Global Ecolabelling Network ย้ำความสำคัญ GENICES หนุนความเชื่อมั่นฉลากเขียว
การประชุม Global Ecolabelling Network : GEN ในครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในที่ประชุมได้ย้ำถึงความสำคัญของ GENICES ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบฉลากสิ่งแวดล้อมระดับสากล
GENICES เป็นกระบวนการที่ช่วยตรวจสอบและรับรองสมาชิก GEN ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 14024 เพื่อยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและทำให้ระบบฉลากสิ่งแวดล้อมเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
การตรวจสอบนี้มีขอบเขตที่ครอบคลุมการเลือกประเภทผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเกณฑ์สิ่งแวดล้อมที่สะท้อนผลกระทบในแต่ละขั้นตอนการผลิต รวมถึงการประเมินคุณสมบัติของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง กระบวนการตรวจสอบมีความละเอียดและเข้มงวดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกขั้นตอนเป็นไปตามมาตรฐานสูงสุด ซึ่งยังรวมถึงการจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
หนึ่งในจุดเด่นของการประชุมของเครือข่ายสมาชิกสิ่งแวดล้อมโลก คือการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านกระบวนการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement: MRA) ซึ่งช่วยให้เกิดการยอมรับเกณฑ์มาตรฐานของผลิตภัณฑ์และฉลากสิ่งแวดล้อมระหว่างสมาชิกประเทศต่างๆ ลดอุปสรรคในการค้าและสร้างความสะดวกให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภค
นอกจากนี้ GENICES ยังมีแนวคิดในการพัฒนา common core criteria หรือเกณฑ์หลักที่ใช้ร่วมกัน โดยมุ่งหวังให้สมาชิกสามารถกำหนดเกณฑ์สิ่งแวดล้อมพื้นฐานที่ใช้ร่วมกันได้ ซึ่งจะช่วยให้การจัดทำมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น สอดคล้อง และลดความซับซ้อนในการขอการรับรองจากหลายประเทศ
การจัดทำ common core criteria นี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในตลาดสากล
ในการประชุม GEN ครั้งนี้ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และบอร์ดบริหารเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อมโลก (GEN) ได้มีโอกาสเข้าร่วมและนำเสนองาน Promoting Sustainability in the Building and Construction Sector in Thailand ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้ฉลากเขียวประเทศไทยได้แสดงถึงความก้าวหน้าและความมุ่งมั่นในด้านการพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อม
ผลงานที่นำเสนอในที่ประชุมยังแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาเกณฑ์สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสามารถเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ การนำเสนอครั้งนี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับสมาชิกประเทศอื่น ๆ ภายในเครือข่าย GEN ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ฉลากเขียวประเทศไทยได้พัฒนาต่อไปในระดับสากล
การประชุมครั้งมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวนกว่า 100 คน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ฉลากเขียวประเทศไทยได้แสดงศักยภาพของตนในเวทีระดับโลก.