‘สารเคมีตลอดกาล’ สะสมในร่างกาย ทำผู้ใหญ่ตอนต้นนอนไม่หลับ
“สารเคมีตลอดกาล” หรือ PFAs บางชนิดอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของการนอนหลับและการตื่นนอนในผู้ใหญ่ตอนต้น และเชื่อมโยงกับโรคอัลไซเมอร์
KEY
POINTS
- ผลวิจัยพบว่า คนที่มีสาร PFAs สะสมในเลือดมากที่สุด 3 อันดับแรก จะนอนน้อยกว่ากลุ่มคนที่มีสารสะสมในร่างกายน้อยที่สุด ประมาณ 80 นาทีต่อคืน
- อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นอาการระยะแรกของอัลไซเมอร์ได้ รวมถึงโรควิตกกังวลและโรคสมาธิสั้น
- สารเคมีตลอดชีวิตบางตัวมีครึ่งชีวิตยาวนานหลายปี ซึ่งหมายความว่าอาจใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่ร่างกายจะขับสารเหล่านี้ออกไปได้หมด
“สารเคมีตลอดกาล” หรือ PFAs เป็นสารเคมีประเภทหนึ่งที่มีความทนทานสูง และสลายตัวช้ามาก ถูกใช้เป็นส่วนประกอบข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันหลากหลายประเภท เพื่อทำให้บรรจุภัณฑ์ สี และสารเคลือบมีความทนทานต่อน้ำหรือความร้อนเป็นพิเศษ เช่น เครื่องครัว โฟมดับเพลิง และเสื้อผ้า บรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องครัว เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ซึ่งมีมากกว่า 4,000 ชนิด
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “สารเคมีตลอดกาล” กลายเป็นที่รู้จักในฐานะตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพวกมันใช้เวลาย่อยสลายนาน หากสะสมในร่างกายมนุษย์ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสร้างความเสียหายกับตับ โรคต่อมไทรอยด์ ปัญหาภาวะเจริญพันธุ์ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งและระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
งานวิจัยล่าสุดยังพบว่า PFAs อาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับและการตื่นนอนในผู้ใหญ่ตอนต้นอีกด้วย โดยการศึกษาของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียรวบรวมตัวอย่างเลือดและข้อมูลที่การนอนหลับจาก คนที่มีอายุระหว่าง 19-24 ปี จำนวน 144 คน
รวมการวิจัยตรวจสอบ PFAs 7 ประเภท พบว่ามีสาร 4 PFAs ชนิด ได้แก่ PFDA, PFHXS, PFOA และ PFOs ซึ่งถือว่าเป็นสารเคมีตลอดกาลแบบดั้งเดิม ที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางจนต้นปี 2000 แม้ในตอนนี้จะถูกยกเลิกไปแล้ว เพราะพบว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการนอนหลับน้อยลง หรือการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ และถูกแทนที่ด้วยสารประกอบที่คล้ายกันที่มีผลกระทบน้อยกว่า แต่ก็ยังคงมีปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม
ผลวิจัยพบว่า คนหนุ่มสาวที่มีสาร PFAs สะสมในเลือดมากที่สุด 3 อันดับแรก จะนอนน้อยกว่ากลุ่มคนที่มีสารสะสมในร่างกายน้อยที่สุด ประมาณ 80 นาทีต่อคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเข้มข้นสูงของ PFOs ในเลือดของพวกเขามีแนวโน้มที่จะรายงานการรายงานตัวเองหลับนอนหลับตื่นขึ้นมาหรือรู้สึกเหนื่อยในช่วงเวลาตื่น
“เนื่องจากร่างกายต้องการการนอนหลับทุกวัน หาก PFAs อาจรบกวนการนอนหลับ จะส่งผล กระทบต่อร่างกายในทันทีมากกว่าปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่น ๆ อีกทั้งการนอนหลับไม่ดียังส่งผลระยะยาว ทำให้เกิดปัญหาทางระบบประสาท โรคอัลไซเมอร์ และพฤติกรรมโรคเบาหวานชนิด 2” หลี่ ซีเหวิน นักวิจัยกล่าวในแถลงการณ์
หลี่กล่าวต่อว่า สารเคมีเหล่านี้ถูกสะสมในร่างกายมาตลอด ซึ่งอาจจะสะสมมาตั้งแต่แรกเกิด หรือแม้กระทั่งถ่ายทอดมาตั้งแต่ที่อยู่ครรภ์ เพื่อค้นหากลไกที่เป็นไปได้เบื้องหลังความสัมพันธ์นี้ ทีมวิจัยได้ศึกษายีนที่สารเคมีตลอดกาลแบบดั้งเดิมทั้ง 4 ตัวส่งผลกระทบ และยีนใดที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการนอนหลับ
จากข้อมูลนี้ นักวิจัยได้ระบุยีน 7 ชนิดที่ได้รับการกระตุ้นโดย PFAs และมีอิทธิพลต่อการนอนหลับ ตัวอย่างเช่น ยีนที่เรียกว่า HSD11B1 ช่วยผลิตคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายตื่นตัวในช่วงเวลาสำคัญของวัน หรือในช่วงที่มีความเครียด
“โปรตีนที่เข้ารหัสโดย HSD11B1 ถูกขัดขวาง ก็หมายความว่าระดับคอร์ติซอลอาจเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลต่อการนอนหลับด้วยเช่นกัน” หลี่กล่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่าโปรตีนคาร์เทปซินบี (Cathepsin B) ที่เกี่ยวกับหน่วยความจำและฟังก์ชันการรับรู้ ก็พบว่าเชื่อมโยงกับผลกระทบของ PFAs ด้วยเช่นกัน เพราะหากโปรตีนนี้ผลิตเอมไซน์มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นอาการระยะแรกของอัลไซเมอร์ได้ รวมถึงโรควิตกกังวลและโรคสมาธิสั้น แม้ว่าผู้เขียนของการศึกษากล่าวว่าการศึกษาทางระบาดวิทยาจำเป็นต้องให้ภาพที่ชัดเจนของผลกระทบของสมองก็ตาม
การวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า PFAs อาจสามารถหลุดลอดจากการดักจับของ “ตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง” เยื่อที่เลือกให้สารบางอย่างผ่านไปสู่สมองได้ และ ทำให้ระดับสารสื่อประสาท เช่น โดปามีน กลูตาเมต และเซโรโทนิน ตลอดจนการควบคุมระดับของแคลเซียมให้คงที่ (Calcium Homeostasis) แปรปรวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพการนอนหลับ
สารเคมีตลอดชีวิตบางตัวมีครึ่งชีวิตยาวนานหลายปี ซึ่งหมายความว่าอาจใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่ร่างกายจะขับสารเหล่านี้ออกไปได้หมด ดังนั้นการวิจัยเน้นถึงความจำเป็นในการใช้กฎระเบียบที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
“ปัญหาคือ PFAs เป็นกลุ่มของสารประกอบหลายพันชนิด ดังนั้นควรมีการอภิปรายเกี่ยวกับการควบคุมและจัดกลุ่มสารเคมีให้ชัดเจน” หลี่กล่าว
อีกทั้งจำเป็นต้องมีการศึกษาทางระบาดวิทยาขนาดใหญ่ในอนาคต เพื่อยืนยันผลลัพธ์ของการวิจัย ในขณะนี้ทีมวิจัยกำลังวางแผนที่จะดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับยีนที่ระบุในการศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่าง PFO และการพัฒนาสมอง
ที่มา: IFL Science, New Atlas, The Guardian, The Hill, Technology Networks