น และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพิ่มขึ้น 24 ล้านคน
  • วิกฤตอาหารส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางอย่างมาก โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ภาวะทุพโภชนาการและความหิวโหยทำให้อัตราการเตี้ย, ผอมแห้ง และภาวะทุพโภชนาการเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

เปิดดัชนีความหิวโหย GHI 2024

Global Hunger Index หรือ GHI เป็นเครื่องมือที่หน่วยงานด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศใช้ในการวัดและติดตามระดับความหิวโหยโดยใช้คะแนน GHI ซึ่งอิงตามตัวชี้วัดภาวะโภชนาการไม่เพียงพอ ภาวะเตี้ย ภาวะผอมแห้ง และการเสียชีวิตของเด็กใน 127 ประเทศ

โดย GHI ระบุว่า  ความคืบหน้าในการลดความหิวโหยมีน้อยมากนับตั้งแต่ปี 2016 และโอกาสในการบรรลุเป้าหมายขจัดความหิวโหยให้ได้ภายในปี 2030 นั้นดูริบหรี่ เนื่องจากยังมี 42 ประเทศที่ยังคงประสบปัญหาความหิวโหยในระดับ "ร้ายแรง" (Alarming)

10 ประเทศระดับความหิวโหยสูงสุด 2024

ประเทศเหล่านี้เผชิญกับความท้าทายอย่างรุนแรงในการรักษาความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่เพียงพอให้กับประชากรของตนเอง

  • อันดับ 1 เยเมน คะแนน 50.0 (ระดับความหิวโหย Extremely Alarming)
  • อันดับ 2 โซมาเลีย คะแนน 49.1 (ระดับความหิวโหย Alarming)
  • อันดับ 3 ซูดานใต้ คะแนน 48.6 (ระดับความหิวโหย Alarming)
  • อันดับ 4 ซีเรีย คะแนน 47.8 (ระดับความหิวโหย Alarming)
  • อันดับ 5 สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก คะแนน 47.3 (ระดับความหิวโหย Alarming)
  • อันดับ 6 ไนเจอร์ คะแนน 46.8 (ระดับความหิวโหย Alarming)
  • อันดับ 7 โมซัมบิก คะแนน 46.5 (ระดับความหิวโหย Alarming)
  • อันดับ 8 อัฟกานิสถาน คะแนน 46.2 (ระดับความหิวโหย Alarming)
  • อันดับ 9 มาดากัสการ์ คะแนน 45.9 (ระดับความหิวโหย Alarming)
  • อันดับ 10 เอธิโอเปีย คะแนน 45.5 (ระดับความหิวโหย Alarming)

10 ประเทศระดับความหิวโหยต่ำ (Low) 2024

ประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการลดระดับความหิวโหย แสดงให้เห็นถึงระบบความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่แข็งแกร่ง

  • อันดับ 1 เบลารุส คะแนน <5
  • อันดับ 2 บอสเนีย และเฮอร์เซโกวีนา คะแนน <5
  • อันดับ 3 ชิลี คะแนน <5
  • อันดับ 4 จีน คะแนน <5
  • อันดับ 5 คอสตาริกา คะแนน <5
  • อันดับ 6 โครเอเชีย คะแนน <5
  • อันดับ 7 เอสโตเนีย คะแนน <5
  • อันดับ 8 จอร์เจีย คะแนน <5
  • อันดับ 9 ฮังการี คะแนน <5
  • อันดับ 10 คูเวต คะแนน <5

สถิติความหิวโหยของไทยในปี 2024

ดัชนีความหิวโหยระดับโลก (GHI) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 52 จาก 127 ประเทศ โดยมีคะแนน 10.1 ซึ่งบ่งบอกถึงระดับความหิวโหยระดับ "ปานกลาง"

  • การขาดสารอาหาร : ประมาณ 5.6% ของประชากร มีภาวะขาดสารอาหาร
  • ภาวะเตี้ยในเด็ก : ประมาณ 12.4% ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะเตี้ย
  • ภาวะผอมแห้งของเด็ก : ประมาณ 7.2% ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะผอมแห้ง
  • อัตราการตายของเด็ก : มีเพียง 0.8% ของเด็ก ที่เสียชีวิตก่อนอายุครบห้าปี

สถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญในการรักษาความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่เพียงพอสำหรับประชาชนทุกคน

แนวโน้มราคาอาหารโลก ปี 2024-2025

World Bank ทำรายงานแนวโน้มราคาอาหารโลกสำหรับปี 2024 และ 2025 โดยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มราคาสินค้าอาหารทั่วโลกและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความมั่นคงทางอาหาร ดังนี้

แนวโน้มปี 2024

  • ราคาอาหารทั่วโลก : คาดว่าราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น 2.2% ในปี 2024 ซึ่งเป็นการชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  • ราคาอาหารที่ซื้อกลับบ้าน (FAH) : ราคาสำหรับอาหารที่ซื้อเพื่อบริโภคในบ้านคาดว่าจะลดลง 0.6%
  • ราคาอาหารนอกบ้าน (FAFH) : ราคาสำหรับอาหารที่บริโภคนอกบ้านคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.9%

แนวโน้มปี 2025

  • ราคาอาหารทั่วโลก : ในปี 2025 คาดว่าราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น 1.6% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
  • ราคาอาหารที่ซื้อกลับบ้าน (FAH) : ราคาสำหรับอาหารที่ซื้อกลับบ้านคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8%
  • ราคาอาหารนอกบ้าน (FAFH) : ราคาสำหรับอาหารที่บริโภคนอกบ้านคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ในอัตราที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับปี 2024

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อราคาอาหาร

  • ต้นทุนพลังงานและปุ๋ย : ต้นทุนพลังงานและปุ๋ยที่สูงขึ้นกำลังส่งผลต่อค่าผลิตอาหาร
  • การขาดแคลนจากเหตุการณ์สภาพอากาศ : เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วสามารถทำให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารหยุดชะงัก นำไปสู่การเพิ่มราคาสินค้า
  • ความเสี่ยงในตลาดโลก : การหยุดชะงักในช่องทางเดินเรือและนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพสามารถส่งผลกระทบต่อราคาอาหารได้

ปัจจัยที่ส่งผลวิกฤติอาหารปี 2024

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง : เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้การผลิตการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้ผลผลิตลดลงและเกิดการขาดแคลนอาหาร

ความขัดแย้งและการย้ายถิ่นฐาน : ความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางการเมืองในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้คนนับล้านต้องย้ายถิ่นฐาน ทำให้พวกเขาเข้าถึงอาหารและสิ่งจำเป็นอื่นๆ ได้ยากขึ้น

แรงกระแทกทางเศรษฐกิจ : ราคาสินค้าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น, อัตราเงินเฟ้อ และการตกต่ำทางเศรษฐกิจ ทำให้คนโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ไม่สามารถซื้ออาหารที่มีโภชนาการได้

การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน : การระบาดของ COVID-19 และความพยายามในการฟื้นตัวได้ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกตึงตัว ส่งผลกระทบต่อความพร้อมใช้งานและการกระจายอาหาร

 

 

อ้างอิง : FAO, GHI, World Bank, United Nations