บุคลากรด้านความยั่งยืนฮอต องค์กรต้องการสูง เงินเดือนมากกว่า 5-10%

บุคลากรด้านความยั่งยืนฮอต องค์กรต้องการสูง เงินเดือนมากกว่า 5-10%

พนักงานที่มีความรู้ด้านความยั่งยืนช่วยให้บริษัทปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มชื่อเสียง ดึงดูดลูกค้าและนักลงทุน และมีส่วนร่วมในการสร้างโลกที่ดีขึ้น พวกเขาจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจที่มองไปข้างหน้า

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทในหลายอุตสาหกรรมได้รับรู้ถึงความสำคัญของความยั่งยืน การปฏิบัติด้านดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และการปฏิบัติตามกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น การพิจารณาความยั่งยืนและ ESG ได้เปลี่ยนจากทางเลือกไปสู่สิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ ทำให้บริษัทบูรณาการหลักการ ESG เข้ากับการดำเนินงานหลักเพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับผู้มีส่วนได้เสีย จึงทำให้เกิดความต้องการพนักงานและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และทักษะในด้านเหล่านี้อย่างสูง แนวโน้มนี้ได้รับแรงกระตุ้นจากหลายปัจจัย รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ความคาดหวังของนักลงทุน ความต้องการของผู้บริโภค การจัดการความเสี่ยง และการแสวงหานวัตกรรมและประสิทธิภาพ

สถิติปี 2023-2024 ที่ชี้ให้เห็นความต้องการพนักงานและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และทักษะด้านความยั่งยืน มีดังนี้ 

การลงทุนใน ESG เพิ่มขึ้น : ตามรายงานของ McKinsey & Company บริษัทต่างๆ กำลังเร่งการลงทุนในโครงการ ESG เพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม รายงานชี้ให้เห็นว่าธุรกิจกำลังมีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมต่อเป้าหมายความยั่งยืน

การพัฒนาด้านกฎระเบียบ : S&P Global ESG Regulatory Tracker ระบุถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมากในด้านการพัฒนากฎระเบียบสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลทั่วโลก ซึ่งเน้นถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น

ความต้องการของผู้บริโภค : การสำรวจของ Thomson Reuters Institute เผยว่าผู้บริโภคกำลังเลือกที่จะสนับสนุนบริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งทำให้ธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการดำเนินงาน

แนวโน้มตลาดแรงงาน : โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ระบุว่า การโพสต์งานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและ ESG ได้เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2023-2024 ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ที่สูงมาก

บุคลากรสายความยั่งยืนเป็นที่ต้องการสูง

"นัฐติยา ซอล" ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ทรัพยากรบุคคล ซัพพลายเชนและวิศวกรรม และฝ่ายอีสเทิร์น ซีบอร์ด บริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทต่างๆ ในประเทศกำลังมองหาผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะในด้านการพัฒนาความยั่งยืน การจัดการ ESG วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อองค์กร ตำแหน่งเหล่านี้ต้องการความรู้ทางเฉาสะทาง การคิดเชิงกลยุทธ์ และความสามารถในการจัดการกฎระเบียบที่ซับซ้อน

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ต้องการคนมาทำงานในตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเติบโตขึ้นถึง 8% ในช่วงปี 2021-2024 ทั้งนี้ ทาง Robert Walters ยังพบว่ามีหลายตำแหน่งงานและหน้าที่ที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะในด้านนี้ อาทิ

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability Development Specialist)
  • ผู้ช่วยผู้จัดการส่งเสริม ESG/ความยั่งยืน (ESG Promotion/Sustainability Assistant Manager)
  • ผู้จัดการด้านความยั่งยืน/ESG (Sustainability/ESG Manager)
  • วิศวกรสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineer)
  • เจ้าหน้าที่/เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านความยั่งยืน (Sustainability Officer/Senior Officer)
  • ผู้จัดการความรับผิดชอบต่อองค์กร (Corporate Responsibility Manager)
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Health and Safety Specialist)
  • ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน (Sustainability Consultant)
  • วิศวกรความยั่งยืนด้านพลังงาน (Energy Sustainability Engineer)
  • รองผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนด้านความยั่งยืน (Sustainability Investment Associate Director)

เงินเดือนมากกว่าคนอื่น 5-10%

"นัฐติยา" กล่าวด้วยว่า เงินเดือนของตำแหน่งเหล่านี้มักจะสูงกว่าตำแหน่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนประมาณ 5-15% ตามข้อมูลจากผู้สมัครที่มีในฐานข้อมูลของโรเบิร์ต วอลเทอร์ส เนื่องจากบุคลากรในกลุ่มนี้สามารถผลักดันองค์กรให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก รวมถึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรผ่านมาตรฐานต่าง ๆ เช่น ESG, การรับรองด้านสิ่งแวดล้อม LEEDS, กลไกการปรับปรุงขอบเขตคาร์บอน (CBAM)

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มว่าต้องการพนักงานและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และทักษะสูงมาก คือ

อุตสาหกรรมพลังงาน เพราะเชื่อมโยงกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มการใช้ renewable energy ให้ได้ 51% ภายในปี 2037 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 20%

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศ กำลังปรับตัวเพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่สำคัญ และความยั่งยืนเป็นทิศทางสำคัญการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TAT) จึงมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสนับสนุนสินค้าชุมชน

เหตุผลที่องค์กรต่างๆ ลงทุนจ้าง

การปฏิบัติตามกฎระเบียบ : รัฐบาลทั่วโลกกำลังดำเนินการตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าบริษัทต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรของตนจะไม่เผชิญกับปัญหาทางกฎหมายหรือค่าปรับ

ความคาดหวังของนักลงทุน : นักลงทุนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัจจัย ESG อย่างมากในการตัดสินใจลงทุน บริษัทที่มีผลงานด้าน ESG ที่แข็งแกร่งมีแนวโน้มที่จะดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่การเติบโตและความสำเร็จในระยะยาว

ความต้องการของผู้บริโภค : ผู้บริโภคกำลังตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น และมักจะสนับสนุนบริษัทที่แสดงความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืน การจ้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านนี้ช่วยให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย 95% ของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และ 80% สนใจสินค้าที่สามารถใช้ซ้ำได้ หรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น รถ EV

การจัดการความเสี่ยง : การเข้าใจความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อมช่วยให้บริษัทสามารถลดผลกระทบต่อการดำเนินงานของตนเอง การมีบุคลากรที่มีความรู้ด้านความยั่งยืนช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

นวัตกรรมและประสิทธิภาพ : การดำเนินงานที่ยั่งยืนมักนำไปสู่การนวัตกรรมและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด

การลงทุนในบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนและ ESG ไม่เพียงแต่ช่วยให้บริษัทสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่ยังสามารถสร้างความเติบโตและความยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างแท้จริง