‘สนธิสัญญาพลาสติกโลก’ ล่มไม่เป็นท่า! หาข้อสรุปลดการผลิตพลาสติกไม่ได้

‘สนธิสัญญาพลาสติกโลก’ ล่มไม่เป็นท่า! หาข้อสรุปลดการผลิตพลาสติกไม่ได้

ประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” เพื่อแก้ไขวิกฤติมลพิษจากพลาสติกทั่วโลก และวางแผนว่าจะกลับมาเจรจากันอีกครั้งในปีหน้า เพราะลังเลว่าควรลดปริมาณพลาสติกทั้งหมดบนโลก และกำหนดมาตรการควบคุมสารเคมีพิษที่ใช้ในการผลิตพลาสติกหรือไม่

KEY

POINTS

  • ประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ได้เพราะตกลงไม่ได้ว่าควรลดปริมาณการผลิตพลาสติกทั้งหมดบนโลก และกำหนดมาตรการควบคุมสารเคมีพิษที่ใช้ในการผลิตพลาสติกหรือไม่
  • ซาอุดีอาระเบียระบุว่า ไม่ควรลดการผลิตพลาสติก แต่ควรเน้นไปที่การลดมลพิษของขยะพลาสติกมากกว่า
  • ทำให้หลายประเทศไม่ยอมให้ออกสนธิสัญญาที่ใช้ไม่ได้จริง ยอมรอไปเจรขากันใหม่ในปีหน้า เพื่อให้ได้สัญญาที่ดีและแข็งแรง

ประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” เพื่อแก้ไขวิกฤติมลพิษจากพลาสติกทั่วโลก และวางแผนว่าจะกลับมาเจรจากันอีกครั้งในปีหน้า เพราะลังเลว่าควรลดปริมาณพลาสติกทั้งหมดบนโลก และกำหนดมาตรการควบคุมสารเคมีพิษที่ใช้ในการผลิตพลาสติกหรือไม่

การประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลครั้งที่ 5 หรือ INC-5 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองปูซาน ของเกาหลีใต้ ควรจะเป็นรอบสุดท้ายและได้ข้อสรุปเกี่ยวกับ “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ซึ่งจะเป็นกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับมลภาวะจากพลาสติก รวมถึงในมหาสมุทร แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิด เนื่องจากยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ปิดฉากการประชุมไปโดยที่ไม่มีแผนที่ชัดเจน

มากกว่า 100 ประเทศต้องการให้สนธิสัญญาจำกัดการผลิต ตลอดจนการกำจัดและการรีไซเคิลพลาสติกต่าง ๆ เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการจัดการกับสารเคมีที่น่ากังวล แต่สำหรับประเทศผู้ผลิตพลาสติก น้ำมันดิบและก๊าซบางประเทศระบุว่าเป็นข้อเสนอที่มากเกินไป และเป็นการข้ามเส้นข้อตกลง

เนื่องจากทุกประเทศจะต้องเห็นชอบกับทุกข้อเสนอใด ๆ ก็ตามที่จะต้องนำไปบรรจุไว้ในสนธิสัญญา ดังนั้นบางประเทศจึงพยายามเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เป็นการใช้คะแนนเสียงข้างมาก หากไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้ จนทำให้กระบวนการทุกอย่างหยุดชะงัก 

อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน คูเวต และประเทศอื่น ๆ คัดค้านการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญา โดยให้เหตุผลว่าการมีเอกฉันท์เป็นสิ่งสำคัญกับสนธิสัญญาที่ใช้ทั่วโลก และจะทำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผู้เจรจาของซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า สารเคมีและการผลิตพลาสติกไม่ควรอยู่ในขอบเขตของสนธิสัญญา เขาพูดในนามของกลุ่มอาหรับว่า หากโลกจัดการกับมลพิษทางพลาสติกได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการผลิตพลาสติก เช่นเดียวกับผู้เจรจาของคูเวตย้ำว่าเป้าหมาย คือ การยุติมลพิษทางพลาสติก ไม่ใช่ตัวพลาสติกเอง และการขยายขอบเขตเกินกว่าเจตนาเดิม ถือเป็นการบั่นทอนความไว้วางใจและความปรารถนาดี

ในวันอาทิตย์ที่ 1 ธ.ค. 2567 แม้จะเป็นวันสุดท้ายของการเจรจาร่างสนธิสัญญา แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องพูดคุยกันอีกหลายส่วน ผู้แทนและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมบางส่วนกล่าวว่าร่างสนธิสัญญามีความอ่อนแอเกินไป โดยผู้ร่วมประชุมในหลายประเทศจากแอฟริกากล่าวว่า พวกเขายินดีที่จะให้ปิดประชุมไปทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ข้อสรุป แทนที่จะได้สนธิสัญญาที่อ่อนแอ

ทุก ๆ ปีโลกผลิตพลาสติกใหม่มากกว่า 400 ล้านตัน และการผลิตพลาสติกอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 70% ภายในปี 2040 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ซึ่งทำให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมาก  แซม อาดู-คูมิ หัวหน้าคณะเจรจาของกานากล่าวว่า ทั้งในชุมชน แหล่งน้ำ ท่อระบายน้ำ และพื้นที่เกษตรกรรมของกานาเต็มไปด้วยพลาสติก ขณะที่บ่อขยะพลาสติกมักถูกไฟไหม้อยู่เสมอ 

“เราต้องการสนธิสัญญาที่จะแก้ไขปัญหาได้จริง ถ้าไม่ได้แบบนั้น เรายอมเสียเวลาและมาสู้กันใหม่อีกครั้ง” อาดู-คูมิกล่าว

ในการประชุมเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลุยส์ วายาส วัลดิวิเอโซ ประธานคณะกรรมการจากเอกวาดอร์ กล่าวว่า แม้ว่าการประชุมที่ปูซานจะมีความคืบหน้าไปมาก แต่งานของพวกเขายังไม่เสร็จสมบูรณ์ และต้องการให้สนธิสัญญาฉบับนี้ใช้ได้จริง

สำหรับประเด็นที่ประเทศต่าง ๆ มีความคิดเห็นแตกต่างกันมากที่สุด คือ ข้อเสนอเกี่ยวกับพลาสติกและสารเคมีที่เป็นปัญหา การผลิตพลาสติก และการจัดหาเงินทุนสำหรับสนธิสัญญา รวมถึงหลักการของสนธิสัญญา โดยวัลดิวิเอโซ กล่าวว่าการประชุมนี้ควรจะหยุดไปก่อน และกลับมาดำเนินการอีกครั้งในภายหลัง 

หลายประเทศต่างสะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขาอยากเห็นในสนธิสัญญาฉบับนี้ เริ่มจาก จูเลียต กาเบรา ผู้แทนประเทศรวันดา กล่าวว่า เธอพูดในนามของ 85 ประเทศ โดยยืนกรานว่าสนธิสัญญาจะต้องมีความทำได้จริงตลอดทั้งฉบับ เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ และจะต้องมาออกมาแล้วล้มเหลว เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต เธอขอให้ทุกคนที่สนับสนุนคำกล่าวนี้ “ยืนหยัดเพื่อความทะเยอทะยาน” ซึ่งได้รับเสียงปรบมือจากผู้แทนประเทศต่าง ๆ และผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก

ปานามาเสนอแผนพยายามรวมการผลิตพลาสติกไว้ในสนธิสัญญา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติอย่างมาก หากแผนดังกล่าวได้รับการนำไปใช้จริง จะกำหนดเส้นทางสู่เป้าหมายการลดการผลิตพลาสติกทั่วโลก ฮวน คาร์ลอส มอนเตร์เรย์ โกเมซ หัวหน้าคณะผู้แทนปานามา ตำหนิการเลื่อนการเจรจาออกไป เพราะทุกวันมีค่าต่อมนุษยชาติ แต่พวกเขาจะกลับมาอย่างแข็งแกร่ง มีเสียงที่ดังกว่าเดิม และมุ่งมั่นมากขึ้น

ในเดือนมีนาคม 2022 ตัวแทน 175 ประเทศตกลงที่จะจัดทำสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ฉบับแรกของโลกเกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติก ซึ่งรวมถึงในมหาสมุทรด้วย และจะต้องเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2024 โดยมติระบุว่าประเทศต่าง ๆ จะพัฒนากฎหมายที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติก ซึ่งครอบคลุมถึงวงจรชีวิตของพลาสติกทั้งหมด

การเจรจาส่วนใหญ่ในปูซานเกิดขึ้นแบบลับ ๆ ทำให้กลุ่มสิ่งแวดล้อม ผู้นำชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะจากพลาสติก และนักวิทยาศาสตร์ที่เดินทางไปปูซานเพื่อช่วยร่างสนธิสัญญากล่าวว่า สนธิสัญญาควรมีความโปร่งใส และพวกเขารู้สึกถูกปิดปาก

“นี่เป็นสาเหตุที่กระบวนการเจรจาส่วนใหญ่ล้มเหลว การประชุมที่ปูซานพิสูจน์ให้เห็นว่ากระบวนการนี้ล้มเหลวและดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น” บิยอร์น บีเลอร์ ผู้ประสานงานระหว่างประเทศของเครือข่ายการกำจัดมลภาวะจากพลาสติกระหว่างประเทศกล่าว

โช แทยูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้กล่าวว่า ถึงแม้ว่าสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามที่หลายคนคาดหวัง แต่ความพยายามของพวกเขาก็ทำให้โลกเข้าใกล้แนวทางแก้ปัญหาที่เป็นหนึ่งเดียวในการยุติมลภาวะจากพลาสติกทั่วโลกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรมั่นใจได้เลยว่า สนธิสัญญาพลาสติกโลกจะเกิดขึ้นได้ในการประชุมครั้งต่อไป แต่ที่แน่ ๆ ในตอนนี้ยังคงมีพลาสติกผลิตออกมาไม่หยุด และยังคงสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง


ที่มา: AljazeeraAP NewsCNN