ห่วงพะยูนไทยเกยตื้น ไม่ถึงเดือนตาย 8 ตัว 'ป่วยผอม' เพราะหญ้าทะเลเสื่อมโทรม
รายงานล่าสุดแสดงถึงการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ของจำนวนพะยูนที่เกยตื้น ตามชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย ในเดือนต.ค. ระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน พบพะยูนตายถึงแปดตัว สาเหตุหลักดูเหมือนจะเป็นการเสื่อมโทรมของทุ่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของพะยูน
เมื่อวานนี้ (24 ตุลาคม 2567) ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พะยูนเกยตื้นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยตั้งแต่วันที่ 1–24 ตุลาคม 2567 มีพะยูนเกยตื้น จำนวนทั้งสิ้น 8 ตัว แบ่งออกเป็น การเกยตื้นมีชีวิต จำนวน 1 ตัว พบในพื้นที่จังหวัดตรัง และได้เสียชีวิตในวันต่อมา และเป็นซากเกยตื้น จำนวน 7 ตัว ประกอบด้วย ซากสด จำนวน 1 ตัว และซากเน่า จำนวน 6 ตัว
4 จังหวัดที่พบการเกยตื้น
- จังหวัดภูเก็ต 2 ตัว
- จังหวัดกระบี่ 1 ตัว
- จังหวัดตรัง 2 ตัว
- จังหวัดสตูลพบ 3 ตัว
จากการชันสูตรของเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งพบว่า ซากที่เกยตื้นอยู่ในสภาพซากที่เน่ามาก ทำให้บางตัวไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้ครบถ้วนทุกตัว
ตัวที่สามารถระบุสาเหตุการตายได้ส่วนมากเกิดจากอาการป่วย จำนวน 3 ตัว พบว่าร่างกายผอม ไม่พบอาหารในทางเดินอาหารหรือพบเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจจะมีผลมาจากสภาวะการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลในแหล่งอาศัย
นอกจากนั้น สงสัยว่ามีสาเหตุเกิดจากติดเครื่องมือประมง 1 ตัว เนื่องจากมีรอยเชือกรัดบริเวณลำตัว
เร่งเฝ้าระวัง สำรวจหญ้าทะเล กิจกรรมของมนุษย์
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว มอบหมายให้กรมทะเลฯ เร่งดำเนินการส่งทีมวิชาการ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง และเร่งดำเนินการสำรวจประชากรพะยูนรวมถึงแหล่งหญ้าทะเลตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามันเพิ่มเติม เพื่อติดตามข้อมูลในภาพรวมของจำนวนประชากร และการแพร่กระจายของพะยูนทั้งหมด
พร้อมนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจเพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูล และกำหนดแนวทางการอนุรักษ์พะยูน โดยได้จัดทำแผนการสำรวจในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกยตื้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังในอนาคต
รวมถึงจัดทำแผนการตั้งรับการดูแลพะยูนเกยตื้นที่มีชีวิต และในส่วนพื้นที่การเกยตื้น ที่อาจมีสาเหตุเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ในการป้องกัน และการดูแลพะยูนเบื้องต้นให้กับชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตพะยูน และวางมาตรการดูแลพะยูน และพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์