ส่องสถานะ ‘ปัญหาพลาสติก’ ใน ‘ไทย’ ใช้สิ้นเปลือง ไม่ยั่งยืน ทิ้งเป็นขยะ

ส่องสถานะ ‘ปัญหาพลาสติก’ ใน ‘ไทย’ ใช้สิ้นเปลือง ไม่ยั่งยืน ทิ้งเป็นขยะ

“ประเทศไทย” ติดหล่มใช้ “พลาสติก” อย่างสิ้นเปลือง โดยเฉพาะ “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” จนกลายเป็น “ขยะ” จำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

KEY

POINTS

  • ในปัจจุบันประเทศไทยผลิตพลาสติก 9 ล้านตันต่อปี ซึ่งราว 36% ของพลาสติกที่พลาสติกขึ้นเป็น “พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว”
  • เกิดขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี โดย 80% ของขยะพลาสติกที่พบในหลุมฝังกลบเป็นพลาสติกที่ไม่มีความจำเป็น 
  • ประเทศไทยไม่สามารถเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนตามเป้าที่วางไว้ได้

ประเทศไทย” ติดหล่มใช้ “พลาสติก” อย่างสิ้นเปลือง โดยเฉพาะ “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” จนกลายเป็น “ขยะ” จำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

จากข้อมูลของ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม หรือ EJF (Environmental Justice Foundation) พบว่า การผลิตพลาสติกในประเทศไทยยังไม่ยั่งยืน ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การก่อให้เกิดขยะและมลพิษ ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และสิทธิมนุษยชน ตลอดจนความปลอดภัย ยั่งยืน และความจำเป็นในการใช้โพลิเมอร์และผลิตภัณฑ์พลาสติก

ในการประเมินปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกปฐมภูมิในประเทศไทยจากปี 2562 พบว่าทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 27.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ต่อปี เท่ากับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถยนต์ปล่อยในหนึ่งปีจำนวน 5.9 ล้านคัน ซึ่งคิดเป็น 7.3% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศไทย ในปี 2562 ที่มีปริมาณ 372 ล้าน tCO2e

การผลิตพลาสติกเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันดับ 3 ของประเทศไทย เป็นรองเพียงภาคเกษตรกรรม (15.23%) และภาคอุตสาหกรรมโดยรวม (10.28%) เท่านั้น

ตามข้อมูลของสถาบันพลาสติกพบว่า ในปัจจุบันประเทศไทยผลิตพลาสติก 9 ล้านตันต่อปี ซึ่งราว 36% ของพลาสติกที่พลาสติกขึ้นเป็น “พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” ที่มีอายุการใช้งานสั้นมาก และสุดท้ายแล้วจะลงเอยด้วยการเป็นขยะ ซึ่งก่อเกิดขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี

แม้ภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ จะรณรงค์ให้รีไซเคิลพลาสติก แต่ในปี 2561 อัตราการเก็บเพื่อรีไซเคิลสำหรับพลาสติกที่นิยมใช้ ได้แก่ โพลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) โพลิเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง (HDPE) โพลิเอทิลีนที่มความหนาแน่นต่ำ (LDPE) โพลิเอทิลีนที่มความหนาแน่นต่ำเชิงเส้นตรง (LLDPE) และโพลิโพรพิลีน ยังอยู่เพียง 17.6% เท่านั้น

นอกจากพลาสติกจะทำให้เกิดขยะจำนวนมากแล้ว พลาสติกยังก่อให้เกิดมลพิษ ทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์อีกด้วย จากการรวบรวมข้อมูลของ EJF พบว่า ระหว่างเดือนกันยายน 2566 - กันยายน 2567 เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตหรือเก็บพลาสติก 24 ครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วเดือนละ 2 ครั้ง

หนึ่งในนั้นคือ ถังเก็บสารเคมีของบริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด เกิดระเบิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2567 เหตุครั้งนี้ส่งผลให้มีพนักงานเสียชีวิต 1 ราย และก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ 

ในวันที่ 22 กันยายน 2567 เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานผลิตโพลิไวนิล คลอไรด์ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ทำให้เกิดควันจำนวนมากพวยพุ่งขึ้นสู่อากาศ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษภาค 13 ได้ตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่และพบค่าสารก่อมะเร็งไวนิล คลอไรด์ในปริมาณค่อนข้างมาก

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และสมาคมอาร์นิก้า ตีพิมพ์รายงานในปี 2566 ที่พบการตรวจพบสารมลพิษตกค้างยาวนาน หรือ POPs (Persistent Organic Pollutants)  สารอินทรีย์ที่สลายตัวได้ยากในสิ่งแวดล้อม สามารถแพร่ได้ไกล เป็นพิษ และสามารถสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต ในเลือดของผู้ประกอบการคัดแยกและรื้อถอนขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และยังพบ POPs ในฝุ่นและไข่ไก่ แสดงให้เห็นว่ามลพิษพลาสติกได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม ห่วงโซ่อาหาร และร่างกายของมนุษย์

ในการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก ได้มีการกล่าวถึงการจัดตั้งเกณฑ์สำหรับ “พลาสติกที่มีปัญหาและหลีกเลี่ยงได้” ในเอกสารเชิงนโยบาย ซึ่งหมายถึง ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ต้องใช้งานเมื่อจำเป็น ในปัจจุบันไม่มีทางเลือกอื่นทดแทนที่เป็นไปได้ในทางเทคนิคหรือเศรษฐศาสตร์ แม้จะไม่ได้เป็นมิตรต่อสุขภาพ ปลอดภัย และการเป็นอยู่ของสังคม

ภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าว EJF พบว่า พลาสติกหลายประเภทที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ยังไม่ผ่านเกณฑ์การผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน ข้อมูลระบุว่ามากกว่า 80% ของขยะพลาสติกที่พบในหลุมฝังกลบของประเทศไทยในปี 2564 เป็นพลาสติกที่ไม่มีความจำเป็น เพราะทดแทนได้ด้วยการปฏิรูประบบการจำหน่ายและบริโภคให้มีการใช้ซ้ำ 

หากแยกออกมาเป็นสัดส่วนขยะพลาสติกที่ไม่มีความจำเป็นอยู่ในหลุมฝังกลบได้ดังนี้ ถุงพลาสติก 62.86% ขวดพลาสติก 8.69% จานและแก้วพลาสติก 6.17% ฝาขวด 1.88% ช้อมส้อม 1% หลอด 0.11% และพลาสติกอื่น ๆ 18.47%

นอกจากนี้ ยังมีพลาสติกที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนและความปลอดภัย เช่น พลาสติกที่มีการแต่งเติมสารกลุ่มอ็อกโซ (Oxo-Degradable Plastics) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษไมโครพลาสติก รวมไปถึงพลาสติกที่มีสารเคมีอันตรายที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมหรือยุติการผลิต โดยมีการพบสารเคมีในกลุ่มเพอร์- และโพลิฟลูออโรอัลคิล (PFAS) หรือที่รู้จักในชื่อ “สารเคมีตลอดกาล” ในเสื้อผ้าที่มีองค์ประกอบของเส้นใย PET ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย

โพลีสไตรีน (PS) และ PVC เป็นพลาสติกอีกประเภทที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนและความปลอดภัย เห็นได้จากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพและการเสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตโฟมและ PVC 

ที่สำคัญที่สุด ประเทศไทยไม่สามารถเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความยั่งยืน 7 ประเภท ได้แก่ พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารอ็อกโซ ฟิล์มหุ้มฝาขวด ไมโครบีดส์ กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก ถุงพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน และแก้วพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน ตามเป้าที่วางไว้ 

ในปัจจุบันมีการออกกฎหมายยุติการผลิตพลาสติกเพียง 1 ใน 7 นั่นคือไมโครบีดส์ และเป็นการยุติการผลิตแค่นี้ภาคส่วนเดียวเท่านั้น คือ เครื่องสำอาง ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงทำให้ประเทศไทยยังคงผลิตและบริโภคพลาสติกด้วยความไม่ยั่งยืน

ที่มา: รายงานลดอย่างไรให้ยั่งยืน ผลกระทบของการผลิต และบริโภคพลาสติกของประเทศไทย และฉากทัศน์ในการแก้ไขปัญหา