โลกเปลี่ยน EPSON เลิกขายปริ้นเตอร์เลเซอร์ มุ่งอิงค์เจ็ท เพราะความยั่งยืน

โลกเปลี่ยน EPSON เลิกขายปริ้นเตอร์เลเซอร์ มุ่งอิงค์เจ็ท เพราะความยั่งยืน

เอปสันเผยผลสำรวจด้านทัศนคติและพฤติกรรมต่อการพิมพ์ในสำนักงานทั่วอาเซียน ชี้ธุรกิจมากกว่าครึ่งหนุนใช้เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท เพื่อผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ

เอปสัน (EPSON) ผู้นำโลกในตลาดการพิมพ์เชิงพาณิชย์ เผยผลสำรวจล่าสุดจากรายงาน Road to Sustainable Printing: Exploring Attitudes and Behaviors in Southeast Asia พบว่าความยั่งยืนถูกยกระดับความสำคัญขึ้น และมีผลต่อพฤติกรรมการพิมพ์ในสำนักงานอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามยังมีธุรกิจและบุคคลจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่

รายงาน Road to Sustainable Printing: Exploring Attitudes and Behaviors in Southeast Asia เป็นการสำรวจเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรธุรกิจจำนวน 1,500 คน ในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพื่อศึกษาถึงทัศนคติและพฤติกรรมต่อการพิมพ์เพื่อความยั่งยืน

โดยรายงานชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญไปสู่การพิมพ์ที่ยั่งยืนในประเทศไทย รายงานระบุว่า 72% ของธุรกิจไทย ได้ใช้โซลูชั่นการพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้กระดาษรีไซเคิลและเครื่องพิมพ์ประหยัดพลังงาน ถึงมีแม้แนวโน้มเชิงบวกนี้ แต่รายงานยังพบว่า มีช่องว่างเกี่ยวกับความรู้ ระหว่างธุรกิจและผู้บริโภคเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากเทคโนโลยีการพิมพ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น หลายคนไม่ทราบถึงความแตกต่างด้านความยั่งยืนระหว่างเครื่องพิมพ์เลเซอร์และอิงค์เจ็ท

รายงานดังกล่าวพบอีกว่า ยังมีความเข้าใจผิดในหมู่องค์กรธุรกิจทั่วภูมิภาคนี้ โดยหนึ่งในสาม (34%) ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท ขณะที่มีเพียง 29% ที่เชื่อว่าเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และอีก 29% ไม่แน่ใจในเรื่องนี้

ยกเลิกขายเครื่องพิมพ์เลเซอร์

“เจสเตอร์ ครูซ” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์องค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอปสัน กล่าวว่า เอปสัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ยกเลิกการจำหน่ายเครื่องพิมพ์เลเซอร์ตั้งแต่สิ้นปี 2566 หลังจากการประกาศยุติการจำหน่ายและจัดจำหน่ายเครื่องพิมพ์เลเซอร์ทั่วโลก และจะมุ่งให้ความสำคัญกับเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทเท่านั้น  เนื่องจากเทคโนโลยีเลเซอร์ต้องใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์ ซึ่งทำให้ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

“ในสำนักงานปัจจุบัน มีเพียงเครื่องปรับอากาศและไฟส่องสว่างเท่านั้นที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าอุปกรณ์สำนักงาน และเครื่องพิมพ์คิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ดังนั้น การเปลี่ยนจากเครื่องพิมพ์เลเซอร์มาใช้เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทที่มีเทคโนโลยี Heat-Free ของเอปสันจะสามารถลดการใช้พลังงานในการพิมพ์ได้มากถึง 85% การใช้พลังงานที่น้อยลงนี้ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีก”

การพิมพ์ยังคงสำคัญในยุคไฮบริด

“ครูซ” กล่าวด้วยว่า ความสามารถทางดิจิทัลกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานประจำวันขององค์กรธุรกิจปัจจุบัน มากกว่าจะเป็นแค่ทางเลือกเหมือนในอดีต ซึ่งหลายองค์กรมองว่าการแชร์เอกสารดิจิทัลเป็นขั้นตอนแรกในการก้าวเข้าสู่กระบวนการดิจิทัล (Digitalization)

อย่างไรตาม ผลสำรวจของ Epson ในปีนี้ตอกย้ำว่า การพิมพ์ยังคงเป็นขั้นตอนการทำงานที่มีความจำเป็นสำหรับสำนักงานในภูมิภาคนี้ โดยผู้มีอำนาจตัดสินใจในการจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงานและผู้ใช้งานมากกว่า 40% ยืนยันว่ามีการใช้กระบวนการพิมพ์เป็นประจำทุกวัน อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบไฮบริดและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สำนักงานต่างๆ ต้องการความยืดหยุ่นในการพิมพ์งานเพิ่มมากขึ้น

ความต้องการผู้บริโภค

  • 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้การพิมพ์ในที่ทำงานมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • 44% ต้องการเห็นระบบการพิมพ์ดิจิทัลแบบบูรณาการที่ทันสมัย เช่น โซลูชันการพิมพ์ผ่านเครือข่ายคลาวด์
  • 4 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถามยังมองว่าความกะทัดรัดของเครื่องพิมพ์มีความจำเป็นต่อการพิมพ์งานในสำนักงาน ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มของธุรกิจที่มุ่งเน้นความมีประสิทธิภาพและความทนทานในพื้นที่จำกัด
  • 3 ใน 5 หรือ 66% ของผู้ตอบแบบสอบถามได้ระบุว่าความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกเครื่องพิมพ์
  • 74% ของบุคคลและบริษัทมีความตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพิมพ์ในระดับ ‘มาก’ หรือ ‘ปานกลาง’
  • 63% ‘มีแนวโน้ม’ หรือ ‘มีแนวโน้มมาก’ ที่จะยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อโซลูชันการพิมพ์ที่ยั่งยืน
  • นำวิธีการพิมพ์ที่เน้นความยั่งยืนมาปฏิบัติ เช่น การพิมพ์สองหน้า (38%) และการเข้าร่วมโครงการรีไซเคิลกระดาษ (34%)

ก่อสร้าง-ค้าปลีก ยังเน้นใช้เอกสารกระดาษ

องค์กรในบางอุตสาหกรรมจะมีการปรับตัวช้ากว่า เช่น มีเพียง 39% ขององค์กรในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และ 40% ในธุรกิจการค้าปลีกที่ยังคงใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่มีความทันสมัยมากกว่า เช่น กลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาและบริการวิชาชีพ และโฆษณาและการตลาด ที่มี 50% และ 48% ขององค์กรในธุรกิจนี้ที่ได้เริ่มเข้าสู่ Digitalization 

ขนาดของธุรกิจก็มีส่วนสำคัญ โดย 41% ของธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่เกิน 50 คน และ 48% ของธุรกิจขนาดกลางที่มีขนาดไม่เกิน 500 คน ได้เปลี่ยนไปใช้เอกสารแบบดิจิทัล เมื่อเทียบกับ 45% ของธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนพนักงานมาก ตั้งแต่ 501 คนขึ้นไป ทำให้มีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงภายในน้อยกว่า

เพียง 1 ใน 3 ยินดีจะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อความยั่งยืน

ความต้องการของผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนกำลังเพิ่มขึ้น โดยมี 65% ของผู้บริโภคไทย ที่ชอบซื้อสินค้าจากบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคนี้กำลังผลักดันให้ธุรกิจหันมาใช้แนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“ครูซ” อธิบายว่า แม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่าความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกเครื่องพิมพ์ แต่มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ยินดีที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อมาตรการที่ยั่งยืน จึงทำให้เกิดช่องว่างใหญ่ในเรื่องการปฏิบัติจริง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมก็ยังสามารถเป็นสิ่งที่ดีต่อธุรกิจได้เช่นกัน โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามพร้อมจะเปลี่ยนมาใช้เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท แทนที่เครื่องถ่ายเอกสารเลเซอร์อย่างแน่นอนหากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นทางเลือกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

“ผู้คนให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการลดการใช้พลังงาน แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือการแสดงให้เห็นว่าประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้สามารถแปลงเป็นเม็ดเงินได้อย่างไร เอปสันเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่านวัตกรรมสามารถทำให้การดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศเกิดเป็นความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจได้ อนาคตขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ยั่งยืน และมันดูจะมีแนวโน้มที่สดใส ด้วยปรัชญาในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ กะทัดรัด และแม่นยำ เอปสันจะยังคงผลักดันความยั่งยืนให้เป็นแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่สำคัญต่อไป” ครูซกล่าว