พบ ‘ปลาผีแม่น้ำโขง’ ในกัมพูชา ปลาลึกลับที่คิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 20 ปี
ชาวประมงกัมพูชาจับ “ปลาลึกลับ” ได้สองตัวใน “แม่น้ำโขง” ที่มีน้ำหนักประมาณ 5-6 กิโลกรัม และมีขนาดราว 2-3 ฟุต และนำไปมอบให้กับนักวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปตรวจสอบหาสายพันธุ์ของปลาชนิดนี้ ซึ่งพบว่ามันคือ “ปลาผีแม่น้ำโขง” หรือ “Mekong Ghost”
KEY
POINTS
- กัมพูชาพบ “ปลาผีแม่น้ำโขง” หรือ “Mekong Ghost” ในแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี
- สาเหตุที่ตั้งชื่อนี้ เป็นเพราะนับตั้งแต่ปี 1991 ที่มีรายงานพบเป็นครั้งแรก มีรายงานถูกบันทึกการพบเห็นไว้ได้ไม่ถึง 30 ตัว ทำให้ปลาชนิดนี้กลายเป็นสายพันธุ์ที่หายากมาก
- นักวิจัยกังวลว่า การสร้างเขื่อนพลังงานน้ำ การทำประมงมากเกินไป และการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย จะทำให้ “ปลาผีแม่น้ำโขง” สูญพันธุ์ไปอย่างเงียบ ๆ
ชาวประมงกัมพูชาจับ “ปลาลึกลับ” ได้สองตัวใน “แม่น้ำโขง” ที่มีน้ำหนักประมาณ 5-6 กิโลกรัม และมีขนาดราว 2-3 ฟุต และนำไปมอบให้กับนักวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปตรวจสอบหาสายพันธุ์ของปลาชนิดนี้ ซึ่งพบว่ามันคือ “ปลาผีแม่น้ำโขง” หรือ “Mekong Ghost”
“แม้ว่าชาวประมงจะไม่เคยเห็นปลาชนิดนี้มาก่อน แต่พวกเขาก็รู้ว่ามีบางอย่างที่น่าทึ่งและไม่ธรรมดา พวกเขารู้ว่าการติดต่อมาหาเรานั้นคุ้มค่า” เซ็บ โฮแกน นักชีววิทยาวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนวาดา เรโน และหัวหน้าโครงการ Wonders of the Mekong โครงการริเริ่มเพื่อศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำโขง
แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายหลักของภูมิภาค ซึ่งหลายผ่านหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าแม่น้ำเป็นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่ยังเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ เช่น การสร้างเขื่อนพลังงานน้ำ การทำประมงมากเกินไป และการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย
ประเด็นเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์กังวลมานานว่า “ปลาผีแม่น้ำโขง” ซึ่งเป็นหนึ่งในปลาสะนากยักษ์ขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และมันอาจสูญพันธุ์ไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีใครรู้
ความลึกลับของ “ปลาผีแม่น้ำโขง”
“ปลาผีแม่น้ำโขง” มีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำโขง โดยปลาชนิดนี้สามารถโตได้ยาวถึง 4 ฟุต มีปุ่มที่เห็นได้ชัดที่ปลายขากรรไกรล่าง และมีจุดสีเหลืองรอบ ๆ ดวงตาขนาดใหญ่ มันสามารถโตได้เกือบ 30 กิโลกรัม
สาเหตุที่พวกมันได้รับชื่อนี้ เป็นเพราะนับตั้งแต่ปี 1991 ที่มีรายงานพบเป็นครั้งแรก มาจนถึงปัจจุบันมีรายงานถูกบันทึกการพบเห็นไว้ได้ไม่ถึง 30 ตัว ทำให้ปลาชนิดนี้กลายเป็นสายพันธุ์ที่หายากมาก
ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยของโฮแกน ได้จับตาดูปลาสายพันธุ์นี้มาโดยตลอด และพยายามสอดส่องดูว่ามีคนจับปลาชนิดนี้ตามตลาดปลาหรือไม่ พร้อมทำโครงการเผยแพร่ข้อมูลกับชาวประมงในท้องถิ่น
ที่ผ่านมาโฮแกนได้พบเห็นปลาชนิดนี้เพียงครั้งเดียว คือในช่วงต้นทศวรรษปี 2000 โดยเขากล่าวว่า “ผมตามหาปลาชนิดนี้มาโดยตลอด มันเป็นปลายักษ์ที่แปลกมา ผมคิดว่ามันคงสูญพันธุ์ไปแล้ว ดังนั้นเมื่อได้ยินว่าพบมันอีกครั้ง มันจึงป็นสัญญาณแห่งความหวัง หมายความว่ายังไม่สายเกินไป”
ขณะที่ บุนเยธ ชาน ผู้เขียนหลักของการศึกษาที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Biological Conservation จากมหาวิทยาลัย Svay Rieng ของกัมพูชา เปิดเผยว่า การค้นพบปลาผีแม่น้ำโขงอีกครั้ง ทำให้เกิดความหวังในการอนุรักษ์ปลาสายพันธุ์นี้ ไม่เพียงแต่สำหรับสายพันธุ์นี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบนิเวศแม่น้ำโขงทั้งหมดด้วย
แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่นักวิจัยยังไม่รู้เกี่ยวกับปลาชนิดนี้ เช่น มีปลาอยู่กี่ตัว หรืออาศัยอยู่ที่ใดกันแน่ เพราะปลาที่เจอระหว่างปี 2020-2023 นั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เคยเจอมาก่อน ซึ่งงอาจหมายความว่ามีปลาอาศัยอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ หรืออาจเป็นเพราะพวกมันอพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและไทย
“แม่น้ำโขง” ตกอยู่ในอันตราย
ที่จริงอาจจะพูดได้ว่า การพบปลาผีแม่น้ำโขงติด ๆ กัน 3 ตัวติดต่อกัน หลังจากที่สายพันธุ์นี้หายไปเกือบสองทศวรรษ เป็นเรื่องที่แปลกมาก แต่โฮแกนก็กล่าวว่าเป็นผลจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนท้องถิ่น ที่ให้ความรู้ความเข้าใจ และจำเป็นต้องติดต่อพวกเขาหากพบสิ่งผิดปรกติ
ทั้งนี้เขายอมรับว่า บรรดานักวิจัยกล่าวว่าจำเป็นต้องทำมากกว่านี้ เนื่องจากแม่น้ำโขงกำลังต่อสู้กับภัยคุกคามต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้ภูมิภาคนี้เผชิญกับน้ำท่วมและภัยแล้งรุนแรงมากขึ้นทุกปี
เหล่านักวิจัยหวังว่าการค้นพบปลาผีแม่น้ำโขงในครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงผลักดันให้เกิดการศึกษาวิจัยและการดำเนินการอนุรักษ์เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการสร้างทีมงานนานาชาติในกัมพูชา ลาว และไทยต่อไป
“ปลาชนิดนี้เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของแม่น้ำ เนื่องจากเป็นปลาขนาดใหญ่และอยู่ในภาวะเสี่ยง แต่ปลาชนิดนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของปลาชนิดอื่น ๆ ที่พบในพื้นที่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ปลาที่สำคัญและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของผู้คน และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโภชนาการและอาหารของผู้คน” โฮแกนกล่าว
โครงการและกิจกรรมของมนุษย์ เช่น เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากกว่า 700 แห่งตลอดแนวแม่น้ำและลำน้ำสาขา และการทำเหมืองทราย ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลเสื่อมโทรมลง ทำลายชีวิตปลาในแม่น้ำโขงที่ไม่สามารถพบได้ที่อื่นบนโลกกว่า 1,100 สายพันธุ์
รายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กร 25 แห่ง รวมถึงองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล และ Wonders of the Mekong ระบุว่า ปลาในแม่น้ำโขงเกือบ 1 ใน 5 อยู่ใน “ภาวะใกล้สูญพันธุ์”
แต่กัมพูชาเองก็ไม่ใช่ประเทศที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจะทำงานได้สะดวก เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักเคลื่อนไหว หลายคนถูกจำคุกหรือถูกฆ่า เนื่องจากพวกเขาพยายามสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการทุจริต และโครงการธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศนี้
ช่วงต้นปี 2024 นักเคลื่อนไหวเยาวชน 10 คนจากกลุ่ม Mother Nature Cambodia ถูกตัดสินจำคุกสูงสุด 6 ปี ในข้อหาสมคบคิดต่อต้านรัฐบาล ซึ่งการตัดสินดังกล่าวได้รับการประณามจากนักการเมืองฝ่ายค้านในต่างแดน และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเยาวชนที่มีชื่อเสียงอย่างเกรตา ทุนเบิร์ก