‘จีน’ ตั้งเป้าลด ‘ขยะอาหาร’ ห้ามสั่งอาหารเกินจำเป็น ลดการสูญเสียธัญพืช
“จีน” ออกแผนงานส่งเสริมการต่อสู้กับ “ขยะอาหาร” โดยเล็งไปที่อุตสาหกรรมการจัดเลี้ยง สถานที่ทำงาน โรงอาหารของโรงเรียนเป็นเป้าหมายหลัก
KEY
POINTS
- “จีน” ออกมาตรการต่อสู้กับ “ขยะอาหาร” เน้นไปที่อุตสาหกรรมการจัดเลี้ยง สถานที่ทำงาน โรงอาหารในโรงเรียน
- ขยายแคมเปญ Clean Plate ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนสั่งอาหารอย่างมีความรับผิดชอบและลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งไปทั่วประเทศ
- มาตรการนี้เน้นย้ำถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการสูญเสียเมล็ดพืชระหว่างการเก็บเกี่ยว
สำนักงานกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสำนักงานกลางคณะรัฐมนตรีของจีนเสนอแผนปฏิบัติการใหม่ ตั้งเป้าที่จะลด “ขยะอาหาร” ต่อหัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และลดอัตราการสูญเสียเมล็ดพืชให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกภายในสิ้นปี 2027 โดยตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพเมล็ดพืชทั่วประเทศ ตั้งแต่การผลิตและการจัดเก็บ ไปจนถึงการแปรรูปและการบริโภค
แผนดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G20 ที่บราซิล โดยประกาศว่าจีนเข้าร่วมการต่อต้านความหิวโหยและความยากจน และจะยังคงเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติว่าด้วยการสูญเสียและขยะอาหาร
มาตรการนี้เน้นย้ำถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการสูญเสียเมล็ดพืชระหว่างการเก็บเกี่ยว ซึ่งเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนผ่านการช่วยเหลือทางการเงิน และให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพ
ฮาน จิงโบ เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติกล่าวกับ The Paper ว่าความมั่นคงด้านธัญพืชของจีนกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ตามแผนดังกล่าวระบุว่า การใช้วิทยาศาสตร์เข้าช่วยสำหรับจัดเก็บเมล็ดพืช และการสร้างยุ้งข้าวที่มีมาตรฐานสูง เป็นกุญแจสำคัญในการลดการสูญเสียเมล็ดพืชในการจัดเก็บ และช่วยเพิ่มปริมาณการเก็บรักษาเมล็ดพืชที่จัดเก็บไว้โดยจะใช้วิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสมัยใหม่ เช่น ทางรถไฟและสถานีขนส่งเฉพาะทาง จะช่วยลดการสูญเสียเมล็ดพืชระหว่างการขนส่ง และส่งเสริมการนำโซลูชันด้านโลจิสติกส์ที่สร้างสรรค์มาใช้ในการขนส่งเมล็ดพืชอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมมาตรฐานการแปรรูปเมล็ดพืช ด้วยการเพิ่มอัตราผลผลิตเมล็ดพืชและน้ำมันที่สูงขึ้น ตลอดการใช้ผลพลอยได้ เช่น รำข้าวและจมูกข้าว เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากเมล็ดพืช
ขณะเดียวกัน แผนดังกล่าวยังมีเป้าหมายส่งเสริมความตระหนักรู้ของประชาชนผ่านแคมเปญและกิจกรรมทางการศึกษา รวมถึงการกระตุ้นให้แต่ละครอบครัวหันมากินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น และขยายแคมเปญ Clean Plate ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนสั่งอาหารอย่างมีความรับผิดชอบและลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งไปทั่วประเทศ
แผนปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่แข็งแกร่งและส่งเสริมนิสัยการประหยัดและต่อต้านขยะ สำหรับกลุ่มเป้าหมายสำคัญของแผนนี้ คือ อุตสาหกรรมบริการอาหาร สถานที่ทำงาน และโรงอาหารของโรงเรียน
ร้านอาหารควรส่งเสริมให้ลดปริมาณอาหารลงและเตือนลูกค้าอย่างจริงจัง เพื่อหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารมากเกินไป โดยออกเป็นโปรโมชั่นต่าง ๆ เช่น ส่วนลดค่าอาหารและบริจาคอาหารให้กับองค์กรการกุศล
ขณะที่โรงเรียนควรนำแนวทางปฏิบัติดังกล่าวมาใช้ เช่น การชั่งน้ำหนักอาหารและเมนูตามสั่งปรุงทีละจาน เพื่อลดปริมาณขยะอาหาร ส่วนองค์กรและรัฐวิสาหกิจควรจัดสัดส่วนอาหารในโรงอาหารอย่างเหมาะสม จัดจำนวนมื้ออาหารเพียงพอกับจำนวนคน
จีนวางแผนที่จะจัดทำข้อมูลสถิติสำหรับการติดตามการสูญเสียธัญพืชและขยะอาหารในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การขนส่ง และการค้าปลีก ไปจนถึงการบริโภคในครัวเรือน พร้อมจะมีการสำรวจและประเมินผลเป็นประจำ สำหรับการปรับแก้นโยบาย และให้เจ้าหน้าที่สอดส่องการบังคับใช้แผนดังกล่าวอย่างเข้มงวด
เจ้าหน้าที่คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติกล่าวว่า “นี่เป็นความพยายามของประเทศในการส่งเสริมการรักษาอาหาร และลดปริมาณขยะอาหารที่ยังคงเผชิญกับความท้าทายและความขัดแย้งต่าง ๆ”
รายงานที่เผยแพร่โดยสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งจีน เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ระบุว่า ปริมาณอาหารสูญเปล่าทั้งหมดในปี 2565 ซึ่งรวมถึงเมล็ดพืช ผัก ผลไม้ เนื้อ ไข่ และสัตว์ปีก มีจำนวนถึง 460 ล้านตัน ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 259,534 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 22.3% ของมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด
จีนสูญเสียเมล็ดพืชมากกว่า 35 ล้านตันต่อปีระหว่างการจัดเก็บ การขนส่ง และการแปรรูป หากแบ่งตามห่วงโซ่อุตสาหกรรม พบว่า การผลิตและการแปรรูปอาหารทำให้สูญเสียอาหารไป 63% ในขณะที่การจัดเก็บและการขนส่งคิดเป็น 37%
ส่วนการตัดแต่งอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน เช่น การขายเฉพาะส่วนกลางของกะหล่ำปลีหรือการตัดแต่งใบของต้นหอม อาจคิดเป็น 80% ของการสูญเสียอาหารทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณขยะอาหารในจีนยังคงเป็นเรื่องคลุมเครือ เพราะไม่มีมีการประเมินและเก็บข้อมูลทางสถิติให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานเลี้ยงและงานเฉลิมฉลองงานแต่งงานและงานศพ ที่มีอาหารเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ระบุว่า ในปี 2022 ขยะอาหารทั้งหมดเกิดขึ้นทั่วโลก 1,050 ล้านตัน หรือเกือบ 1 ใน 5 ของอาหารทั้งหมดผลิตได้ หมายความว่ามนุษย์แต่ละคนสร้างขยะอาหาร 132 กิโลกรัม จากปริมาณขยะอาหารทั้งหมดที่เกิดขึ้น 60% เกิดขึ้นในระดับครัวเรือน โดยภาคบริการอาหารคิดเป็น 28% และภาคค้าปลีกคิดเป็น 12%