ปี 2024 ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุด สวนทางคำสัญญาลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ประเทศต่างๆ สัญญาว่าจะเลิกใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศเมื่อปีที่แล้ว แต่ผลการวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่าประเทศเหล่านี้กำลังเผาผลาญมากขึ้นกว่าที่เคย
KEY
POINTS
- ปี 2024 มีแนวโน้มจะแตะระดับ 37,400 ล้านตัน ซึ่งจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 0.8% จากระดับในปี 2023
- แม้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสหรัฐและยุโรป และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในจีนจะลดลง แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอินเดียและส่วนอื่น ๆ ของโลก ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- หากโลกยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระดับปัจจุบัน ก็มีเวลาอีก 6 ปีก่อนที่อุณหภูมิจะสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียส
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกในปี 2024 มีแนวโน้มจะแตะระดับ 37,400 ล้านตัน ซึ่งจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 0.8% จากระดับในปี 2023 ตามข้อมูลใหม่จากโครงการคาร์บอนโลก ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ ห่างไกลจากเป้าหมายในการหยุดยั้งภาวะโลกร้อนไปเรื่อยๆ
แม้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสหรัฐ และยุโรป และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในจีนจะลดลง แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอินเดีย และส่วนอื่นๆ ของโลก ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลการวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ต่อสาธารณะ ในวันที่ 13 พ.ย.2024 ที่การประชุม COP29 ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งผู้นำทั่วโลกได้รวมตัวกันเพื่อหารือถึงวิธีการระดมเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ เพื่อรับมือกับอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเคยระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกอาจถึงจุดสูงสุดในช่วงทศวรรษนี้ เพราะหลังจากนี้ระบบไฟฟ้า และพลังงานทดแทน เช่น แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม และยานยนต์ไฟฟ้า จะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แต่จนถึงขณะนี้ เทคโนโลยีเหล่านี้ยังตอบสนองความต้องการพลังงานได้เพียงบางส่วนเท่านั้น นั่นหมายความว่าประเทศต่างๆ ยังคงต้องพึ่งพาพลังงานเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก
“พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมกำลังเข้ามาแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลในบางประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีประเทศอื่นๆ ที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งเกินกว่าที่พลังงานหมุนเวียนจะตามทันได้ เมื่อรวมผลรวมทั้งหมดทั่วโลกเข้าด้วยกัน เชื้อเพลิงฟอสซิลก็ยังคงได้รับความนิยม ซึ่งเราจะไปสู่จุดสูงสุดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเร็ววันนี้” เกล็น ปีเตอร์ นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์วิจัยสภาพอากาศระหว่างประเทศ CICERO ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าว
หากโลกยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระดับปัจจุบัน ก็มีเวลาอีก 6 ปีก่อนที่อุณหภูมิจะสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส เมื่อปี 2015
ในการประชุม COP28 เมื่อปี 2023 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้แทนจากเกือบทุกประเทศได้ให้ความเห็นชอบข้อตกลงที่เรียกร้องให้เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่พลังงานสะอาด และเร่งดำเนินการให้ทันภายในทศวรรษนี้ แต่ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่า แต่ละประเทศจะต้องดำเนินการอย่างไร แม้ทุกคนจะรู้ว่าการหยุดภาวะโลกร้อนที่ดีที่สุดคือ ทุกประเทศต้องหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโดยสิ้นเชิง
สำหรับประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก คือ จีนที่ปล่อยสูงถึง 32% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดในโลก ตามมาด้วยสหรัฐในอันดับ 2 ที่ 13% ส่วนอันดับ 3 คือ อินเดีย ด้วยระดับ 8% ขณะที่อันดับ 4 เป็นของสหภาพยุโรป ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6%
รายงานคาดว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในยุโรปในปี 2024 จะลดลงประมาณ 3.8% เป็นผลมาจากประเทศต่างๆ หันมาใช้พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ แทนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก เช่น เหล็กและปุ๋ย ลดการผลิตลงหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน ส่งผลให้ราคาแก๊สธรรมชาติพุ่งสูงขึ้น
สำหรับสหรัฐเอง ก็คาดว่าจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงเล็กน้อยประมาณ 0.6% ในปี 2024 โดยเป็นผลมาจากการยกเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหินของสหรัฐอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 120 ปี
แต่ขณะเดียวกันความต้องการไฟฟ้าของสหรัฐกลับพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องมาจากคลื่นความร้อนในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา รวมถึงการสร้างดาต้าเซนเตอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่จีน ประเทศที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดในโลก มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2024 ที่ประมาณ 0.2% ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากที่จีนเร่งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายร้อยแห่ง เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าการปล่อยมลพิษของจีนอาจใกล้ถึงจุดสูงสุดหรือยัง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้สร้างแผงโซลาร์เซลล์ ฟาร์มกังหันลม และรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกัน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนกลับชะลอตัวลงในหลายอุตสาหกรรม เช่น การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมหนักเริ่มชะลอตัวลง หลังจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาหลายทศวรรษ
ยอน อิวาร์ คอร์สบัคเกน นักวิจัยอาวุโสของ CICERO ผู้ศึกษาการปล่อยมลพิษของจีน กล่าวว่า หากแนวโน้มเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป และพลังงานหมุนเวียนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็เป็นไปได้ที่การปล่อยมลพิษจะลดลงหรืออย่างน้อยก็คงที่หลังจากปี 2024 แต่เขายังได้เตือนด้วยว่านักพยากรณ์บางคนคาดว่าการปล่อยมลพิษของจีนจะลดลงในปีนี้ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้น
ด้านอินเดีย คาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเพิ่มขึ้น 4.6% ซึ่งทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อินเดียแซงหน้าสหภาพยุโรป และกลายเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อไม่นานนี้ แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวแล้ว จะพบว่าอินเดียปล่อยก๊าซเพียง 1 ใน 3 ของยุโรป
ในส่วนอื่นๆ ของโลก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1% เป็นผลจาก การเดินทางทางอากาศ และการขนส่งระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าทั้งจะยังคงต่ำกว่าระดับในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม
ที่มา: Independent, The Conversation, The New York Times
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์