‘ปากีสถาน’ ค่า ‘ฝุ่น PM 2.5’ ทะลุ 1900 สั่งปิดโรงเรียนประถมฯ ดูแลสุขภาพประชาชน

‘ปากีสถาน’ ค่า ‘ฝุ่น PM 2.5’ ทะลุ 1900 สั่งปิดโรงเรียนประถมฯ ดูแลสุขภาพประชาชน

“ปากีสถาน” สั่งปิดโรงเรียน เนื่องจากมีมลพิษทางอากาศเกินระดับอันตราย ขณะที่ทางการตำหนิเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย

KEY

POINTS

  • เมืองลาฮอร์ ในปากีสถานขึ้นแท่นอันดับหนึ่งเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกแบบเรียลไทม์ หลังมีค่ามลพิษพุ่งสูงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1900 
  • ปากีสถานจึงสั่งปิดโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งหมดในลาฮอร์เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ พร้อมให้ภาครัฐและบริษัทเอกชนย้ายพนักงาน 50% ไปทำงานที่อื่น เพื่อลดปริมาณการจราจรทางรถยนต์และลดการปล่อยมลพิษ
  • คุณภาพอากาศในเอเชียใต้จะยังคงอยู่ในระดับ “ย่ำแย่” จนถึงวันพุธ และมีแนวโน้มว่าจะอยู่ในช่วง “ย่ำแย่มาก” ถึง “รุนแรง” ในอีก 6 วันข้างหน้า

เมืองลาฮอร์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของปากีสถานสั่งปิดโรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อรับมือกับระดับมลพิษที่พุ่งสูงขึ้น จนมีกลุ่มควันพิษปกคลุมเมืองหนาแน่น ก่อให้เกิดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง

3 พ.ย. 2567 ลาฮอร์ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกแบบเรียลไทม์ หลังมีค่ามลพิษพุ่งสูงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1900 บริเวณใกล้ชายแดนปากีสถานและอินเดีย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินเกณฑ์กว่าระดับอันตรายที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่าไม่ให้เกิน 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถึง 40 เท่า

วิกฤติมลพิษทางอากาศในเมืองลาฮอร์ เกิดจากการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์ดีเซล ควันจากไฟไหม้ในไร่นา และสภาพอากาศตามฤดูกาลที่กักเก็บมลพิษไว้ในอากาศ โดยรัฐบาลของจังหวัดปัญจาบยืนยันว่าระดับคุณภาพอากาศแตะระดับสูงสุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ขณะที่ IQAir กลุ่มตรวจสอบคุณภาพอากาศของสวิตเซอร์แลนด์ ยืนยันว่าระดับดังกล่าวอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

มาริยัม ออรังเซบ รัฐมนตรีอาวุโสของรัฐปัญจาบระบุว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศในประเทศเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และจะไม่สามารถแก้ไขได้หากไม่ได้เจรจากับอินเดีย ขณะเดียวกัน เธอเรียกร้องให้ผู้ปกครองดูแลให้เด็ก ๆ อยู่แต่ในบ้าน “รัฐบาลกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับกรมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อติดตามสถานการณ์และดำเนินมาตรการสำหรับต่อสู้กับหมอกควัน” รัฐมนตรีกล่าวในหนังสือพิมพ์ปากีสถานทูเดย์

คุณภาพอากาศในกรุงนิวเดลีถูกบันทึกอยู่ในสถานะแย่มากเมื่อวันอาทิตย์ โดยดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 382 ตามข้อมูลของคณะกรรมการควบคุมมลพิษกลาง (CPCB) ของประเทศ 

‘ปากีสถาน’ ค่า ‘ฝุ่น PM 2.5’ ทะลุ 1900 สั่งปิดโรงเรียนประถมฯ ดูแลสุขภาพประชาชน มลพิษทางอากาศในปากีสถานรุนแรง
เครดิตภาพ: Arif ALI / AFP

วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ในเมืองลาฮอร์ และกรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดีย มีแนวโน้มว่าจะเลวร้ายลงอีกในช่วงเดือนที่อากาศเย็น เนื่องจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงทำให้มลพิษลอยตัวอยู่ใกล้พื้นดินมากขึ้น

ขณะที่ ราชา เจฮังกิร์ อันวาร์ เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมระดับสูงของปากีสถาน กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันที่รุนแรงในเมืองลาฮอร์มาจากควันของการเผาเศษพืชผลทางการเกษตรซึ่งข้ามพรมแดนมาจากอินเดีย แต่ข้อมูลของอินเดียกลับบ่งชี้เป็นอย่างอื่น เพราะมลพิษในเมืองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นหมายความว่ามลพิษอื่น ๆ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในนิวเดลี ตามรายงานของ India Today

การเผาตอซัง เป็นสิ่งที่เกษตรกรทำกันทุกปีในรัฐใกล้เคียง เช่น ปัญจาบและหรยาณา เคยเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ แต่ในช่วงปีนี้มีการรณรงค์ให้หยุดการเผา ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาคุณภาพอากาศในเดลี แต่ก็สามารถลดมลพิษในเดลีงเพียง 15% เมื่อวันเสาร์เท่านั้น และระดับมลพิษในเมืองยังคงสูงอย่างน่าตกใจ ซึ่งบ่งชี้ว่าแหล่งมลพิษอื่น ๆ มีอิทธิพลมากขึ้น 

ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ในเมืองหลวงของอินเดียและพื้นที่โดยรอบได้สั่งปรับเจ้าของรถยนต์เกือบ 60,000 คันและเจ้าของสถานที่ก่อสร้างกว่า 7,500 แห่ง เนื่องจากละเมิดกฎควบคุมมลพิษ จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการจัดการคุณภาพอากาศ มีรถยนต์ราว 54,000 คัน ที่ขับโดยไม่มีใบรับรองควบคุมมลพิษที่ถูกต้อง ซึ่งยืนยันระดับการปล่อยมลพิษที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ รถยนต์เกือบ 3,900 คันถูกยึดเพราะเกินอายุการใช้งาน

นิวเดลีต้องเผชิญกับมลพิษที่รุนแรงทุกฤดูหนาว เนื่องจากอากาศเย็นกักเก็บมลพิษ ฝุ่น และควันจากการเผาไหม้ทางเกษตรกรรมในรัฐปัญจาบและหรยาณา ที่อยู่ติดกัน ทำให้ต้องปิดโรงเรียนและปิดการก่อสร้างบ่อยครั้งเพื่อรับมือกับปัญหานี้

‘ปากีสถาน’ ค่า ‘ฝุ่น PM 2.5’ ทะลุ 1900 สั่งปิดโรงเรียนประถมฯ ดูแลสุขภาพประชาชน ค่า PM 2.5 ในปากีสถานทะลุ 1900
เครดิตภาพ: Arif ALI / AFP

IQAir จัดอันดับนิวเดลีให้เป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก 4 ปีติดต่อกัน แต่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียใต้ยังคงมีปัญหาคุณภาพอากาศย่ำแย่โดยทั่วกัน โดยคาดว่าคุณภาพอากาศในภูมิภาคจะยังคงอยู่ในระดับ “ย่ำแย่” จนถึงวันพุธ และมีแนวโน้มว่าจะอยู่ในช่วง “ย่ำแย่มาก” ถึง “รุนแรง” ในอีก 6 วันข้างหน้า 

CPCB ระบุว่ากรุงนิวเดลีจะมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสูงถึง 401-500 ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ป่วย รวมถึงผู้คนโดยทั่วไป ส่วนในเมืองลาฮอร์ ก็มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะเลวร้ายมาก และลมยังคงแรงเหมือนเดิม

ดังนั้นปากีสถานจึงสั่งปิดโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งหมดในลาฮอร์เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ พร้อมประกาศมาตรการป้องกันสุขภาพเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนในระดับชั้นอื่น และเรียกร้องให้โรงเรียนบังคับใช้หน้ากากอนามัย อีกทั้งติดตั้งเครื่องตรวจวัดมลพิษในโรงพยาบาล เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน

“หมอกควันนี้เป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ มาก เรากำลังจับตาดูสุขภาพของเด็ก ๆ ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย” มาริยุม ออรังเซบ รัฐมนตรีอาวุโสของแคว้นปัญจาบ ประกาศในแถลงการณ์

วิกฤติมลพิษของเมืองลาฮอร์ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการรับมืออย่างเร่งด่วน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ออกข้อจำกัดด้านมลพิษ 4 จุดภายในเมือง รวมถึงการห้ามใช้รถตุ๊กตุ๊กที่มีเครื่องยนต์สองจังหวะที่ก่อให้เกิดมลพิษ และกำหนดให้ร้านอาหารต้องติดตั้งตัวกรองควันหากใช้เตา

นอกจากนี้ สำนักงานรัฐบาลและบริษัทเอกชนได้รับคำสั่งให้ย้ายพนักงาน 50% ไปทำงานที่อื่น โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน เพื่อลดปริมาณการจราจรทางรถยนต์และลดการปล่อยมลพิษ

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ มะเร็งปอด และปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความจุปอดน้อยกว่าและหายใจเร็วกว่า 

 

ที่มา: AljazeeraBBCIndependent

‘ปากีสถาน’ ค่า ‘ฝุ่น PM 2.5’ ทะลุ 1900 สั่งปิดโรงเรียนประถมฯ ดูแลสุขภาพประชาชน
เครดิตภาพ: Arif ALI / AFP