‘ลาสเวกัส’ ลงทุนด้านความยั่งยืน มุ่งสู่เมืองโซลาร์เซลล์ ต้นแบบการจัดการน้ำ
“ลาสเวกัส” ลงทุนหลายล้านดอลลาร์ในมาตรการด้านความยั่งยืน ตั้งแต่การอนุรักษ์น้ำไปจนถึงเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
KEY
POINTS
- “ลาสเวกัส” ลงทุนหลายล้านดอลลาร์ในมาตรการด้านความยั่งยืน กลายเป็นต้นแบบเมืองแห่งโซลาร์เซลล์ และการจัดการน้ำ
- รัฐสนับสนุนให้ภาคเอกชนผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 40% โดยการลดหย่อนภาษีทรัพย์สิน 50% เป็นเวลา 10 ปี
- น้ำที่ใช้ในลาสเวกัสมากกว่า 97% ได้รับการรีไซเคิล และนำมาใช้ใหม่ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และน้ำพุเบลลาจิโอ น้ำพุที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง
“ลาสเวกัส” เมืองที่ใครต่างติดภาพว่าเป็นเมืองคนบาป เต็มไปด้วยกาสิโนที่ไม่เคยหลับใหล ความฟุ่มเฟือย และความสุขสำราญ แต่เมืองแห่งนี้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการลงทุนหลายล้านดอลลาร์ในการผลักดันโครงการด้านความยั่งยืน ตั้งแต่การอนุรักษ์น้ำ การจัดการขยะ ไปจนถึงพลังงานแสงอาทิตย์
มาร์โก เวล็อตตา เจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนของเมืองลาสเวกัส กล่าวว่า ความพยายามดังกล่าวเริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2548 และถูกเร่งดำเนินการด้วยพระราชบัญญัติการฟื้นฟูในปี 2552 ที่ออกโดยรัฐบาลกลาง ซึ่งกำหนดเป้าหมายสำหรับพลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์น้ำ การรีไซเคิล และอาคารสีเขียว
“ด้วยพระราชบัญญัติการฟื้นฟู และแนวทางของสภาเมือง ทำให้สามารถลงทุนเริ่มต้น 75 ล้านดอลลาร์ในโครงการความยั่งยืนได้” เวล็อตตา กล่าว
แม้ว่าประชากรในเมืองจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่การใช้น้ำก็ลดลงอย่างมากด้วยเช่นกัน ภายในปี 2573 คาดว่า 50% ของไฟฟ้าทั้งหมดในรัฐเนวาดาจะผลิตจากทรัพยากรหมุนเวียน โดยเฉพาะไฟส่องสว่างตามท้องถนนที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า
ขณะที่รีสอร์ตส่วนใหญ่ก็หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ตามที่รัฐสนับสนุน ด้วยโปรแกรมลดหย่อนภาษีทรัพย์สิน 50% เป็นเวลา 10 ปี นอกจากนี้รีสอร์ตยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของรัฐในการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 40% ซึ่งส่วนใหญ่ทำได้เกิน 40% ซึ่งนโยบายนี้ทำให้ลาสเวกัสได้ก้าวไปไกลมากในช่วงเวลาเพียงไม่นาน
“ตอนแรกนักท่องเที่ยวก็รู้สึกประหลาดใจกับความพยายามในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมืองเช่นกัน แต่ในตอนนี้ลาสเวกัสได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านความยั่งยืน เพราะฉะนั้นความยั่งยืนจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองไปแล้ว” เวล็อตตากล่าว
เมืองโซลาร์
ลาสเวกัสเป็นเมืองที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ต่อหัวได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของสหรัฐ เป็นรองเพียงโฮโนลูลู ของฮาวาย โดยในแต่ละปีลาสเวกัสมีแสงแดดมากถึง 320 วัน “เราอาจจะเรียกลาสเวกัสว่าเป็นเมืองแห่งพลังงานแสงอาทิตย์ก็ได้” สเตฟเฟน เลห์มันน์ ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเมืองที่มหาวิทยาลัยลาสเวกัส รัฐเนวาดา กล่าว
MGM Resorts International บริษัทด้านการบริการ และความบันเทิงได้พัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 100 เมกะวัตต์ ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าและจ่ายไฟให้กับโรงแรมในเครือ 11 แห่งในลาสเวกัส ซึ่งเทียบเท่ากับพลังงานที่ใช้กับบ้าน 27,000 หลัง แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะจ่ายไฟให้กับโรงแรมทั้ง 11 แห่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะต้องซื้อพลังงานจากซัพพลายเออร์รายอื่นแล้วก็ตาม ทำให้บริษัทมีเป้าหมายที่จะจัดหาพลังงานทั้งหมดจากพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2030
“ลาสเวกัสตั้งอยู่ในทะเลทรายโมฮาวีซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ ทำให้การอนุรักษ์น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเหล่าเครือโรงแรมต่างๆ และต้องดำเนินงานให้มีความยั่งยืน” ไมเคิล กูลลิช รองประธานฝ่ายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของ MGM Resorts International กล่าว
เขากล่าวว่าโรงแรมของ MGM ในบริเวณลาสเวกัสสตริป สามารถประหยัดน้ำได้ 16,000 ล้านแกลลอนตั้งแต่ปี 2007 เป็นผลมาจากนโยบายการใช้น้ำที่เข้มงวด รวมถึงการเปลี่ยนหญ้าเป็นสายพันธุ์ที่เป็นมิตรกับภูมิประเทศที่เป็นทะเลทราย ติดตั้งก๊อกน้ำประหยัดน้ำในโรงแรมทุกแห่ง และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำและน้ำพุเบลลาจิโอ น้ำพุที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง
ขณะที่ Resorts World Hotel ประกาศว่าในปี ประกาศว่าได้บรรลุเป้าหมายสำคัญในปี 2023 ว่าโรงแรมได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด หลังจากเปิดให้บริการมาได้ 2 ปี โดยใช้บริการจากบริษัทสาธารณูปโภค NV Energy จัดหาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานลมในเนวาดา ให้กับรีสอร์ตที่มีห้องพัก 3,500 ห้อง
แบรนดอน มอร์ริสัน หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของโรงแรมกล่าวว่า ระหว่างการก่อสร้าง ได้มีการนำเหล็กจำนวน 13,000 ตันออกมาจากโครงสร้างที่ถูกทิ้งร้างในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐในปี 2008 โดยบริษัทได้ลงทุนไปกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้คุ้มค่าที่สุด
รีสอร์ตหลายแห่งในลาสเวกัสใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และประหยัดน้ำจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับเมืองทะเลทรายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ลาสเวกัสกลายเป็นกรณีศึกษาสำคัญในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และการอนุรักษ์น้ำอย่างมีประสิทธิผล
อย่างไรก็ตามลาสเวกัสคงมีความท้าทายมากมายรออยู่ ศ.เลห์มันน์ ระบุว่า โรงแรมหลายแห่งในบริเวณลาสเวกัสสตริปยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เนื่องจากหลายแห่งยังทำได้ไม่ดีในแง่ของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้น้ำโดยรวมต่อหัวของลาสเวกัสยังคงสูงเกินไป
นอกจากนี้ แหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักในเมืองมีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ การขนส่ง โดยเฉพาะจากรถยนต์ และรถบรรทุก และการใช้เครื่องปรับอากาศมากเกินไป ซึ่งศ.เลห์มันน์ กล่าวว่า ลาสเวกัสต้องวางแผน และทำงานอย่างขยันขันแข็ง เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอ และยั่งยืนสำหรับเมืองทะเลทรายแห่งนี้
รีสอร์ตต่างๆ จำนวนมากกำลังพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ของตนเอง ซึ่งรวมถึงระบบแบตเตอรี่สำรองเพื่อให้สามารถเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ และใช้งานได้เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน เลห์มันน์ กล่าวเสริมว่าน้ำที่ใช้ในลาสเวกัสมากกว่า 97% ได้รับการรีไซเคิล ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก เมื่อพิจารณาจากปริมาณน้ำในแม่น้ำโคโลราโด แหล่งน้ำจืดของเมืองที่ลดลงอย่างรวดเร็ว
“ครั้งหนึ่งลาสเวกัสเคยถูกมองว่าเป็นเมืองแห่งขยะ และของเหลือใช้ แต่จากความพยายามในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเรา ทำให้เราได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อม” เวล็อตตากล่าว
ที่มา: BBC, Nevada Business
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์