มุมมอง 3 ผู้เชี่ยวชาญบนเวทีบางจาก : AI สร้างอิมแพ็คมหาศาลต่อองค์กร
ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในองค์กรเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อการเติบโตและความสำเร็จในระยะยาว การลงทุนใน AI ไม่เพียงแต่ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาและนวัตกรรมที่ไม่มีที่สิ้นสุด
กลุ่มบริษัทบางจาก จัดงาน Greenovative Forum ครั้งที่ 14 วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2567) ภายใต้หัวข้อ ‘Crafting Tomorrow’s Future with Sustainable Energy and AI’ ที่จะเปิดเผยกลยุทธ์ในการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและการพัฒนา AI ในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ในการประชุมนี้ มีวิทยากรจากหลากหลายวงการทั้งในและต่างประเทศมาเปิดมุมมองใหม่ในการอยู่ร่วมกับ AI ให้ยั่งยืน
โดยส่วนหนึ่งของงานคือ เวทีเสวนาเข้มข้นถึงศักยภาพของ AI ในการขับเคลื่อนอนาคต พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองกับตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือ หัวข้อ “Forward-Looking Organizations: Efficiency Meets Intelligence” โดย “ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล” กรรมการผู้จัดการและ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สคูลดิโอ จำกัด, “อรนุช เลิศสุวรรณกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด, และ “รณพงศ์ คำนวณทิพย์” กรรมการผู้จัดการส่วนภูมิภาค บริษัท มายด์ เอไอ เซาท์อีสเอเซีย จำกัด
องค์กรที่มองไปข้างหน้า พบความฉลาดของ AI
“ดร.วิโรจน์” กล่าวว่า สคูลดิโอเทรนให้กับองค์กรต่างๆ มากมายเพื่อให้คนมีทักษะด้าน AI และหากพูดถึงผลกระทบของ AI ต่อองค์กร แบ่งได้เป็น 3 มุมมอง ดังนี้
1. Intelligence (ความฉลาด)
- AI ช่วยให้เราเพิ่มประสิทธิภาพในการคิดและการทำงานได้มากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตัวอย่างเช่น Generative AI ซึ่งมีความสามารถในการศึกษาและประมวลผลข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถให้ความรู้พื้นฐานได้ในหลายๆ ด้าน
- การทำนายข้อมูล Predictive AI ซึ่งมีมานานแล้ว เน้นการทำนายข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง เช่น พฤติกรรมของเครื่องจักรหรือการดำเนินธุรกิจ ช่วยให้องค์กรสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความสามารถในการประมวลผลภาษา ทำให้ลดเวลาการค้นคว้าและหาข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. Imagination (จินตนาการ)
- AI ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ในการประชุม หากต้องการไอเดียใหม่ๆ AI จะสามารถสร้างแนวคิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เกิดบรรยากาศการเบรนสตอร์มที่ดีขึ้น
- ในงานศิลปะ AI สามารถใช้ในการสร้างเพลงและภาพถ่าย ทำให้กระบวนการสร้างสรรค์ง่ายขึ้น โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก
- ใช้ AI ในการแต่งเพลงและสร้างภาพถ่าย แสดงให้เห็นว่า AI สามารถยกระดับความคิดสร้างสรรค์ของเราได้อย่างมาก
3. Integration (การผสาน)
- การนำ AI มาใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานอัตโนมัติ หลายองค์กรได้พยายามทำ Automation ผ่าน Low-code, Robotic Process Automation (RPA) และเทคโนโลยีอื่นๆ แต่ยังคงมีจุดที่ต้องใช้การตัดสินใจของมนุษย์
- Generative AI สามารถประมวลผลอีเมล และกำหนดทิศทางงานได้โดยอัตโนมัติ
“ดร.วิโรจน์” อธิบายว่า ในบริษัทสคูลดิโอในโลกยุคเดิม เมื่อมีอีเมลเข้ามา ต้องมีแอดมินหนึ่งคนที่คอยอ่านอีเมลกลางแล้วกดฟอร์เวิร์ดต่อว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับใคร แต่มันต้องใช้ความฉลาดของมนุษย์ในการตัดสินใจ และการใช้ระบบทำงานแบบนี้ไม่คุ้มค่า เพราะต้องจ้างแอดมินหนึ่งคนเพื่อทำงานนี้
แต่ตอนนี้ เจเนอเรทีฟเอไอเก่งมาก สามารถอ่านอีเมลและเข้าใจได้ทั้งหมด อีเมลนี้ต้องการอะไร เจเนอเรทีฟเอไอก็สามารถฟอร์เวิร์ดต่ออัตโนมัติได้ และสามารถสร้างเวิร์กโฟลว์ต่ออัตโนมัติได้ทั้งหมด ทำให้ในแง่ของการผสานเข้ากับกระบวนการ (Integration) สูงมากๆ
"ในตอนนี้ หลายคนมักใช้ AI เพื่อคุยเล่นในแชท ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นระดับเบบี้มาก ๆ แต่ถ้าองค์กรต้องการใช้ประโยชน์สูงสุด จะต้องผสาน AI เข้ากับเวิร์กโฟลว์อย่างสมบูรณ์ สิ่งนี้จะช่วยปลดล็อกประสิทธิภาพและเพิ่มผลิตภาพขององค์กรได้ในขั้นสุด
AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือ
“อรนุช” กล่าวว่า ถ้าให้แบ่งกลุ่มของคนที่นำ AI มาใช้ในธุรกิจออกเป็น 3 มุมหลัก ดังนี้
- กลุ่มที่หนึ่ง คือกลุ่มที่ใช้โมเดล AI ที่เป็นฟิกซ์ ซึ่งมีความสำคัญมากๆ เราได้เห็นกลุ่มสตาร์ทอัพแบบนี้มาเยอะและยังมีความสำคัญในปัจจุบัน
- กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่ใช้ AI เพื่อโฟกัสและสร้างนวัตกรรมใหม่โดยตรง
- กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่ใช้เครื่องมือ AI เช่น เจเนอเรทีฟ AI เพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ
“เครื่องมือเหล่านี้ เช่น เครื่องมือออกแบบ กราฟิกดีไซน์ และเครื่องมือเขียนโค้ด โดยแอปพลิเคชัน มีความสามารถในการสร้างผลงานที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว เช่น การออกแบบกราฟิกจากอินพุตที่ได้รับหรือการเขียนโค้ดจากข้อมูลที่มีอยู่ ปัจจุบัน การรวมทักษะเหล่านี้เข้าด้วยกันทำให้การเริ่มต้นทำธุรกิจง่ายขึ้นมาก ไม่จำเป็นต้องมีทีมงานใหญ่เหมือนสมัยก่อน การเป็นโซโลพรินเนอร์จึงมีโอกาสและง่ายขึ้นมาก”
แต่การทำธุรกิจไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัญหาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนหรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตัวอย่างเช่น การที่บริษัท Deutsche Bahn ของเยอรมันได้ร่วมมือกับสตาร์ทอัพเพื่อใช้ AI ในการตรวจสอบและซ่อมแซมรถไฟ โดย AI สามารถประมวลผลข้อมูลจากเซ็นเซอร์และกล้องที่ติดตั้งใต้รถไฟเพื่อตรวจหาจุดที่อาจเกิดปัญหาและแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและซ่อมบำรุง
“อรนุช” กล่าวด้วยว่า หลักสำคัญคือ AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือ แต่ต้องเข้าใจปัญหาที่ต้องการแก้ไขและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น B2C หรือ B2B ซึ่ง AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การเริ่มต้นทำธุรกิจต้องเริ่มจากการวิเคราะห์เพนพอยท์ของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการดูว่าในแวลูเชนของธุรกิจมีส่วนไหนที่ทำซ้ำๆ หรือมีความผิดพลาดสูง หรือการค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ AI จะช่วยทำให้กระบวนการนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"
สุดท้าย ไม่ว่าคุณจะเป็นสตาร์ทอัพหรือคอร์ปอเรท การมี AI เป็นพาร์ทเนอร์ในการทำงานจะช่วยทำให้การทำธุรกิจง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้แต่การเป็นโซโลพรินเนอร์ก็สามารถใช้ AI เป็นพาร์ทเนอร์ในการทำงานได้
AI ใช้พลังงานมหาศาล
"ดร.วิโรจน์" กล่าวว่า การใช้ AI ควรทำอย่างมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับทุกเรื่อง ในยุคโซเชียลมีเดียที่ผ่านมาข้อมูลที่เราส่งต่อผ่านโซเชียลมีเดียนั้นไม่ได้ใช้เพียงแค่พลังงานจากมือถือของเรา แต่ยังถูกเก็บไว้ในดาต้าเซ็นเตอร์ซึ่งใช้พลังงานมหาศาล และเมื่อเราส่งข้อมูล มันไม่ใช่เพียงแค่เราคนเดียว แต่เป็นพันล้านคนทั่วโลก ซึ่งต้องใช้พลังงานอย่างมากในการเก็บรักษาข้อมูลเหล่านั้น
"AI ในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของ Generative AI แต่จริงๆ แล้ว AI มีหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น การ์ตูนที่มีรูปหุ่นยนต์สองตัวที่ชี้ไปที่ภาพสมองมนุษย์ ซึ่งสะท้อนว่า AI ต้องการจำลองความฉลาดของมนุษย์ แม้ว่า AI ยังไม่ถึงขั้นมีปัญญาญาณเหมือนมนุษย์ แต่อาจมีการพัฒนาในอนาคต เช่น Neuralink ที่เป็นชิปเซ็ตฝังในสมองมนุษย์"
AI สามารถช่วยให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การใช้งาน AI ในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เพื่อช่วยให้คอลเซ็นเตอร์สามารถตอบคำถามและติดต่อนัดหมายได้ตลอดเวลา ทำให้การทำงานไม่ถูกจำกัดอยู่ที่เวลา 6 โมงเย็น
การใช้ AI กำหนดเมนูอาหาร นอกจากนี้ AI ยังสามารถช่วยกำหนดเมนูอาหารให้กับโรงอาหารหลายแห่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และสามารถปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละสถานที่ได้ เช่น การกำหนดค่าแคลอรี่และการใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่า