หยุดบริจาคเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น คุณภาพแย่ ไม่มีใครอยากได้ ถูกทิ้งเป็นขยะ

หยุดบริจาคเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น คุณภาพแย่ ไม่มีใครอยากได้ ถูกทิ้งเป็นขยะ

เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า “การบริจาคเสื้อผ้า” ที่ไม่จำเป็นให้กับองค์กรการกุศล หรือจุดรับบริจาคต่าง ๆ จะช่วยให้ “เสื้อผ้า” เหล่านั้นตกไปอยู่กับผู้ที่ต้องการจริง ๆ และถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง แต่น่าเสียดายที่ในความเป็นจริง มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

KEY

POINTS

  • หลายคนแก้ปัญหาด้วยการโละเสื้อผ้าไปบริจาค และปริมาณเสื้อผ้าบริจาคยังคงเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ แต่แทบไม่มีผู้คนในโลกต้องการเสื้อผ้าเหล่านี้ไปครอบครอง
  • เสื้อผ้าที่ไม่มีใครเอาก็ถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบแทน หรือไม่ก็ส่งออกเสื้อผ้าบริจาคไปยังประเทศอื่น และสุดท้ายก็ถูกทิ้งอยู่ดี
  • แต่ละปีทั่วโลกมีขยะสิ่งทออยู่ที่ 92 ล้านตัน ซึ่งตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2030 เสื้อผ้าและสิ่งทอที่ถูกทิ้งไม่ถึง 0.5% ที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลเป็นเส้นใยและเสื้อผ้า

เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า “บริจาคเสื้อผ้า” ที่ไม่จำเป็นให้กับองค์กรการกุศล หรือจุดรับบริจาคต่าง ๆ จะช่วยให้ “เสื้อผ้า” เหล่านั้นตกไปอยู่กับผู้ที่ต้องการจริง ๆ และถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง แต่น่าเสียดายที่ในความเป็นจริง มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

ตั้งแต่มีอุตสาหกรรม “ฟาสต์แฟชั่น” เข้ามา ทุกคนก็สามารถเลือกซื้อเสื้อผ้ามากมายหลายสไตล์ในราคาไม่แพงเพียงแค่ปลายนิ้ว ด้วยราคาที่ไม่แพงทำให้ ผู้คนหันไปซื้อเสื้อผ้าใหม่แทน ที่จะซื้อ “เสื้อผ้ามือสอง” ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าบ่อยขึ้น อายุการใช้งานเสื้อผ้าสั้นลง

หลายคนแก้ปัญหาด้วยการโละเสื้อผ้าไปบริจาค และปริมาณเสื้อผ้าบริจาคยังคงเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ แต่แทบไม่มีผู้คนในโลกต้องการเสื้อผ้าเหล่านี้ไปครอบครอง ความไม่สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมหาศาลอย่างไม่คาดคิด ส่งผลกระทบต่อทุกมุมโลก

การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Cities ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับชะตากรรมของเสื้อผ้าที่เราบริจาค โดนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย RMIT ได้สัมภาษณ์สภา องค์กรการกุศล ผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตแฟชั่น รวมถึงผู้ขายต่อเชิงพาณิชย์และผู้รีไซเคิลใน 9 เมือง ได้แก่ อัมสเตอร์ดัม ออสตินในสหรัฐ เบอร์ลิน เจนีวา ลักเซมเบิร์กซิตี้ แมนเชสเตอร์ เมลเบิร์น ออสโล และโตรอนโต พบว่าการบริโภคมากเกินไปและการผลิตเสื้อผ้าส่วนเกิน เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดขยะสิ่งทอในเมืองทั่วโลก

ร้านค้ามือสองเพื่อการกุศล เป็นช่องทางหนึ่งสำหรับจัดการกับเสื้อผ้าที่ใช้แล้วและบริจาคจำนวนมาก แต่ร้านเหล่านี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน เพราะในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา องค์กรการกุศลและนักสะสมรายงานว่าคุณภาพของเสื้อผ้าที่ได้รับมาต่ำลงอย่างน่าใจหาย ทำให้ขายได้ยาก หรือต้องขายในราคาที่ถูกลง 

เมื่อเกิดการบริโภคมากเกินไปและการผลิตสินค้าเกินจำเป็น ปัญหาที่ตามมาก็คือวิกฤติขยะสิ่งทอภายในเมือง นำไปสู่การส่งออกเสื้อผ้าบริจาค โดยออสเตรเลียมีอัตราการส่งออกเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว 33% ส่วนนอร์เวย์มียอดสูงถึง 97%

ส่วนการส่งออกของยุโรปไปยังแอฟริกาและเอเชียเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าตั้งแต่ปี 2000 จากกว่า 550,000 ตัน เป็นเกือบ 1.7 ล้านตันในปี 2019 ขณะที่ออสเตรเลียส่วนใหญ่ส่งเสื้อผ้าที่ไม่ต้องการไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี ฟิจิ และปากีสถาน

ดร.แยสซี ซามี จากมหาวิทยาลัย RMIT ในออสเตรเลียกล่าวว่า รัฐบาลท้องถิ่นและองค์กรการกุศลจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่ง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการจัดการขยะสิ่งทอ รวมถึงดำเนินรูปแบบธุรกิจอื่น ๆ เช่น การขายต่อ การแลกเปลี่ยน และการซ่อมแซม

“แม้องค์กรการกุศลต้องทำงานหนัก แต่พวกเขาไม่สามารถจัดการกับปริมาณเสื้อผ้าบริจาคจำนวนมากได้ เพราะไม่มีอุปกรณ์ เวลา และเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะคัดแยกเสื้อผ้าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล” ดร.ซามีกล่าว

ปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับขยะสิ่งทอ นอกจากการจัดพื้นที่สาธารณะและใบอนุญาตสำหรับการวางถังขยะการกุศลและผู้ขายต่อเชิงพาณิชย์ ในเมืองอย่างเมลเบิร์น รัฐบาลท้องถิ่นจะส่งสิ่งทอที่ถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบ แทนที่จะนำไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ใหม่หรือใช้ทางเลือกอื่นในท้องถิ่น

นอกจากนี้ โครงการเกี่ยวกับแฟชั่นที่ยั่งยืน เช่น ร้านเสื้อผ้ามือสอง ไม่สามารถแข่งขันกับแบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ ได้ เพราะไม่มีงบทางการตลาดและทำเลที่ตั้งที่สะดวก โดยดร.ซามีกล่าวว่า

“ที่จริงฟาสต์แฟชั่นทางเลือกมีอยู่จริง แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมเพียงพอ แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการลดขยะสิ่งทอของเมืองได้มากก็ตาม”

การส่งออกเสื้อผ้าบริจาคทำให้เกิดความซับซ้อนของขยะสิ่งทอเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าการส่งเสื้อผ้าไปต่างประเทศอาจดูเหมือนเป็นวิธีแก้ปัญหาการจัดการขยะในท้องถิ่นที่ทำได้จริง แต่การทำเช่นนี้จะโยนต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้กับประเทศอื่นที่มีการจัดการที่ไม่ดีนัก ท้ายที่สุดเสื้อผ้าเหล่านี้ ก็ลงเอยอยู่ในหลุมฝังกลบอยู่ดี ส่งผลให้เกิดมลภาวะและทรัพยากรล้นเกิน แต่ละปีทั่วโลกมีขยะสิ่งทออยู่ที่ 92 ล้านตัน ซึ่งตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2030

ยิ่งไปกว่านั้น เสื้อผ้ามือสองราคาถูกที่หลั่งไหลเข้าในประเทศ มาอาจทำให้ยอดขายของอุตสาหกรรมสิ่งทอในท้องถิ่นลดลง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและรายได้ของคนงาน

ก่อนที่โลกจะรู้จักฟาสต์แฟชั่น เสื้อผ้าและสิ่งทอจะถูกใช้ซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่ามันจะเสื่อมสภาพ และผู้คนพยายามซ่อมแซม หรือนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ ก่อนที่จะถูกโยนทิ้ง ซึ่งเส้นใยธรรมชาติจะสลายตัวในหลุมฝังกลบ แต่การศึกษาพบว่าปัจจุบันมีเส้นใยสังเคราะห์และสารเคมีเพิ่มขึ้นในเสื้อผ้า ซึ่งทำให้ไม่สามารถย่อยสลายได้

การเติบโตของแฟชั่นฟาสต์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เชื่อมโยงเกับการใช้โพลีเอสเตอร์และผ้าสังเคราะห์อื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 64% ของตลาดเส้นใยทั่วโลก คาดว่าเสื้อผ้าและสิ่งทอที่ถูกทิ้งไม่ถึง 0.5% ที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลเป็นเส้นใยและเสื้อผ้า ดังนั้นฟาสต์แฟชั่นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เลวร้ายไว้มากมาย 

เมืองและองค์กรบางแห่งได้เริ่มนำกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ โดยเน้นที่การรักษาทรัพยากรให้ใช้งานได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านการอัปไซเคิล การรีไซเคิล และการใช้ประโยชน์จากวัสดุที่ย่อยสลายได้ โดยผสมผสานการศึกษา การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

หนึ่งในนั้นคือ เมลเบิร์น ที่กำลังจัดการกับแฟชั่นให้มีความยั่งยืนมากขึ้น องค์กรการกุศล รัฐบาลท้องถิ่น และผู้ผลิตเสื้อผ้า รวมตัวกันเปิดคาเฟ่ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ส่งเสริมการซ่อมแซมและรีไซเคิลเสื้อผ้า เพื่อนำไปใช้งานหรือขายต่อ พร้อมให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับแฟชั่นที่ยั่งยืน

 

ที่มา: ABCEarthThe Conversation