พลิกเพื่อโลก : เปิดภารกิจ 'โอสถสภา' Re-design บรรจุภัณฑ์ใหม่ มุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน
เปิดภารกิจ "โอสถสภา" Re-design บรรจุภัณฑ์ใหม่ มุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน ตั้งเป้าภายในปี 2573 บรรจุภัณฑ์ 100% ต้องสามารถนำไปรีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้
รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปี มนุษย์สร้างขยะพลาสติกจำนวนกว่า 400 ล้านตัน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศเป็นวงกว้าง บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี จึงเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวให้เหลือน้อยที่สุด ผ่านการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2573 บรรจุภัณฑ์ของโอสถสภา 100% ต้องสามารถนำไปรีไซเคิล (Recyclable) ใช้ซ้ำ (Reuseable) หรือย่อยสลาย (Compostable) ได้ และยังคงคุณสมบัติและคุณภาพบรรจุภัณฑ์ได้ดีเช่นเดิม
ทั้งนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โอสถสภาได้เริ่มต้นภารกิจพลิกโฉมบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมใน 3 แนวทาง ได้แก่ การลดการใช้วัสดุเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ การลดการใช้พลาสติก และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อการรีไซเคิล
ลดวัสดุเพื่อวันที่ดีกว่า
หนึ่งในนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ของ โอสถสภา ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้คือ การลดการใช้วัสดุเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์และการลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ โดยในปี 2565 โอสถสภาได้พัฒนานวัตกรรมขวดแก้วรักษ์โลกที่มีน้ำหนักเบาลงถึง 15% หรือประมาณ 20 กรัม โดยเฉพาะขวด "เอ็ม-150" แต่ยังคงความแข็งแรงทนทาน และต่อมาในปี 2566 ได้พัฒนาต่อยอดลดน้ำหนักขวดแก้วในผลิตภัณฑ์โรลออนแบรนด์ "ทเวลฟ์ พลัส" และ "เอ็กซิท" ที่มีน้ำหนักเบาลงราว 6-8% (ขึ้นอยู่กับขนาดขวด) หรือประมาณ 5 กรัม ดังนั้นนวัตกรรมลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ในส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและของใช้ส่วนบุคคลของโอสถสภา สามารถลดการใช้วัสดุแก้วได้ถึง 32,822.5 ตันต่อปี จากการลดน้ำหนักขวดแก้วและยังช่วยลดปริมาณ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ จากการผลิตและการขนส่งได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นลดการใช้วัสดุอะลูมิเนียมในกระป๋องเครื่องดื่ม อาทิ เครื่องดื่มชาร์ค คาลพิส แลคโตะ และเอ็ม-150 สปาร์คกลิ้ง จนนำไปสู่ความสำเร็จในการลดการใช้วัสดุอะลูมิเนียมได้ถึง 341 ตันต่อปี ผ่านความร่วมมือกับคู่ค้า ตลอดจนส่งเสริมการลดการใช้กระดาษที่ใช้ทำกล่องของผลิตภัณฑ์หลายประเภท โดยโครงการนี้ครอบคลุมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (NPD) และผลิตภัณฑ์เดิม เช่น "เอ็ม-150" และ "ซี-วิท" จนสามารถลดการใช้วัสดุกระดาษได้มากถึง 715 ตันต่อปีอีกด้วย
พลิกโฉมใหม่ ไม่ใช่แค่สวย แต่ช่วยโลก
สำหรับการขับเคลื่อนการลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ โอสถสภา ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการออกแบบบรรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นขวดผลิตภัณฑ์เบบี้ออยล์ แชมพู ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ไปจนถึงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของลูกอม แบรนด์ "โบตัน" และ "โอเล่" จนสามารถลดการใช้วัสดุพลาสติกลงไปได้ถึง 91.1 ตันต่อปี
โดยหนึ่งในความสำเร็จล่าสุดที่น่าภาคภูมิใจของโอสถสภาคือ การปรับบรรจุภัณฑ์ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ "เบบี้มายด์" ในปี 2566 มาเป็นขวด PET แบบใส ที่นอกจากจะช่วยยกภาพลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ให้ดูสวยงามและพรีเมียมขึ้นแล้ว ยังนำไปสู่การยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์ขวด PVC และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้โอสถสภาสามารถยุติการใช้พลาสติก PVC ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ไปแล้วถึง 90% ในปี 2567 โดยบริษัทฯ จะพัฒนานวัตกรรมลดการใช้พลาสติกต่อไป เพื่อไปสู่เป้าหมายในการยุติการใช้พลาสติก PVC ในบรรจุภัณฑ์ของโอสถสภา 100% ภายในปี 2568
ผลักดันสู่การรีไซเคิลครบวงจร
ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนในทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อีกหนึ่งโจทย์สำคัญในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์คือ ต้องเป็นมิตรต่อการนำไปรีไซเคิลด้วย ถึงจะสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว โอสถสภาจึงได้ดำเนินการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โอสถสภาได้ริเริ่มโครงการจากขวดแก้วสู่ขวดแก้ว (Bottle to Bottle) รับขยะรีไซเคิลจากชุมชนและเครือข่ายพันธมิตร โดยเฉพาะขวดแก้ว เพื่อกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯ สามารถนำขวดแก้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้แล้วกว่า 118 ตัน ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้กว่า 33,057.92 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และยังผลักดันการใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตขวดแก้วรักษ์โลก ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังได้ผสานความร่วมมือกับพันธมิตรในโครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมการนำขยะบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่การรีไซเคิลได้อย่างครบวงจร อาทิ โครงการ Aluminum Loop CAN นำส่งคืนกระป๋องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วกลับคืนสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบครบวงจร ในรูปแบบที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อส่งเสริมแนวทางการเก็บกลับกระป๋องอะลูมิเนียมใช้แล้วมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มกระป๋องอลูมิเนียมใบใหม่อีกครั้ง โครงการพลาสติกคืนชีพ นำเศษซากพลาสติกมาหลอมเป็นเม็ดพลาสติก PCR เพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติกใหม่และนำไปใช้เป็นฟิล์มสำหรับห่อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของโอสถสภาในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่มและสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีวิสัยทัศน์ในการเป็น "พลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต" ให้แก่สังคมอย่างยั่งยืน
การรักษาสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เพียงแค่หน้าที่ แต่เป็นพันธกิจที่ต้องทำอย่างจริงจัง โอสถสภา จึงมุ่งมั่นลดการใช้พลาสติก ลดการใช้ทรัพยากร และมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพราะธุรกิจต้องดูแลโลกไปพร้อมกัน จึงจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนโดยแท้จริง