‘อังกฤษ’ แบน ‘บุหรี่ไฟฟ้าใช้ครั้งเดียวทิ้ง’ ลดผู้สูบหน้าใหม่ - ขยะรีไซเคิลไม่ได้
รัฐบาลอังกฤษประกาศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2025 เป็นต้นไป
KEY
POINTS
- รัฐบาลอังกฤษประกาศ ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2025 เป็นต้นไป
- 1 ใน 4 ของเด็กอายุ 11-15 ปี ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง เพราะมีราคาถูกกว่า และสามารถหาซื้อได้จากร้านขายปลีกทั่วไป
- ในปี 2023 มีบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งถูกทิ้งประมาณ 5 ล้านชิ้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “บุหรี่ไฟฟ้า” ได้รับความนิยมอย่างมากในหลายประเทศทั่วโลก จำนวนผู้สูบก็ไม่แพ้กับบุหรี่ทั่วไป และดูเหมือนว่าอายุของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะลดลงไปทุกที เพราะสูบได้ง่ายกว่าบุหรี่ และเข้าใจกันว่าไม่ทำลายสุขภาพเท่ากับการสูบบุหรี่ทั่วไป ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า
ด้วยความกังวลนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษประกาศ ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2025 เป็นต้นไป แมรี ครีก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่า จะเริ่มห้ามจำหน่ายในอังกฤษ และเวลส์ในเวลาเดียวกัน
เดิมที บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวจะถูกห้ามในสกอตแลนด์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2025 แต่รัฐบาลสกอตแลนด์ กล่าวว่า การห้ามจะเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน เพื่อให้สอดคล้องกับอังกฤษและเวลส์ ส่วนไอร์แลนด์เหนือจะดำเนินการตามเช่นกัน
“บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อเมืองต่างๆ ของเรา นั่นคือ เหตุผลที่เราสั่งห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อยุติวัฒนธรรมการทิ้งขว้างของประเทศนี้ นี่คือ ก้าวแรกบนเส้นทางสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเราใช้ทรัพยากรได้นานขึ้น ลดขยะ เร่งกระบวนการสู่เป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ และสร้างงานหลายพันตำแหน่งทั่วประเทศ”
-ครีกกล่าวในแถลงการณ์
“บุหรี่ไฟฟ้า” ทำลายสุขภาพ
ตามข้อมูลของรัฐบาลพบว่า ในปี 2023 มีบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 5 ล้านชิ้น ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดทั่วสหราชอาณาจักร เท่ากับว่าในทุกวินาทีมีบุหรี่ไฟฟ้าถูกทิ้ง 8 ชิ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากปี 2022 การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอังกฤษเพิ่มขึ้นมากกว่า 400% ระหว่างปี 2012-2023 โดยปัจจุบันประชาชนชาวอังกฤษ 9.1% ซื้อ และใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
แอนดรูว์ กวินน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “รัฐบาลจะเสนอร่างกฎหมายยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายชั่วอายุคน ซึ่งจะปกป้องเยาวชนจากการติดนิโคติน และปูทางไปสู่สหราชอาณาจักรที่ปลอดควันบุหรี่”
1 ใน 4 ของเด็กอายุ 11-15 ปี ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปีที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เด็กๆ ส่วนใหญ่เลือกใช้ในปัจจุบัน เพราะมีราคาถูกกว่าและสามารถหาซื้อได้จากร้านขายปลีกทั่วไป
ดร.แคลร์ ฮอกก์ บอกกับ BBC Radio 5 Live ว่าบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง “ทำให้เกิดการติดนิโคตินระบาดอย่างรุนแรง และทำให้เด็กนอนไม่หลับ สมาธิสั้น และมีปัญหากับการติดนิโคตินอย่างหนัก”
ดังนั้นการห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งจะไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังลดความน่าดึงดูดใจของบุหรี่ไฟฟ้าในสายตาเด็ก ๆ และทำให้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ตกไปอยู่ในมือของเยาวชนที่เปราะบางอีกด้วย
“บุหรี่ไฟฟ้า” ขยะทำลายโลก
บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งผลิตมาจากวัสดุที่มีค่าหลายชนิด เช่น อะลูมิเนียม ลิเทียม และสเตนเลสสตีล ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถใช้ทำอย่างอื่นได้ เช่น การผลิตรถยนต์ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าแบบนี้มีแบตเตอรี่ลิเทียมที่ติดอยู่กับตลับ และหุ้มด้วยพลาสติกอีกชั้น
เมื่อแบตเตอรี่ และแผงวงจรเสื่อมสภาพ บุหรี่ไฟฟ้าจะปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น พลาสติก ตะกั่ว และปรอท ออกสู่สิ่งแวดล้อม หากกล่องถูกบดให้ละเอียด จะกลายเป็นไมโครพลาสติกที่เป็นอันตราย ซึ่งถ้าได้รับความเสียหาย แบตเตอรี่ ลิเทียมอาจทำให้เกิดไฟไหม้ในโรงงานกำจัดขยะได้ หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องเร่งดำเนินการหาทางจัดการ และรีไซเคิลขยะที่มีความซับซ้อนเหล่านี้
โดยเฉลี่ยแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าจะมีลิเทียม 0.15 กรัม ในปี 2022 ลิเทียมจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากกว่า 40 ตันถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบในสหราชอาณาจักร ซึ่งเพียงพอสำหรับผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 5,000 คัน
ตามทฤษฎีแล้ว ผู้ค้าปลีกมีหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยผู้บริโภคกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ภายใต้กฎหมายของสหราชอาณาจักร ร้านค้าจะต้องรับคืน และรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กทั้งหมดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจากทางร้านหรือไม่ก็ตาม ซึ่งร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ด้วยตนเองจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อนำสินค้าเหล่านี้กลับคืน จัดเก็บ และบำบัดเมื่อสินค้าเหล่านี้กลายเป็นขยะ
แต่หลังจากผ่านขั้นตอนการรับคืนจากร้านค้าแล้ว กลับไม่มีความชัดเจนในการรีไซเคิล ทำให้โครงการ Green Wings สร้างระบบรีไซเคิลส่วนประกอบต่างๆ ของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งนี้ได้จัดเตรียมสถานที่รีไซเคิลบุหรี่ไฟฟ้าในงานเทศกาลต่างๆ เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้สูบ สามารถทิ้งบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้หมดแล้วได้ง่าย
ขณะที่ FEELM บริษัทผลิตคอยล์เซรามิกสำหรับใช้กับบุหรี่ไฟฟ้า ได้ออกแบบโครงการใหม่เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งอุปกรณ์แบบใช้ครั้งเดียวไปรีไซเคิล โดยสามารถนำบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 10 ชิ้น มาแลกบุหรี่ไฟฟ้าใหม่ได้ 1 ชิ้น
หลายประเทศทั่วโลก เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย และบราซิล มีข้อจำกัดในการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยไอร์แลนด์ และเบลเยียมได้กำหนดแผนห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อไม่นานนี้
ที่มา: BBC, Euro News, The Guardian
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์