คนรวยนั่ง ‘เครื่องบินส่วนตัว’ เพิ่ม 28% ตอกย้ำความไม่จริงใจ แก้ปัญหาโลกร้อน

คนรวยนั่ง ‘เครื่องบินส่วนตัว’ เพิ่ม 28% ตอกย้ำความไม่จริงใจ แก้ปัญหาโลกร้อน

จำนวนเครื่องบินส่วนตัวที่เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติบากูพุ่งสูงขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากบรรดาผู้นำโลกและนักธุรกิจเดินทางมาเพื่อเข้าร่วมการประชุม COP29

KEY

POINTS

  • ระหว่างปี 2019-2023 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบินส่วนตัวเพิ่มขึ้น 46 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แตะที่ 15.6 ล้านตัน
  • เที่ยวบินส่วนตัวเกือบ 50% บินระยะทางน้อยกว่า 500 กม. และมี 18.9% เป็นเที่ยวบินระยะสั้น ส่วน 4.7% เป็นเที่ยวบินพักผ่อนที่ใช้ระยะทางบินน้อยกว่า 50 กม. เป็นประจำ
  • จำนวนเครื่องบินส่วนตัวทั้งหมดเพิ่มขึ้น 28.4% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยมีเครื่องบินส่วนตัว 25,993 ลำที่ให้บริการเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2023

จำนวน “เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว” ที่มุ่งสู่กรุงบากู อาเซอร์ไบจาน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้นำระดับโลกและบุคคลสำคัญต่างมารวมตัวกัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศประจำปีของสหประชาชาติ หรือ COP29 

ยิ่งตอกย้ำว่าการประชุมนี้เป็นเรื่อง “หน้าไหว้หลังหลอก” ย้อนแย้งและลักลั่น เพราะ COP29 เป็นการประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ผู้เข้าร่วมประชุมกลับนั่งเครื่องบินส่วนตัว ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล 

ข้อมูลจาก FlightRadar24 บริการติดตามเที่ยวบิน พบว่า ในช่วงก่อนการประชุม สนามบินนานาชาติบากูมีเครื่องบินส่วนตัวลงจอด 65 ลำ โดย 45 ลำ มาถึงในวันอาทิตย์และวันจันทร์ ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้เข้าร่วมงานต้องมาเตรียมตัวประชุม หากเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 พบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีเครื่องบินส่วนตัว 32 ลำลงจอด แม้ว่าจะน้อยกว่าจำนวนเครื่องบินเจ็ทในการประชุม COP28 ที่ดูไบ และ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ก็ตาม

การเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทเพื่อเข้าร่วมการประชุม COP29 ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เดนิส ออแคลร์ ตัวแทนของ Travel Smart Campaign องค์กรลดการปล่อยมลพิษจากการเดินทาง ได้เน้นย้ำถึงผลกระทบของเที่ยวบินเหล่านี้ โดยระบุว่า

“เครื่องบินส่วนตัวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก การมางาน COP29 ด้วยเครื่องบินเจ็ท จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

เครื่องบินเจ็ทสร้างมลพิษมากกว่าเครื่องบินพาณิชย์ต่อผู้โดยสารมากถึง 5-14 เท่า และมากกว่ารถไฟ 50 เท่า โดยออแคลร์กล่าวเสริมว่า สำหรับผู้บริหารบางคนแล้ว การใช้เครื่องบินเจ็ทบินไปไกล ๆ เพียงเที่ยวเดียว อาจก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่คนธรรมดาปล่อยมาตลอดทั้งปี

คำวิจารณ์นี้สะท้อนถึงผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยลินเนียส ในสวีเดน ที่นักวิจัยได้วิเคราะห์เที่ยวบินส่วนตัวกว่า 18,655,789 เที่ยวบินในช่วง 4 ปี ระหว่าง 2019-2023 เผยให้เห็นว่าคนดังบางคนปล่อยคาร์บอนมากกว่าคนทั่วไปถึง 500 เท่าต่อปี

หากย้อนดูงานอีเวนต์ใหญ่ เช่น ฟุตบอลโลกที่กาตาร์ในปี 2022 และเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 2023 พบว่ามีการใช้เครื่องบินส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนการประชุม COP28 ที่ดูไบ มีเที่ยวบินส่วนตัว 644 เที่ยว ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันประมาณ 4,800 ตัน

แม้จะมีตัวเลขเหล่านี้ แต่แหล่งข่าวใกล้ชิดกับการดำเนินงานด้านการบินก็แย้งว่ามีเหตุผล “ที่เข้าใจได้” ว่าทำไมบุคคลสำคัญบางคนถึงเลือกไม่เดินทางด้วยเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านความปลอดภัยและด้านการเดินทาง เนื่องจากพรมแดนทางบกระหว่างจอร์เจียและอาเซอร์ไบจานปิด ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินทางไปยังการประชุมสุดยอดโดยไม่ต้องขึ้นเครื่องบิน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องบินเจ็ทผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังคงชัดเจน

 

คนรวยนั่งเจ็ทกระฉูด

ระหว่างปี 2019-2023 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบินส่วนตัวเพิ่มขึ้น 46 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แตะที่ 15.6 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีของเนปาล ซึ่งคิดเป็น 1.8% ของการปล่อยก๊าซจากการเดินทางทางอากาศเชิงพาณิชย์ 

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Communications Earth & Environment ได้วิเคราะห์พฤติกรรมของเที่ยวบินส่วนตัว 18,655,789 เที่ยวบินในช่วง 4 ปี พบว่า การเดินทางไปพักผ่อนในช่วงวันหยุด และชมงานกีฬาระดับนานาชาติเป็นแรงผลักดันให้การบินส่วนตัวเพิ่มขึ้น

ศ.สเตฟาน กอสสลิง จากมหาวิทยาลัยลินเนียสในสวีเดน ผู้นำการวิจัย กล่าวว่าปัจจุบันผู้โดยสารเครื่องบินเจ็ทจำนวนมาก “ใช้เครื่องบินเป็นเหมือนแท็กซี่” เพราะมีเที่ยวบินส่วนตัวเกือบ 50% บินระยะทางน้อยกว่า 500 กม. และมี 18.9% เป็นเที่ยวบินระยะสั้น ส่วน 4.7% เป็นเที่ยวบินพักผ่อนที่ใช้ระยะทางบินน้อยกว่า 50 กม. เป็นประจำ

ที่น่าสนใจคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะการบินของ “กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด” ซึ่งมีจำนวนประมาณ 256,000 คน หรือคิดเป็น 0.003% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนกลุ่มนี้คือ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจในยุโรป เช่น อิบิซาและนีซ ซึ่งมักจะเดินทางในช่วงสุดสัปดาห์ในฤดูร้อน

นอกจากนี้ ข้อมูลยังเผยให้เห็นด้วยว่าเที่ยวบินส่วนตัวจำนวนมาก มีการบินรับส่งระหว่างอีเวนต์ระดับนานาชาติ มีเครื่องบินเจ็ท 595 ลำเดินทางจากการประชุมดาวอสของ สภาเศรษฐกิจโลกไปยังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อีกด้วย ขณะที่การประชุม COP28 มีเครื่องบินเช่าเหมาลำ 96 ลำ บินเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ที่ประเทศกาตาร์ด้วย

จำนวนเครื่องบินส่วนตัวทั้งหมดเพิ่มขึ้น 28.4% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยมีเครื่องบินส่วนตัว 25,993 ลำที่ให้บริการเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2023 โดยเครื่องบินบางลำสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงถึง 576 แกลลอนต่อชั่วโมง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่ามนุษย์โดยเฉลี่ย (4.5 ตัน) ต่อชั่วโมงต่อปี

“สำหรับซีอีโอที่อ้างว่าใส่ใจกับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน การใช้เครื่องบินส่วนตัวเพื่อเดินทางไปยัง COP29 ถือเป็นการกระทำที่เสแสร้งและหน้าไหว้หลังหลอก การเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่ของโลกอย่างน่าเสียดาย โดยการเดินทางแต่ละครั้งก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนมากกว่าที่คนทั่วไปทั่วโลกปล่อยในหนึ่งปีเสียอีก” อลีเธีย วอร์ริงตัน จากองค์กรการกุศล Possible กล่าว

อย่างไรก็ตามผู้นำจาก 13 ประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงที่สุด รวมถึงประธานาธิบดีไบเดนแห่งสหรัฐ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแห่งจีน และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีแห่งอินเดีย ต่างไม่เข้าร่วมการประชุม COP29 

รวมถึงประธานาธิบดีฮาเวียร์ มิเล แห่งอาร์เจนตินายังสั่งการให้ตัวแทนของประเทศถอนตัวออกจากการประชุม COP29 ทั้งหมด เนื่องจากเขาเป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่เชื่อในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังส่งสัญญาณว่าอาร์เจนตินาอาจจะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ซึ่งกำหนดให้ต้องลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

ด้วยจำนวนผู้ลงทะเบียนกว่า 67,000 คน การประชุมในปีนี้จึงถือเป็นการประชุมที่ใหญ่เป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ รองจากการประชุม COP28 การประชุมครั้งนี้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังเน้นย้ำถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในการปรับแนวทางปฏิบัติระดับโลกให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติจริงของผู้มีอำนาจ

สำหรับนักวิจารณ์หลาย ๆ คน แล้วการใช้เครื่องบินส่วนตัวจำนวนมหาศาลเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล ในช่วงเวลาที่โลกต้องการการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและเห็นผลอย่างเร่งด่วน


ที่มา: BBCEuro News, IndependentThe Times