‘ต้นไม้’ 33% ทั่วโลกเสี่ยงสูญพันธุ์ ผลกระทบจากโลกร้อน-ตัดไม้ทำลายป่า

‘ต้นไม้’ 33% ทั่วโลกเสี่ยงสูญพันธุ์ ผลกระทบจากโลกร้อน-ตัดไม้ทำลายป่า

ต้นไม้มากกว่าหนึ่งในสามสายพันธุ์ทั่วโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ส่งผลกระทบสิ่งมีชีวิตบนโลก ตามรายงานที่เผยแพร่โดยบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)

KEY

POINTS

  • IUCN เตือนว่า ต้นไม้มากกว่า 16,000 สายพันธุ์ หรือมากกว่า 1 ใน 3 เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของจำนวนสายพันธุ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ทุกประเภทรวมกัน
  • ต้นไม้ถูกโค่นจากการตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ไฟป่า น้ำท่วม ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง
  • หากโลกสูญเสียต้นไม้มากขึ้นเรื่อย ๆ โลกก็จะมีไม่มีแหล่งดูดก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะทำให้วิกฤติสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง

ต้นไม้” เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศ มีความสำคัญพื้นฐานต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยมีบทบาทสำคัญในวงจรคาร์บอน น้ำ และสารอาหาร ตลอดจนการก่อตัวของดินและการควบคุมสภาพอากาศ ดังนั้นการสูญเสียต้นไม้จึงถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อพืช เชื้อรา และสัตว์อื่น ๆ อีกหลายพันชนิด รวมถึงมนุษย์ด้วยเช่นกัน และในตอนนี้ต้นไม้มากกว่า 1 ใน 3 ของโลกกำลัง “เสี่ยงสูญพันธุ์

รายงานที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์เตือนว่า ต้นไม้มากกว่า 16,000 สายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ประเมินสายพันธุ์ต้นไม้มากกว่า 47,000 สายพันธุ์จากทั้งหมดประมาณ 58,000 สายพันธุ์ที่คาดว่ามีอยู่ทั่วโลก ที่น่ากังวลมากกว่านั้น จำนวนสายพันธุ์ของต้นไม้ที่เสี่ยงสูญพันธุ์มีมากกว่าจำนวนสายพันธุ์ของนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่ถูกคุกคามทั้งหมดรวมกันถึง 2 เท่า

ต้นไม้ถูกโค่นจากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อถางป่าสำหรับทำการเกษตรและการขยายที่อยู่ของมนุษย์ ในตอนนี้มีพืชมากกว่า 5,000 สายพันธุ์ในบัญชีแดงของ IUCN ถูกนำไปใช้เป็นวัสดุสำหรับก่อสร้าง และมากกว่า 2,000 สายพันธุ์ถูกนำไปใช้ทำยา อาหาร และเชื้อเพลิง

เอมิลี บีช หัวหน้าฝ่ายกำหนดลำดับความสำคัญของการอนุรักษ์จาก องค์กรอนุรักษ์สวนพฤกษศาสตร์นานาชาติ (BGCI) ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการประเมินต้นไม้ กล่าวว่า เกาลัดม้าและแปะก๊วยถูกจัดรวมอยู่ในพืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการใช้ทางการแพทย์ เช่นเดียวกับต้นแอช แมกโนเลีย มะฮอกกานีใบใหญ่ และยูคาลิปตัสอีกหลายสายพันธุ์ ที่ถูกนำไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ก็ถูกจัดอยู่ในพืชใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน

พืชที่เสี่ยงสูญพันธุ์กระจายอยู่ใน 192 ประเทศ แต่สัดส่วนที่เสี่ยงสูญพันธุ์มากที่สุดกลับอยู่ในพื้นที่เกาะ เนื่องมาจากการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วและการขยายตัวของเกษตรกรรม และการนำเข้าพันธุ์ต่างถิ่น แมลงศัตรูพืช และโรคจากที่อื่น 

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามต้นไม้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นซึ่งระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและพายุที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นก่อให้เกิดความเสี่ยง รวมถึงภัยแล้งและไฟป่าที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำลายต้นไม้เช่นกัน และหากโลกสูญเสียต้นไม้มากขึ้นเรื่อย ๆ โลกก็จะมีไม่มีแหล่งดูดก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะทำให้วิกฤติสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง

ทวีปอเมริกาใต้ ที่ตั้งของป่าแอมะซอนขึ้นชื่อว่ามีความหลากหลายของต้นไม้มากที่สุดในโลก มีพืชที่ได้รับการประเมินว่าอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากถึง 3,356 สายพันธุ์ จากพื้นทั้งหมด 13,668 สายพันธุ์ และอาจจะยังมีพืชอีกหลายชนิดที่สูญพันธุ์ไป ทั้ง ๆ ที่อาจยังไม่ถูกค้นพบด้วยซ้ำ

สำหรับในโคลอมเบีย พยายามจะอนุรักษ์พันธุ์ไม้ใกล้สูญพันธุ์ โดยกำหนดให้พื้นที่ที่มีต้นแมกโนเลียที่ใกล้สูญพันธุ์และใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 7 สายพันธุ์ เป็นพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญแห่งใหม่ 5 แห่ง ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นและระดับชาติจะใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายการวางแผนเพื่ออนุรักษ์ต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น

ดร.ไอเมียร์ นิค ลูกาธา หัวหน้าฝ่ายวิจัยอาวุโสด้านการประเมินและวิเคราะห์การอนุรักษ์จากสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เปอร์เซ็นต์ต้นไม้ใกล้สูญพันธุ์ในอเมริกาใต้จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากต้นไม้หลายสายพันธุ์จากอเมริกาใต้ยังไม่ได้รับการระบุสายพันธุ์เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และต้นไม้สายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบก็มักจะเป็นพืชมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์

IUCN หวังว่าการประเมินใหม่นี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยชี้นำการฟื้นฟูธรรมชาติที่เสื่อมโทรมพร้อมเรียกร้องให้มีการคุ้มครองและฟื้นฟูป่าไม้ด้วยการปลูกต้นไม้ ตลอดจนการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ผ่านธนาคารเมล็ดพันธุ์และการเก็บสะสมในสวนพฤกษศาสตร์

“ต้นไม้มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตบนโลก มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ต้นไม้ผลิตออกซิเจนที่มนุษย์หายใจ ให้ทั้งอาหารและที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ป่า ให้ยาและสิ่งจำเป็นแก่ชนพื้นเมือง และดูดซับมลพิษคาร์บอนที่กักเก็บความร้อนจากชั้นบรรยากาศ” เกรเธล อากีลาร์ ผู้อำนวยการใหญ่ IUCN กล่าวในแถลงการณ์

การเผยแพร่รายงานดังกล่าวยังสอดคล้องกับการประชุมสุดยอด COP16 ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ ซึ่งเริ่มขึ้นในเมืองกาลี ประเทศโคลอมเบีย

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประมาณการว่าค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มขึ้นเป็น 542,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 จาก 200,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียธรรมชาติและบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

ฌอง-คริสตอฟ เวีย ผู้อำนวยการทั่วไปของมูลนิธิ Franklinia ซึ่งให้ทุนสนับสนุนการประเมินต้นไม้ทั่วโลก กล่าวว่า เรารู้ว่าต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อจัดการกับวิกฤติการสูญพันธุ์ที่กระทบต่อต้นไม้ทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

“ไม่มีข้ออ้างที่จะไม่ดำเนินการ ด้วยจำนวนพันธุ์ไม้ที่ถูกคุกคามจำนวนมากเช่นนี้ ภารกิจนี้จึงยิ่งใหญ่มาก แต่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว องค์กรพัฒนาเอกชน สวนพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัย และองค์กรอื่น ๆ จำนวนมากต่างก็ทำงานกันอย่างหนักที่ปกป้องพันธุ์ไม้ที่ถูกคุกคามกว่า 1,000 พันธุ์”

บางประเทศ เช่น กานา โคลอมเบีย ชิลี และเคนยา มีกลยุทธ์ระดับชาติในการปกป้องพันธุ์ไม้แล้ว ประเทศอื่น ๆ เช่น กาบอง ก็ได้ระบุพื้นที่สำคัญสำหรับการปลูกต้นไม้เช่นกัน

“ต้นไม้ถือเป็นวิธีแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ง่ายดาย และต้นไม้ถูกปลูกไว้ทั่วทุกแห่ง แต่การปลูกป่าทดแทนต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างมาก โดยต้องกระจายพันธุ์ไม้และรวมพันธุ์ไม้ที่ถูกคุกคามไว้ในโครงการปลูกต้นไม้ ทุกคนสามารถทำสิ่งนี้ได้อย่างง่ายดายและสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถจัดการกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพได้” เขากล่าวเสริม

 

ที่มา: AljazeeraCNNEuro News