พบ ‘สารปรอท’ ใน ‘ทูน่ากระป๋อง’ ปริมาณสูง ยุโรปเสนอยกเลิกจำหน่ายให้กลุ่มเปราะบาง

พบ ‘สารปรอท’ ใน ‘ทูน่ากระป๋อง’ ปริมาณสูง ยุโรปเสนอยกเลิกจำหน่ายให้กลุ่มเปราะบาง

นักเคลื่อนไหวเสนอให้แบน “ทูน่ากระป๋อง” ในยุโรป หลังพบ “สารปรอท” เกินระดับที่เป็นพิษ อาจเกิด “ความเสี่ยงมหาศาลต่อสุขภาพของประชาชน” 

KEY

POINTS

  • พบผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องในยุโรปมีสารปรอท และ 57% มีปริมาณปรอทเกินขีดจำกัดที่ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
  • นักเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของยุโรปหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณปรอทเกินเกณฑ์ เพื่อปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบาง
  • การสัมผัสสารปรอทแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรง และคุกคามการพัฒนาของทารกในครรภ์และเด็ก

องค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล Bloom ของฝรั่งเศส และองค์กรสิทธิผู้บริโภค Foodwatch วิเคราะห์ปลาทูน่ากระป๋อง 148 กระป๋องจาก 5 ประเทศในยุโรป ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี สเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี พบว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีสารปรอท และ 57% มีปริมาณปรอทเกินขีดจำกัดที่ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ทีมวิจัยระบุว่าการค้นพบครั้งนี้ “เป็นเรื่องอื้อฉาวด้านสุขภาพในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน” ทำให้ Foodwatch ต้องเตือนถึงความเสี่ยงมหาศาลต่อสุขภาพของประชาชนกว่าร้อยล้านคนในยุโรป โดยเรียกร้องให้ ไม่ใช้ทูน่ากระป๋องเป็นวัตถุดิบทำอาหารในโรงพยาบาล โรงอาหารของโรงเรียน บ้านพักคนชรา และหอผู้ป่วยหลังคลอด 

พร้อมกล่าวหาว่าทางการและอุตสาหกรรมทูน่าได้ทำการล็อบบี้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการทำประมงทูน่าเชิงอุตสาหกรรม ไว้ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ทำให้เกณฑ์ของสารปรอทสำหรับทูน่าสูงกว่าปลาชนิดอื่น เช่น ปลาค็อด ถึง 3 เท่า กลายเป็น “สิ่งที่ยอมรับได้” โดยไม่มีเหตุผลด้านสุขภาพมารองรับว่าทำไมถึงสามารถใช้เกณฑ์ปรอทที่แตกต่างกัน

ชาวยุโรปโดยเฉลี่ยบริโภคปลาทูน่ามากกว่า 2.8 กิโลกรัมต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นปลากระป๋อง ซึ่งกระบวนการบรรจุกระป๋องทำให้มีปริมาณปรอทเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับปลาสด ตามที่ Bloom กล่าว

องค์การอนามัยโลก (WHO) ถือว่าสารปรอทเป็นปัญหาสุขภาพสาธารณะที่สำคัญเทียบเท่ากับแร่ใยหินและสารหนู เพราะการสัมผัสสารปรอทแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรง และคุกคามการพัฒนาของทารกในครรภ์และเด็ก โดยสามารถส่งผลเสียต่อระบบประสาท ระบบย่อยอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงปอด ไต ผิวหนังและดวงตา

เมทิลเมอร์คิวรี” (Methylmercury) เป็นสารที่เกิดขึ้นหลังจากปรอททำปฏิกิริยากับแบคทีเรีย และเป็นรูปแบบที่พบบ่อยที่สุดในอาหาร จัดอยู่ในกลุ่มสารที่อาจทำให้เกิดมะเร็งได้

Bloom กล่าวว่า “หน่วยงานภาครัฐของยุโรปเลือกแนวทางที่ขัดต่อหน้าที่ในการปกป้องสุขภาพของประชาชนโดยสิ้นเชิง โดยเพิ่มปริมาณการปนเปื้อนของปรอทในปลาทูน่า เพื่อให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ 95% องค์กรยังกล่าวว่านี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปลาทูน่าถึงเป็นปลาที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง และสามารถทนทานต่อปรอทสูงกว่าสายพันธุ์ที่มีการปนเปื้อนน้อยที่สุดถึงสามเท่า

ปรอทมีอยู่ในระบบนิเวศตามธรรมชาติผ่านการปะทุของภูเขาไฟและไฟป่า แต่กิจกรรมของมนุษย์กลับเป็นสาเหตุของปรอท 2 ใน 3 ส่วนที่มีอยู่ในปัจจุบัน จากการเผาไหม้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล โรงงานเผาขยะ และอื่น ๆ เมื่อปรอททำปฏิกิริยากับแบคทีเรีย เช่น แบคทีเรียที่อยู่ในมหาสมุทร ปรอทจะกลายเป็นเมทิลปรอท ซึ่งเป็นสารพิษและสะสมในสิ่งมีชีวิต

ปริมาณปรอทจะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในกระบวนการที่เรียกว่าการสะสมทางชีวภาพ กระบวนการนี้ช่วยอธิบายว่าทำไมปลาทูน่าจึงเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของปรอทเป็นพิเศษ เนื่องจากปลาทูน่าและสัตว์นักล่าชนิดอื่น ๆ หรือสัตว์ที่มีอายุยืนยาวกว่า เช่น ฉลามหรือปลาฉลาม อยู่สูงกว่าในห่วงโซ่อาหาร พวกมันจึงกินปลาที่มีขนาดเล็กกว่าและสะสมปรอทมากขึ้นตามกาลเวลา

รายงานระบุว่า ในประเทศเซเชลส์ แหล่งจับปลาทูน่าสำคัญของยุโรป ทางการทำการทดสอบคุณภาพปลาเพียงแค่ 10 ครั้งต่อปีเท่านั้น และเมื่อปลาทูน่ามาถึงฝรั่งเศส ทางการจะสุ่มตรวจปลาทูน่าสดน้อยกว่า 50 ตัวต่อปี และไม่มีการทดสอบปลากระป๋องใด ๆ ทังสิ้น

Bloom และ Foodwatch เรียกร้องให้มีการกำหนดปริมาณปรอทในปลาทูน่าอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น และให้มีมาตรฐานเดียวกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่ 0.3 มก./กก. แทนที่จะเป็น 1 มก./กก. แบบในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของยุโรปหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณปรอทเกินเกณฑ์ รวมถึงหยุดโฆษณาผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าและติดฉลากเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างชัดเจน และห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าในโรงพยาบาล โรงเรียน และบ้านพักคนชรา เพื่อปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบาง

มาร์ก วิลลิส หัวหน้าแผนกสารปนเปื้อนทางเคมีของหน่วยงานมาตรฐานอาหารของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “เราแนะนำให้ผู้ที่พยายามมีลูกหรือตั้งครรภ์รับประทานปลาทูน่ากระป๋องไม่เกิน 4 กระป๋องต่อสัปดาห์ หรือสเต็กปลาทูน่าไม่เกิน 2 ชิ้นต่อสัปดาห์ เนื่องจากปลาทูน่ามีปริมาณปรอทสูงกว่าปลาชนิดอื่น”

คณะกรรมาธิการยุโรปแจ้งต่อ Euronews Health ว่า ระดับสูงสุดของปรอทในอาหารนั้นกำหนดขึ้นจากข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับปรอทในอาหารที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในตลาด ซึ่งคำนึงถึงหลักการ “ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะมากได้” เมื่อผู้ผลิตใช้แนวทางปฏิบัติที่ดี 

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการกล่าวว่าไม่สามารถลดระดับสูงสุดลงต่ำกว่า 1 ppm โดยไม่กระทบต่ออุปทานอาหารอย่างรุนแรงได้

ขณะที่ โฆษกของ Europêche กลุ่มตัวแทนของกองเรือประมง ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยบอกกับ The Independent ว่า “เกณฑ์ตามกฎหมายที่สื่อสารนั้นไม่ใช่เกณฑ์ที่ใช้ในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ ระดับที่รายงานนั้นอ้างอิงจากปลาทูน่าแห้ง แทนที่จะเป็นเนื้อปลาทูน่าดิบ ซึ่งจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสและ Environmental Science & Technology แสดงให้เห็นว่าระดับปรอทในปลาทูน่าไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลา 50 ปีแล้ว

พร้อมกล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภคในสหภาพยุโรปปฏิบัติตามกฎระเบียบของยุโรปอย่างเคร่งครัด ซึ่งอิงตามเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับการบริโภคสูงสุดต่อวันอย่างปลอดภัย เกณฑ์เหล่านี้กำหนดขึ้นอย่างรอบคอบโดยผู้เชี่ยวชาญจาก องค์การความปลอดภัยของอาหารแห่งสหภาพยุโรป เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริโภคจะได้รับความปลอดภัย”

สหพันธ์อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ซึ่งเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมแปรรูปของฝรั่งเศส กล่าวว่าการรับประทานปลาทูน่ากระป๋องไม่เป็นอันตราย และ “ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภคปฏิบัติตามกฎระเบียบของฝรั่งเศสและยุโรปอย่างเคร่งครัด” โดยกล่าวว่าปลาทูน่า “เป็นส่วนหนึ่งของคำแนะนำสำหรับการบริโภคปลาเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่มีความสมดุล”


ที่มา: Euro NewsIndependentLadbible