เปลี่ยน ‘ผ้าอ้อมเด็ก’ ใช้แล้ว เป็น ‘พลังงานไฟฟ้า’ วิธีใหม่จัดการขยะผ้าอ้อม
ขยะจากผ้าอ้อมมักจะลงเอยในหลุมฝังกลบ หรือเตาเผาขยะ หลายประเทศจึงพยายามหาทางนำไปรีไซเคิล แต่สหรัฐมีไอเดียที่ล้ำกว่านั้น นำผ้าอ้อมที่ใช้แล้วไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า
KEY
POINTS
- ผ้าอ้อมสำเร็จรูปไม่สามารถย่อยสลายได้เอง เนื่องจากมีโพลีเมอร์ที่ดูดซับได้ดีเป็นพิเศษและชั้นพลาสติกที่ประกอบด้วยโพรพิลีนและโพลีเอทิลีน
- ผ้าอ้อมมักจะลงเอยในหลุมฝังกลบ หรือเตาเผาขยะ ซึ่งเป็นวิธีกำจัดขยะที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์ได้
- สหรัฐนำผ้าอ้อมที่ใช้แล้วไปผลิตเป็นไฟฟ้า ผ่านการเผาให้ความร้อน แต่ก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว
ถึง “ผ้าอ้อมสำเร็จรูป” จะช่วยให้พ่อแม่สะดวกสบายมากขึ้นในการเลี้ยงลูกน้อย แต่ผ้าอ้อมเด็กยังก่อให้เกิดปัญหาการจัดการขยะ กลายเป็นปัญหาขยะที่แก้ไม่ได้ทั่วโลก ขยะจากผ้าอ้อมมักจะลงเอยในหลุมฝังกลบ หรือเตาเผาขยะ หลายประเทศจึงพยายามหาทางนำไปรีไซเคิล แต่สหรัฐมีไอเดียที่ล้ำกว่านั้น นำผ้าอ้อมที่ใช้แล้วไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า
กลุ่มนักวิจัยนานาชาติทำการวิจัยเกี่ยวกับน้ำ สุขาภิบาล สุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม และโรคติดเชื้อ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาผ้าอ้อมสำเร็จรูปในไนจีเรีย กานา และเคนยา พบว่าใน 3 ประเทศนี้ มีการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปประมาณ 960 ล้านชิ้นทุกปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง และมีผ้าอ้อมสำเร็จรูป 514 ล้านชิ้นไม่ได้รับการกำจัดอย่างปลอดภัย ด้วยการทิ้ง เผา หรือฝังขยะมูลฝอย
ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสามารถอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมได้หลายปี เพราะไม่สามารถย่อยสลายได้เอง เนื่องจากมีโพลีเมอร์ที่ดูดซับได้ดีเป็นพิเศษและชั้นพลาสติกที่ประกอบด้วยโพรพิลีนและโพลีเอทิลีน
ในชุมชนที่ยากจนหลายแห่ง รัฐบาลไม่ได้ให้บริการกำจัดขยะอย่างเหมาะสม เมื่อผู้คนทิ้งผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ใช้แล้วลงในถังขยะ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสัตว์และมนุษย์
หากนำผ้าอ้อมสำเร็จรูปไปทิ้งข้างนอก ผู้คนอาจสัมผัสกับโรคจากอุจจาระ เด็กเล็กที่สัมผัสกับผ้าอ้อมอาจติดเชื้อโรคท้องร่วงและพยาธิตัวกลม ซึ่งอาจทำให้เด็กไม่เจริญเติบโตตามเกณฑ์ได้ ขณะที่การฝังกลบก็ไม่ใช่วิธีที่ดี เนื่องจากสุนัขและสัตว์อื่น ๆ สามารถขุดผ้าอ้อมขึ้นมาได้อยู่ดี
การทิ้งผ้าอ้อมลงในชักโครกอาจจะเป็นวิธีที่ง่าย แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ท่ออุดตัน หากทิ้งลงแหล่งน้ำ ก็จะเกิดการปนเปื้อน และทำลายคุณภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับคนรุ่นต่อไป เนื่องจากผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะไปอุดตันท่อระบายน้ำและท่อน้ำเสีย ทำให้น้ำเสียไหลออกสู่ที่โล่ง
ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ (55.6% ในเคนยาและ 61.2% ในไนจีเรีย) ไม่มีวิธีการกำจัดผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ปลอดภัย ต่างจากชาวกานาส่วนใหญ่ที่ใช้ผ้าอ้อมมีบริการเก็บขยะหรือบ่อขยะสาธารณะสำหรับกำจัดผ้าอ้อมที่ใช้แล้ว
รีไซเคิลผ้าอ้อมสำเร็จรูป
วิธีแก้ปัญหาขยะผ้าอ้อมก็คือ “การรีไซเคิล” ในอังกฤษใช้วิธีการเพิ่มราคาผ้าอ้อมใช้แล้ว เพื่อกระตุ้นให้คนเก็บขยะจะหารายได้จากการรีไซเคิลได้ ส่วนในแอฟริกาใต้ มีโครงการนำร่องกระตุ้นให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยและปานกลางเต็มใจที่จะแยกผ้าอ้อมสำเร็จรูปออกจากขยะอื่น ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ
ส่วนในสหรัฐใช้วิธีการฝังกลบผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพราะในขณะนี้ยังไม่มีผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ย่อยสลายได้ 100% ในตลาด แต่เนื่องจากผ้าอ้อมสำเร็จรูปเป็นแหล่งขยะที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในครัวเรือน ตามข้อมูลจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ ทำให้หลุมฝังกลบมีพื้นที่เหลืออยู่ไม่มาก โดยเฉพาะในนิวอิงแลนด์ซึ่งมีประชากรหนาแน่นมากและปัญหาขยะก็ร้ายแรงมาก จึงจำเป็นต้องหาวิธีการกำจัดผ้าอ้อมเด็กวิธีใหม่ ซึ่งนั่นก็คือ การนำผ้าอ้อมที่ใช้แล้วไปผลิตเป็นไฟฟ้า
Reworld บริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านการจัดการพลังงานจากขยะและขยะอุตสาหกรรม รับผ้าอ้อมและผ้าเช็ดทำความสะอาดที่ใช้แล้วทั้งหมดจากศูนย์ดูแลเด็ก เพื่อนำไปแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับโครงข่ายไฟฟ้าของนิวอิงแลนด์
หลังจากผ้าอ้อมและผ้าเช็ดทำความสะอาดที่สกปรกถูกฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำเพื่อฆ่าแบคทีเรียแล้ว ผ้าอ้อมเหล่านี้ก็จะถูกส่งไปที่โรงกำจัดขยะ รวมกับขยะอื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า
“เราขนย้ายขยะเข้าไปในหม้อไอน้ำ จากนั้นหม้อไอน้ำจะทำลายหรือให้ความร้อนกับวัสดุที่สร้างพลังงานไอน้ำ พลังงานไอน้ำจะผ่านกังหันไปยังระบบไฟฟ้าในพื้นที่ และน้ำที่อยู่ในถังเหล่านี้จะผ่านกระบวนการวงจรปิดเพื่อส่งกลับเข้าไปในหม้อไอน้ำของเรา” แบรตต์ สตีเวนส์ ผู้อำนวยการอาวุโสของ Reworld อธิบาย
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2024 โปรแกรมนำร่องได้แยกผ้าอ้อมได้มากกว่า 15,000 กิโลกรัม ออกจากหลุมฝังกลบและผลิตพลังงานได้ 3 เมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเพียงพอสำหรับให้พลังงานแก่บ้าน 5 หลังในท้องถิ่นเป็นเวลาหนึ่งเดือน
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นไอเดียที่ดี แต่การกำจัดขยะด้วยความร้อนก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว และแพงกว่าการจัดการขยะและหลุมฝังกลบ
“เป็นเรื่องที่ดีที่เราสามารถผลิตพลังงานจากขยะได้ แต่การเผาขยะก็ยังคงผลิตคาร์บอนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ดี แต่ถ้าเรานำผ้าอ้อมไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ก็คงจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีเช่นกัน” ศ.มาร์กาเร็ต โซบโควิช-คลิน จากคณะวิศวกรรมพลาสติกของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ โลเวลล์ กล่าว
ทั้งนี้ Reworld กล่าวว่าปัจจุบันยังไม่มีกระบวนการในการดักจับคาร์บอน แต่ใช้วิธีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมากภายใต้กฎระเบียบของรัฐบาลกลาง
มีอีกทางหนึ่งสำหรับปัญหานี้ แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ นั่นคือการใช้ผ้าอ้อมแบบผ้า ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งในตอนนี้ชุมชนหลายแห่งในพื้นที่บอสตันมีบริการรับจ้างซักผ้าอ้อม
“วิธีแก้ปัญหาแบบเก่าบางอย่างไม่สะดวกนัก แต่การนำกลับมาใช้ใหม่ถือเป็นแนวทางหลักในการลดขยะให้เหลือศูนย์” ศ.โซบโควิช-คลิน กล่าว
ที่มา: Aol., CBS News, The Conversation