มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง คว้ารางวัล Res Publica พัฒนาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติสมดุล

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง คว้ารางวัล Res Publica พัฒนาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติสมดุล

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คว้ารางวัล Res Publica ที่อิตาลี รางวัลจากภาคประชาชน มอบใหัในฐานะที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและมนุษยชาติได้อย่างสมดุล “ดิศปนัดดา” ชี้สานต่อปณิธานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนดอยตุง ของ “สมเด็จย่า” ตั้งแต่เริ่มโครงการปี2531

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2567 ที่เมืองมอนดาวี อิตาลี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับรางวัล Res Publica ซึ่งเป็นรางวัลจากภาคประชาชน ในฐานะที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและมนุษยชาติอย่างสมดุล

รางวัล Res Publica เป็นกิจกรรมหนึ่งของสมาคม The Good Government and Civic Sense Association ซึ่งเป็นสมาคมนานาชาติตั้งอยู่ในประเทศอิตาลี มีขึ้นเพื่อยกย่องและส่งเสริมองค์กร หรือบุคคลที่มีบทบาทและผลงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยในปีนี้จัดขึ้นในเมือง มอนดาวี อิตาลี วันที่ 26 ตุลาคม 2567

การมอบรางวัล Res Publica มีขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งในอดีตมีบุคคลที่มีผลงานและบทบาทสำคัญได้รับรางวัล เช่น ดร.แอนโทนี ฟอว์ซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้โรคติดต่อสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลงานโดดเด่นในการต่อสู้กับโควิด-19 และนาย เจอราด ไรย์ ผู้อำนวยการภาคีสื่อมวลชนสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลงานเปิดโปงคดีฉ้อโกงทางการเงินระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง คว้ารางวัล Res Publica พัฒนาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติสมดุล

สำหรับในปีนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ฯ ได้รับรางวัลในความสำเร็จทางการพัฒนาอย่างสมดุลสภาพแวดล้อมและสังคม ที่นอกจากจะฟื้นฟูป่าบนดอยตุงสู่ความสมบูรณ์แล้ว ยังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ชุมชน และทำให้การปลูกฝิ่นหมดไปจากประเทศไทย อีกทั้งยังขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาภาวะโลกรวน

 

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่ารางวัลสำคัญที่ได้รับนี้เป็นผลของความร่วมมือกันของภาครัฐ เอกชนและชุมชน อีกทั้งยังเป็นผลงานจากความทุ่มเทของพนักงานและเจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในทุกยุคทุกสมัย นับว่าเป็นของขวัญที่น่าภูมิใจในวาระครบ 36 ปีของโครงการพัฒนาดอยตุง
 
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง คว้ารางวัล Res Publica พัฒนาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติสมดุล

“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เมื่อปี 2531 เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวดอยตุงทั้ง 29 หมู่บ้าน และพระราชปณิธานนั้นก็ยังถูกสานต่อมาอย่างจริงจัง จนวันนี้ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นตัวอย่างที่องค์การสหประชาชาติ และองค์กรระดับนานาชาติต่างยอมรับ เพราะผลงานที่เราทำให้เห็นจนเป็นประจักษ์และสามารถขยายผลขนเกิดความสำเร็จอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ”