เบทาโกรเปิดตัว 5 ยุทธศาสตร์อาหารยั่งยืน ลดใช้ยาปฏิชีวนะต้านจุลชีพในสัตว์
เบทาโกร จัดงาน "BETAGRO SD DAY 2024" ภายใต้แนวคิด Sustainable Food Through Better Actions เพื่อรวมพลังคนในองค์กรสร้างการเปลี่ยนแปลง สานต่อ 5 ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุม พร้อมเปิดตัวสัญลักษณ์ Betagro Saijai ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนทางอาหาร
KEY
POINTS
- ลดการใช้ยาปฏิชีวนะต้านจุลชีพในสัตว์ลง 15% จากเป้าหมายลดลง 50% ภายในปี 2570
- ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 8.4% จากเป้าหมายลดลงมากกว่า 20% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593
- พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มากกว่า 97.5% และลดการใช้ทรัพยากรบรรจุภัณฑ์ได้กว่า 1,160 ตัน
- ลดอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานของพนักงานลง 67% และมุ่งสู่ Zero Incident ในปี 2569
- ส่งเสริมความเป็นอยู่ของชุมชนรอบสถานประกอบการ โดยมีเป้าหมายพัฒนาชุมชน 15,000 ครัวเรือนภายในปี 2567 และเพิ่มเป็น 20,000 ครัวเรือนในปี 2568
อาหารที่ยั่งยืน หมายถึงอาหารที่ผลิต แปรรูป และจัดจำหน่ายในลักษณะที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพสาธารณะ ชุมชนมนุษย์ และสวัสดิภาพสัตว์ ประกอบไปด้วยแนวทางต่างๆ ดังนี้
- ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม : ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อนุรักษ์น้ำ และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ
- สนับสนุนการจ้างงานที่เป็นธรรม : การจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมและการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับคนงานทุกคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตอาหาร
- ส่งเสริมสุขภาพ : ให้บริการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
- เสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน : การสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นและโอกาสการศึกษา
สถิติอาหารที่ยั่งยืนที่น่าสนใจ มีดังนี้
- ความหิวโหยทั่วโลก : ในปี 2022 ประมาณ 9.2% ของประชากรโลกเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารเรื้อรัง เทียบเท่ากับประมาณ 735 ล้านคน
- ความไม่มั่นคงด้านอาหาร : ความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้นจาก 25.3% ของประชากรโลกในปี 2019 เป็น 29.6% ในปี 2022
- ตลาดอาหารที่ยั่งยืน : มูลค่าตลาดโลกของอาหารบรรจุภัณฑ์ที่มีฉลากจริยธรรมคาดว่าจะเติบโตอย่างมาก สะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
- ผลกระทบต่อสภาพอากาศ : การปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืนของอาหารทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณหนึ่งในสามและใช้น้ำจืด 70%
- ความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมาย SDG : แม้จะมีความพยายาม แต่เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการเกษตรส่วนใหญ่ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ยังคงห่างไกลจากการบรรลุ
สถิติเหล่านี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิบัติที่ยั่งยืนมากขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อแก้ไขปัญหาระดับโลก เช่น ความหิวโหย ความไม่มั่นคงด้านอาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ “BTG” บริษัทอาหารครบวงจรของไทย ดำเนินธุรกิจครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร ตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ ปศุสัตว์ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และปลา และอาหารแปรรูปที่เกี่ยวข้อง สำหรับการบริโภคในประเทศและส่งออกไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals – SDGs) และดำเนินการภายใต้กรอบ ESG (Environmental, Social, and Governance)
ล่าสุดจัดงาน “BETAGRO SD DAY 2024” ภายใต้แนวคิด “Sustainable Food Through Better Actions” เพื่อรวมพลังคนในองค์กรสร้างการเปลี่ยนแปลง พร้อมเดินหน้าสานต่อ 5 ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุม ทั้งยังได้เปิดตัวสัญลักษณ์ “Betagro Saijai” ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนทางอาหาร ผ่านการทำงานที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำจุดประสงค์ขององค์กรที่มุ่งมั่นเพิ่มคุณค่าชีวิตทุกคนด้วยอาหารที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน
วิกฤติอากาศ โรคอุบัติใหม่ กระทบอาหารมั่นคง
"วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญว่า วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคอุบัติใหม่ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบการผลิตอาหารในปัจจุบันและความมั่นคงทางด้านอาหารในอนาคต
ตลอด 57 ปีที่ผ่านมา เบทาโกรให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเสมอมา ซึ่งสะท้อนผ่านจุดประสงค์ขององค์กรในการเพิ่มคุณค่าชีวิตของทุกคน ด้วยอาหารที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1) การให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร 2) การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) การพัฒนาชุมชน 4) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และ 5) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
มุ่งเน้นการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัยสูงสุด และเพียงพอต่อความต้องการบริโภค โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยความร่วมมือจากทุกคนในองค์กร และเพื่อสานต่อแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เบทาโกรจึงได้จัดงาน BETAGRO SD DAY 2024 ขึ้นเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Sustainable Food Through Better Actions” เพื่อรวมพลังคนในองค์กรสร้างการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนั้นยังได้เปิดตัว “เบทาโกร ใส่ใจ” (BETAGRO Saijai) สัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงตัวตนของเบทาโกรที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหาร
โดย “เบทาโกร ใส่ใจ” ไม่เพียงแค่การผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค แต่ยังเป็นอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด ที่สำคัญคือการผลิตอาหารที่ลดผลกระทบต่อโลกและสร้างความสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งจะนำเสนอผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ มากมาย
"วสิษฐ" ปิดท้ายด้วยความเชื่อมั่นว่า การทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืนนี้ จะนำพาเบทาโกรและชุมชนรอบข้างไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น
5 ยุทธศาสตร์ รวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ “นายไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานพัฒนาประสิทธิภาพ การผลิต และซัพพลายเชน เบทาโกร กล่าวเสริมว่า สำหรับปีที่ผ่านมาเบทาโกรได้ดำเนินงานตามแนวทางด้านความยั่งยืนขององค์กร ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นตามเป้าหมายที่วางไว้ ประกอบด้วย
1) คุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Quality and Safety) เบทาโกร ให้ความสำคัญและใส่ใจทุกกระบวนการผลิตเพื่อส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยขั้นสูงสุด ภายใต้การวิจัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมสร้างเครือข่ายร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จนเกิดเป็นเครือข่ายคุณภาพความปลอดภัยด้านอาหารที่ยั่งยืน
โดยปัจจุบัน ณ เดือนสิงหาคม เบทาโกรสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลงได้ 15% จากเป้าหมายลดลง 50% (เมื่อเทียบกับปีฐาน 2564) ภายในปี 2570 นอกจากนี้ยังมีการติดตามและประเมินเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) 9062 – 2565 โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าการดำเนินการ 65% จากเป้าหมาย 100% ภายในปี 2570
2) การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Management) เบทาโกรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม และทั่วโลก จึงมุ่งนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ลดการใช้พลังงาน และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลงได้ 8.4% จากเป้าหมายลดลงมากกว่า 20% (เมื่อเทียบกับปีฐาน 2565) ภายในปี 2573 และตอกย้ำในความมุ่งมั่นสู่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593
3) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Packaging) เบทาโกรมุ่งมั่นในการปรับปรุงและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly Packaging) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการออกแบบ ปรับปรุง และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมถึงลดการใช้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด โดยปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ของเบทาโกรมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มากกว่า 97.5% จากเป้าหมาย 100% ในปี 2573 และสามารถลดการใช้ทรัพยากรบรรจุภัณฑ์ลงได้กว่า 1,160 ตัน
4) อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานเพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Occupational Health and Safety) เพราะพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เบทาโกรจึงดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี ภายใต้สถานที่ทำงานและกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย พร้อมมุ่งสู่อุบัติการณ์เป็นศูนย์ (Zero Incident) ด้วยการดำเนินการตามระบบจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของเบทาโกร ที่ประยุกต์แนวทางจากการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (PSM) ซึ่งจากปี 2552 จนถึงปัจจุบัน อัตราการเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานของพนักงาน ลดลงได้ 67% และมุ่งมั่นสู่ Zero Incident ในปี 2569 ต่อไป
5) การพัฒนาชุมชน (Community Development) เพราะเบทาโกรเชื่อว่าการที่ธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ชุมชนและสังคมต้องเติบโตไปพร้อมกัน บริษัทฯ จึงมุ่งพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องแบบองค์รวม ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และการศึกษา เพื่อสนับสนุนชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันสามารถส่งเสริมความเป็นอยู่และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับชุมชนรอบสถานประกอบการ ด้วยโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวมให้กับชุมชน 14,468 ครัวเรือน จากเป้าหมาย 15,000 ครัวเรือนภายใน ปี 2567 และจะเพิ่มจำนวนครัวเรือนที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการและกิจกรรมเป็น 20,000 ครัวเรือน ในปี 2568