แฟชั่นXความยั่งยืน ในอุดมคติ 'หมู-Asava' และแนวคิดอัพไซคลิ่งผ้าเหลือ
บูรณาการความยั่งยืนและแฟชั่น ด้วยความเชื่อว่าสิ่งที่คนเคยมองว่าไม่มีคุณค่าสามารถกลับมามีความหมายได้ ผ่านหลักการออกแบบร่วมสมัยที่เข้าใจอดีต ตระหนักถึงปัจจุบัน และมองไปยังอนาคต ใช้วัสดุที่ยั่งยืน นี่คือความงามของ "Asava" ที่ตอบสนองทุกยุคสมัยอย่างไร้กาลเวลา
"พลพัฒน์ อัศวะประภา" หรือรู้จักกันในชื่อ "หมู" เป็นดีไซเนอร์แฟชั่นชาวไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ก่อตั้ง Asava Group การเดินทางของ "พลพัฒน์” ในโลกแฟชั่นเริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะ เสื้อผ้า และปรัชญา ซึ่งเป็นแรงจูงใจในการศึกษาต่อด้านแฟชั่นและทำงานที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลาเกือบสิบปี เมื่อกลับมาที่ประเทศไทย ก็ได้ก่อตั้งแบรนด์ Asava ซึ่งได้รับความสำเร็จทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
ความยั่งยืนเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบของ Asava มายาวนาน โดยเน้นวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้วัสดุที่ยั่งยืน ดีไซน์ของ Asava มักจะรวมองค์ประกอบความเรียบง่าย หรูหรา และความเป็นไทย ภายใต้ความเชื่อว่าความยั่งยืนและแฟชั่นหรูหราสามารถอยู่ร่วมกันได้
ความมุ่งมั่นของ "พลพัฒน์” ต่อความยั่งยืนเห็นได้ล่าสุดจากการเข้าร่วมงานเช่น Bangkok International Fashion Week 2024 ที่ธีมของปีนี้คือ “Envision the Future” เน้นย้ำถึงความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก
"พลพัฒน์” ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า สำหรับองค์กรที่ลืมตาอ้าปากได้แล้ว การพูดถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอาชีพใด และไม่มากก็น้อยที่ต้องผลักดันเรื่องความยั่งยืน ที่สำคัญความยั่งยืนควรเป็นเสาหลักของภาคธุรกิจ และจำเป็นต้องสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่าองค์กรได้ทำอะไรบ้างเพื่อไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และได้ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างไร
การคำนึงถึงสิ่งอื่นนอกเหนือจากตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อมหรือจริยธรรม จะช่วยให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และมีความสุขมากขึ้น หนึ่งในประเด็นที่ผมพูดถึงเสมอคือ Sustainability ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่ง Asava ไม่ทำธุรกิจในแนวราบ (Horizontal) ที่มุ่งเน้นแต่วิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เหมือนกับ Fast Fashion ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นบ่อยครั้ง
เพราะสินค้าเกิดขึ้นเร็วและปรากฏอยู่ตรงหน้าตลอดเวลา จนเกิดแฮชแท็ก #ของมันต้องมี นอกจากนั้น สินค้าแฟชั่นรวดเร็วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากออกแบบมาให้ใช้งานระยะสั้น คุณภาพการตัดเย็บมักจะไม่ดี ทำให้เสื้อผ้าสึกหรอได้เร็ว ทำให้เกิดปัญหาขยะ และยังส่งเสริมวัฒนธรรมการโยนทิ้ง ทำให้เสื้อผ้าถูกมองว่าเป็นของใช้ครั้งเดียว เกิดการบริโภคเกินความจำเป็น
"พลพัฒน์” กล่าวด้วยว่า อยากให้ผู้บริโภคไตร่ตรองว่าไม่จำเป็นต้องมีของมากมาย ควรซื้อของที่มีคุณภาพ มีคุณค่าต่อชีวิต อาจมีราคาสูงแต่สามารถใช้งานได้นานหลายปี ใส่ได้ตลอด และผ่านไปเป็นสิบปีเสื้อผ้าก็ยังคงดีอยู่
“ด้วยเหตุนี้ Asava เน้นทำธุรกิจในแนวตั้ง (Vertical) เสมอมา มองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก พยายามนั่งอยู่ในในของผู้บริโภค ทำความรู้จักกับบริบทของตนเอง ทำความเข้าใจเราจะดำเนินการอย่างไร ทำงานกับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้”
"พลพัฒน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เวลาผมพูดถึงเรื่องคุณค่าของความยั่งยืน คนมักมองว่าเป็นคนเพี้ยน ดูเป็นบริษัทที่จับต้องลำบาก ทำงานในเชิงแนวความคิดและปรัชญามากเกินไป แต่วันนี้น้อยคนที่คิดกับ Asava แบบนั้น เพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนที่ปรากฏอยู่กับทุกวันนี้ มันมาจากผลของการกระทำของพวกเราทุกคน พวกเราจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้เอื้อต่อโลก
ผ่านมากว่า 5 ปี "พลพัฒน์” ลงพื้นที่ในหลายจังหวัด ตั้งแต่ภาคเหนือไปยังภาคใต้ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนางานฝีมือของชาวบ้าน แล้วนำงานชาวบ้านกลับมาทำแฟชั่นคอลเลคชั่นต่างๆ ที่มีส่วนส่งเสริมให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าของผ้าไทยและวัตถุดิบจากชุมชนท้องถิ่น อันเป็นเครื่องมือในการที่จะพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องในชนบทให้ได้มีรายได้ โดยเฉพาะผ้าไทยที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผืนผ้ารักษ์โลก
คอลเลกชั่นที่เพิ่งคลอดไปเมื่อเดือนกันยายน 2567 “good goods x Moo Bangkok” เสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ภายใต้เครือ Asava Group ที่ทำร่วมกับ Central Tham มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี และสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นกลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก จ.สกลนคร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าครองวิถี จ.สกลนคร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติบ้านนางาม จ.อุดรธานี
นอกจากนี้ ยังมุ่งเป้าไปสู่การตัดเย็บที่เป็น Zero Waste โดยใช้เศษผ้าเป็นดีเทลในชุดต่าง ๆ ไม่ให้เหลือทิ้งอีกด้วย และรายได้จากการจำหน่ายสินค้าจะถูกนำกลับไปพัฒนาชุมชน และในเดือนพฤศจิกายนนี้ มีทำงานด้านความยั่งยืนร่วมกับ Jim Thompson ซึ่งปีนี้ภาพของ Asava และความยั่งยืนก็จะชัดเจนขึ้นมาก
ในฐานะที่ "พลพัฒน์” เป็นนายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์ กรุงเทพ (Bangkok Fashion Society-BFS) จึงได้เริ่มรณรงค์ร่วมกับกลุ่มดีไซเนอร์ เกี่ยวกับการเอาเอาผ้าสต๊อกที่เหลือ หรือเสื้อผ้าที่ขายไม่ได้มาอัพไซคลิ่ง เพื่อทำให้สิ่งที่คนเคยมองว่าไม่มีคุณค่ากลับมาทำให้อยู่ในวงจรการบริโภคอีกครั้งหนึ่ง
“เราสามารถลดขยะให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยผู้ซื้อลดต้นทุน ได้ของดีในราคาที่ถูก และเป็นสินค้าแปลกใหม่ เป็นการส่งเสริมสินค้าที่เคยถูกมองว่าไม่มีมูลค่าแล้วในเชิงธุรกิจ สามารถกลับมาอัพไซคลิ่งได้ สร้างมูลค่าได้ในสังคม มีมูลค่าทางธุรกิจ และเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เราพยายามจะทำเรื่องเหล่านี้กับสมาชิกในสมาคม"