'Green SME Index' ก้าวแรกที่รักษ์โลกของธุรกิจคนตัวเล็ก
สวัสดีครับบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตอันยั่งยืนมักจะมีองค์กรขนาดใหญ่เป็นผู้เล่นสำคัญ ผ่านการประกาศยกเครื่องการดำเนินธุรกิจสู่ Net Zero แล้วบรรดา SME ธุรกิจเล็กๆ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญเช่นกันจะมี “ที่ยืน” ตรงไหนในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสีเขียว
เป็นที่ทราบกันดีว่า ลำพังเพียงจะประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงยากลำบากของเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากอยู่แล้ว สำหรับ SME ขนาดเล็ก หากจะต้องปรับตัวให้เป็นธุรกิจสีเขียวอย่างสมบูรณ์ในเร็ววันนั้นเป็นเรื่องที่แทบจะต้องอาศัย “โชคช่วยเท่านั้น” เลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ มาตรฐานด้านความยั่งยืนระดับนานาชาติต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ “วัด” หรือ “วางแนวทาง” ส่วนใหญ่เหมาะกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่า เพราะอาศัยทรัพยากรและเงินทุนจำนวนมาก ความรู้ทางเทคนิคในการจัดทำข้อมูลอย่างซับซ้อน รวมถึงการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก เรียกได้ว่า ผิดฝา ผิดตัว สำหรับ SME ขนาดเล็กอย่างแท้จริง
แต่หนทางนี้ยังมีตัวช่วยอยู่บ้าง นั่นคือ Green SME Index ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินศักยภาพตนเองสำหรับ SME ทุกขนาด เพื่อให้ทราบสถานะด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของตนว่ามีศักยภาพอยู่ที่ระดับใด และสามารถนำมาขยายผลเพื่อใช้วางแผนการเปลี่ยนผ่านให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น (Brown to Less Brown) ได้ ซึ่ง Index นี้ได้รับการพัฒนาโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงถือได้ว่าเป็น
เครื่องมือที่น่าเชื่อถือ และยังถูกฝา ถูกตัว กับ SME อย่างยิ่ง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีเงินจำนวนมากไปจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาภายนอก นอกจากนี้ ทาง สสว. ยังมุ่งหวังให้ภาคการเงินสามารถนำผลคะแนนการประเมินนี้ไปใช้ประกอบการพิจารณาเบื้องต้นในการให้สินเชื่อด้านความยั่งยืน นอกเหนือจากข้อมูลจำเป็นด้านอื่นๆ
หากดูในรายละเอียดการทำการประเมิน จะพบว่าแบบประเมิน Green SME Index เป็นชุดคำถามเดียวสำหรับทั้งวิสาหกิจขนาดย่อมจนถึงขนาดใหญ่ และมีผลการประเมินเป็นตัวชี้วัดห้าระดับ โดยประเมินจากสี่มิติซึ่งมีความสัมพันธ์กันสู่การเป็นธุรกิจสีเขียว ได้แก่
1) การจัดการความยั่งยืน: ความพร้อมในการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมภายใต้แผนที่ชัดเจน
2) ห่วงโซ่คุณค่า: การใช้แนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในทุกขั้นตอนการผลิตสินค้าหรือบริการ
3) ระบบริหารจัดการ: ระบบ นโยบาย และการจัดการภายในที่มีธรรมาภิบาลและสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว
4) นวัตกรรม: การพัฒนาสินค้า บริการ และกระบวนการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม
ภายใต้สี่มิตินี้ ยังแบ่งเป็นประเด็นการประเมินย่อยๆ อีก 20 ประเด็น อาทิ ในมิติเรื่องระบบบริหารจัดการ มีประเด็นการประเมินเรื่องบรรษัทภิบาล ซึ่งแบ่งเป็นสองประเด็นย่อย คือจริยธรรมและมาตรฐานการต่อต้านคอรัปชั่น และสิทธิมนุษยชนและสวัสดิการ โดยเชื่อมโยงกับทั้งมาตรฐาน ISO และแนวทางการรายงานตามกรอบการจัดทำรายงานขององค์กรความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI)
นอกเหนือจากการเขียนคำตอบ วิสาหกิจยังต้องส่งหลักฐานประกอบ ซึ่งบางรายการอาจเป็นสิ่งที่วิสาหกิจมีอยู่แล้ว อาทิ สำหรับการประเมินประเด็นย่อยเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานนั้น วิสาหกิจสามารถส่งตัวอย่างหลักฐานสนับสนุนคำตอบได้ตามตัวชี้วัดห้าระดับไล่เรียงจากระดับพื้นฐานคือ ป้ายรณรงค์การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในองค์กร ประกาศนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในองค์กรลงนามโดยผู้บริหารระดับสูง เอกสารโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงาน ใบเสร็จรับเงินค่าติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน จนถึงหลักฐานระดับสูงสุดคือใบรับรองมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 เป็นต้น
ดูรวมๆ แล้วไม่น่ายากเลยใช่ไหมครับ ผมเชื่อว่าก้าวเล็กๆ ที่มุ่งมั่นของวิสาหกิจทุกขนาด จะช่วยส่งเสริมทักษะในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG เพื่อก้าวข้ามความท้าทายในตลาดโลก ยกระดับเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ซึ่งจะผลักดันการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกันครับ