‘ปริชญ์’ ดันพวงหรีดสานบุญจากกระดาษรีไซเคิล จุดเริ่มต้นธุรกิจยั่งยืน
‘ปริชญ์’ ดันพวงหรีดสานบุญจากกระดาษรีไซเคิล จุดเริ่มต้นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน มองสิ่งสำคัญ คือ ธุรกิจที่เอาเรื่องซัสเทนฯ มาเป็นคอร์ สามารถสร้างงาน ลดโฟมไปได้มากกว่า 4 หมื่นชิ้น เงินที่เหลือสามารถทำซีเอสอาร์ ส่งต่อให้คนอื่นได้
“กรุงเทพธุรกิจ” จัดงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.2567 โดยมีภาครัฐและภาคเอกชนร่วมนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน มีหลายหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ
“ปริชญ์ รังสิมานนท์” ผู้ร่วมก่อตั้ง Carenation กล่าวในหัวข้อ Making sustainable business from SDG: The case of Carenation เล่าถึงการทำธุรกิจบนความยั่งยืน ยกเคสของ Carenation ธุรกิจพวงหรีดที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล มีจุดเริ่มต้นคิดว่าจะนำพวงหรีดมาทำประโยชน์ให้สังคมได้อย่างไร และอยากให้การทำบุญเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ดีกับสิ่งแวดล้อม ดีกับชุมชน ดีต่อองค์กร รวมถึงมูลนิธิต่างๆ สิ่งสำคัญ คือ ไม่อยากให้พวงหรีดจบแค่ที่วัด แต่สามารถช่วยเหลือคนอื่นต่อได้
ปริชญ์ เล่าว่า บริษัท Carenation นำแนวคิด Sustainability มาเป็นแกนหลัก (Core) ของธุรกิจ เพราะเรื่องของซัสเทนฯ อยู่ใกล้มากกว่าที่ทุกคนคิด แต่วันนี้ เอสเอ็มอี ยังมองว่าซัสเทนฯ เป็นเรื่องไกลตัว และไม่อยากจ่ายหรือมีการลงทุน
“แต่สิ่งที่อยากบอก คือ เรื่องซัสเทนเป็นเรื่องใกล้ตัว ยกตัวอย่าง พวงหรีดงานศพที่เป็นดอกไม้ ไม่ได้ทำอะไร นอกจากความสวยงาม และเป็นการตกแต่ง วันนี้ เราสามารถมอบความเสียใจให้ผู้วายชนม์ได้ในแบบอื่นๆ เช่น จักรยาน พัดลม ต้นไม้ ผ้าห่ม แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะกลายเป็นภาระของเจ้าภาพ หรือวัด ดังนั้น 4 ปีที่แล้ว เลยคิดว่าทำอย่างไรให้เป็น Sustainable Business มอง 3 ด้าน คือ Environment ,Social Responsibility และ Economic Value”
ปริชญ์ บอกว่า เรื่องของซัสเทนฯ มันจะง่ายขึ้น ถ้าบริษัทหรือองค์กรคิดเรื่องต้นทุน (Cost) ออกมาก่อน ไปดูว่าต้นทุนของบริษัทถ้าไม่นับคาร์บอนฯ ที่ถูกปล่อยออกมา ต้นทุนอยู่ตรงไหน ถ้าเห็นสิ่งที่สามารถตัดได้ ตัดเป็นต้นทุนออกมา เพราะนั่นคือ กำไร (Profit) ธุรกิจพวงหรีด คืออะไร ต้นทุนคือ ดอกไม้ เลยเปลี่ยนดอกไม้ให้เป็นกระดาษ ซึ่งลดต้นทุนได้ 80%
ดังนั้น เรื่องของซัสเทนฯ ต้องพิจารณาว่า Waste ของบริษัทอยู่ตรงไหน แล้วไปตัดตรงนั้น แต่ถ้าตัดอย่างเดียว มันก็ไม่ใช่ Sustain Business เพราะสุดท้ายใครจะมาให้มูลค่ากับกระดาษ ดังนั้นก็ต้องเพิ่มมูลค่า เริ่มจากคิดเรื่อง สิ่งแวดล้อม ลดภาระการจัดการ สะดวกต่อการนำไปรีไซเคิล และสุดท้ายเป็นสะพานบุญทำเพื่อคนอื่นได้
ปริชญ์ ให้ข้อมูลว่า พวงหรีดทุกพวงที่เราเห็นกันวันนี้ ต่อให้ด้านหลังทำมาจากฟาง แต่ก็ต้องมีโฟมเป็นส่วนประกอบ ดอกไม้ต้องอยู่ได้ 7 วัน ข้างหลังผูกด้วยถุงพลาสติกเกิด Waste มหาศาล เพราะในกทม มีการส่งพวงหรีดนับหมื่นพวงต่อวัน
“เราพูดกันเยอะ เรื่องลอยกระทงว่า ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวัน คือ เอาโฟมที่ใช้ 7 วันไปอยู่กับโลกอีกเป็นพันปี ดอกไม้ สวยงามก็จริง แต่ถ้าเรามองดีดี มีดอกไม้อะไรที่ปลูกในไทยบ้าง 90% ของดอกไม้สวยงาม คือ นำเข้าจากจีน มาเลเซีย คาร์บอนฟุตพรินต์มหาศาล ผมลดต้นทุนตรงนี้ 80% ด้วยสิ่งที่ถูกกว่า ดีกว่าต่อสิ่งแวดล้อม ทำจากกระดาษรีไซเคิล ใช้กระดาษที่ได้ Certificate มาจากป่าปลูก เมื่อประกอบเป็นพวงหรีดต้องส่งก็ใช้ Biodegradable plastic ห่อแทน
หากมองในฝั่งของสังคม หลังลดต้นทุนได้มหาศาล บริษัทเอาต้นทุนนี้ไปทำดีให้สังคม นำไปบริจาคให้มูลนิธิหรือองค์กรที่ผู้บริจาคเลือก และมีใบเสร็จรับเงินการบริจาคจากมูลนิธินั้นๆ นำไปลดหย่อนภาษีได้ มีความโปร่งใส รักษาสิ่งแวดล้อม และรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่"
สิ่งสำคัญ คือ ธุรกิจที่ใช้เรื่องซัสเทนฯ มาเป็น Core สามารถสร้างงานให้คนในชุมชนแออัดได้มีงานทำ สามารถลดโฟมไปได้มากกว่า 4 หมื่นชิ้น เงินที่เหลือก็ทำซีเอสอาร์ เงินที่ได้จาก ซัสเทนฯ สามารถเป็นสะพานบุญส่งต่อให้คนอื่นได้